โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปรับ 5-6 บาท ได้แค่มาม่า 1 ห่อ "คสรท." เดือดจัด ทวงสัญญา 425 บาท

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 18.14 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 22.10 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ดาหน้าสับเละ การปรับขึ้นค่าจ้าง 5-6 บาท ผู้นำแรงงานสวดยับ ไม่พอยาไส้ ซื้อเพิ่มได้แค่มาม่าห่อเดียว ชี้ผลสำรวจระบุยุคข้าวของแพง ค่าแรงต้องวันละ 600 บาทขึ้นไป ทวงสัญญาพรรคร่วมรัฐบาล ปรับค่าจ้าง 425 บาท อย่าเป็นแค่ลมปากหาเสียง บี้รัฐบาลต้องชัดเจนใน 4 ปี จะได้ปรับค่าจ้างเพิ่มกี่บาท ส่วนเพื่อไทยเล็งซักฟอกไม่ทำตามนโยบายขึ้นค่าแรงไว้ตอนหาเสียง ต่างจากนักวิชาการทีดีอาร์ไอ มองปรับค่าจ้างขั้นต่ำคราวนี้เหนือความคาดหมาย ได้เยอะกว่าที่คิด แต่คาดกระทบเอสเอ็มอีขนาดกลาง แนะรัฐหาทางช่วยก่อนเจ๊ง

กรณีคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัดในอัตรา 5-6 บาท โดยเตรียมนำเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ว่า การปรับขึ้นเพียงแค่ 5-6 บาท ภาคแรงงานไม่มีใครพอใจ และไม่มีใครไปไชโยโห่ร้องกับค่าจ้างใหม่แค่นี้ เพราะมันร้องไม่ออก ทุกวันนี้ราคาสินค้า ค่าครองชีพ ขึ้นราคาไปหมดแล้ว มีเงินในกระเป๋า 500 บาท ซื้อของได้ไม่กี่อย่าง ปรับขึ้นมาแค่นี้ซื้อมาม่าเพิ่มได้แค่ห่อเดียว คสรท. เคยทำข้อมูลค่าครองชีพมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงวันนี้จะอยู่รอดยุคข้าวของแพงต้องมีรายได้เดือนละ 1.8 หมื่นบาทขึ้นไป องค์กรที่มีมาตรฐานก็วิเคราะห์ไว้ที่เดือนละ 2 หมื่นต้นๆขึ้นไป เฉลี่ยวันละ 600-700 บาท ถามว่าปรับขึ้นมาแค่ 5-6 บาท ทำให้ค่าจ้างใหม่ทั่วประเทศอยู่ที่ 313-336 บาท จะอยู่รอดได้ยังไง ทุกวันนี้ภาคแรงงานจึงเป็นหนี้สินกันมากขึ้น

นายสมพรกล่าวอีกว่า รัฐบาลเคยสัญญากับประชาชนตอนหาเสียง มีนโยบายสวยหรูว่าจะปรับค่าจ้าง 425 บาท เมื่อความเป็นจริงเป็นแบบนี้จะทำยังไง ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมปรับค่าจ้างครั้งนี้จึงไม่ใช่ 425 บาท ตามที่หาเสียงไว้ หรือว่าครั้งนี้เอาไปแค่นี้ก่อน ที่เหลือจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได ภายใน 4 ปี จะได้เท่าไหร่ ต้องอธิบายให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานเข้าใจ แม้การปรับ 425 บาท มันมากเกินจะทำได้ แต่ในเมื่อเสนอนโยบายออกมาแสดงว่ามีวิธีคิดไว้แล้วว่าทำได้ อย่าเอาแต่พูดสวยหรู ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ควรพูด จะเป็นการโกหกประชาชน เมื่อไม่ทำตามนโยบายแม้ทางกฎหมาย ไม่บังคับ แต่ทางสัญญาประชาคม พูดแล้วต้องทำ แต่หากไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะมีคนที่เขารอกระทืบอยู่แล้ว เราก็แค่คอยสมทบ

“ปรับขึ้นแค่นี้มันไม่มีใครพอใจหรอก จะไปเฮกับค่าจ้างแค่นี้ได้ยังไง ปรับแค่นี้ไม่มีผลอะไร ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ได้แค่มาม่าห่อเดียว ทุกวันนี้อย่าว่าแต่ 300 หรือ 400 บาท ต่อให้ 500 บาทก็อยู่ไม่ได้ ข้อมูลของรัฐมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ต้องไปดูข้อมูลที่องค์กรที่มีมาตรฐาน หรือ คสรท.เคยทำไว้ จะอยู่ได้ต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะพอกิน ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ถ้าพูดแล้วทำไม่ได้ทีหลังอย่าพูด ผมจะยังติดตามทวงถามแน่นอน” นายสมพรกล่าวอย่างมีอารมณ์

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาท ทั่วประเทศเช่นกันว่า พรรคพลังประชารัฐรู้สึกอย่างไรที่นโยบายหาเสียงเป็นสัญญาประชาคมกับประชาชน ไม่สามารถทำได้ ถือเป็นการตระบัดสัตย์ หลอกลวง หวังผลคะแนนหรือไม่ ตอนหาเสียงบอกว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทเท่ากันทั่วประเทศ พอมาเป็นรัฐบาลปรับจริงแค่ 5-6 บาท และยังมีเงื่อนไขอีก ถือว่าเข้าข่ายการเสนอให้ หรือสัญญาให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจให้ลงคะแนน ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของพรรคการเมือง หาเสียงเอาไว้อย่างแต่กลับไปทำอีกอย่าง เข้าข่ายโฆษณา ชวนเชื่อ หลอกลวงเพื่อให้ได้คะแนนหรือไม่ ถือเป็นการตระบัดสัตย์ ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรมของพรรค การเมือง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่แย่และไม่ถูกต้องให้กับการออกนโยบายหาเสียงของพรรค การเมืองหรือไม่

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า ประชาชนสงสัยมาก นอกจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ตรงปก ทำไม่ได้แล้ว นโยบายการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 10 ก็ยังทำไม่ได้ แล้วแก้เกี้ยวว่าเป็นเพียงการยกตัวอย่างตอนหาเสียงเท่านั้น นโยบายมารดาประชารัฐ ช่วยเหลืออะไรใครไปแล้วบ้าง ได้รับเงินเท่าไหร่ โครงการเริ่มวันไหน มีใครได้รับเงินจากโครงการนี้บ้างหรือไม่ อย่าให้สังคมตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นพรรคการเมืองอื่นหาเสียงแล้วไม่ทำ จะเข้าข่ายตระบัดสัตย์ ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรมของพรรค การเมืองหรือไม่ ทำไมพอเป็นพรรคพลังประชารัฐทำแล้วไม่โดน พรรคเพื่อไทยจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ และจะต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อเป็นการตรวจสอบการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาททั่วประเทศ แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลตลอด 5 ปี และไม่ได้ทำให้ทั้งผู้ใช้แรงงานและนายจ้างพอใจ โดยผู้ใช้แรงงานคาดหวังว่ารัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-420 บาท ตามที่พรรคพลังประชารัฐ หาเสียงไว้ ในขณะที่นายจ้างต้องรับภาระค่าแรงที่สูงขึ้น ทั้งที่บริษัทกำลังย่ำแย่ การค้าขายฝืดเคือง ธุรกิจทำท่าจะไปไม่รอด ถ้ารัฐบาลสามารถบริหารได้ดี เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพทุกปี ผู้ใช้แรงงานน่าจะมีรายได้ขั้นต่ำ 400 บาทแล้ว ถ้าเศรษฐกิจดีค้าขายคล่องมีกำไร การขึ้นค่าแรงทีละขั้นทุกปีไม่น่าเป็นปัญหา เพราะมีกำไรมาแบ่งปันลูกจ้างผู้ใช้แรงงานได้ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจแย่ การค้าขายซบเซา การขึ้นค่าแรงเป็นเหมือนการซ้ำเติมธุรกิจให้ทรุดลงอีก และอาจถึงกับต้องปิดกิจการได้ ขณะที่การลงทุนหดหาย จะยิ่งผลักให้นักลงทุนไม่มาลงทุนมากขึ้น แต่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยปากแข็งประกาศว่าทำได้แน่ แต่สุดท้ายทำไม่ได้อย่างที่พูดหาเสียง

วันเดียวกัน นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาไอแอลโอ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูอัตราสูงสุดที่ขึ้น 6 บาท มีเพียง 9 จังหวัด ตนมองว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนักกับกิจการ เพราะคำนวณแล้วจ่ายต่อเดือนไม่มาก แต่กรณีเพิ่มในอัตรา 5 บาทนั้น ถือว่าเหนือความคาดหมาย เพราะเคยคิดว่าจะมีการปรับเพิ่มเพียง 2-3 บาท เมื่อเพิ่มมา 5 บาท ถือว่าเป็นโบนัสให้คนทำงาน ส่วนผลกระทบกับนายจ้างอาจจะมีผลบ้างโดยเฉพาะกับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางที่กำลังปริ่มน้ำ มีการใช้แรงงาน 50-60 คนขึ้นไป จะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้มีกระแสการเงินที่ดีขึ้น เชื่อว่าประมาณ 1 ปี น่าจะปรับตัวกันได้ ส่วนค่าครองชีพขยับขึ้นไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีมติขึ้นค่าจ้างออกมาอาจจะทำให้พ่อค้าปรับเพิ่มราคาสินค้าอีก รัฐบาลจึงต้องควบคุมดูแล

นายยงยุทธกล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่า ในช่วง 3 เดือนแรกอาจจะมีคนตกงานเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะตนได้ติดตามการออกจากงานในช่วง 18 เดือน ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่มีแนวโน้มขยับขึ้น ดังนั้นอีก 3-4 เดือนหลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับว่าทางเศรษฐกิจจะแสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินจากการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาหรือไม่ ซึ่งจะมีผลในเชิงจิตวิทยา ถ้าการระบายสินค้าในสต๊อกไม่ดี ถ้ายังคงค้างจะมีผลทำให้ไม่สามารถขยายขีดความสามารถการผลิตได้ ทำให้คนที่อาจจะชะลอรับแรงงานไม่รับแรงงานกลับ ในส่วนของกิจการที่ปริ่มๆน้ำ อาจจะตัดสินใจปิดไปเลย เพราะแบกรับไม่ไหว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0