โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปรัชญาในวงเหล้า : ทำไมเวลาเมา เราถึงกลายเป็นนักคิด

The MATTER

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2563 เวลา 11.23 น. • Social

ขอบคุณพระเจ้าเลิกงานสักที เหนื่อยล้าจากงานมาทั้งวัน ก็ต้องนัดชาวแก๊งออกมาเจอที่ร้านเหล้าเจ้าโปรดกันซะหน่อย เมื่อมาถึงก็พากันเต้นยับ พร้อมซัดเบียร์เข้าปากไม่ยั้ง แหกปากร้องทุกเพลงจนนักร้องแทบจะตกงาน เรียกได้ว่าเป็นคืนที่สนุกสุดเหวี่ยงกันไปเลย

แต่พอผ่านไป 3 ขวด 5 ขวด 10 ขวด จนกระทั่ง 1 ลัง ก็เอาละ เข้าสู่โหมดศาลาคนเศร้า ตะโกนขอเพลง เลือกได้ไหม ของสามสาวซาซ่า จากนั้นก็ไปจบที่บทสนทนาดีพๆ ดาร์กๆ อย่างการเมือง ปรัญชา ความรัก กลายเป็นว่าคืนนั้น ทุกคนรับบทเป็นโสเครติส เพลโต อริสโตเติล พี่อ้อย พี่ฉอดกันเต็มไปหมด

อะไรที่ทำให้บรรยากาศกินเหล้าเบียร์ตอนสุดท้ายแตกต่างไปจากตอนแรกโดยสิ้นเชิง จากที่สุดเหวี่ยงกันอยู่ดีๆ ทำไมกลับเต็มไปด้วยเรื่องจริงจังขึ้นมาได้ล่ะ

แอลกอฮอล์เปลี่ยนฉัน

อย่างแรกต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่บรรยากาศพาไปเท่านั้น แต่มันเกี่ยวกับสิ่งที่แอลกอฮอล์กระทำกับร่างกายเราด้วย อย่างที่รู้และเคยเล่าเรียนมา แอลกอฮอลทำให้สติสัมปะชัญญะลดลง รวมไปถึงประสาทสัมผัสต่างๆ จะเริ่มอ่อนแรง มือชา ภาพช้า ปากหนัก พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง รวมถึงการรับรู้ช้าลงด้วยเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเมื่อแอลกอฮอล์เข้าปาก และผ่านขึ้นไปยังสมอง ก็จะไปส่งผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความคิด สติปัญญา ความจำ และความรู้สึก ทำให้เวลาหลายคนเมา มักจะมีพฤติกรรมหรือบุคลิกที่แตกต่างไปจากเดิม และยังออกฤทธิ์ไปถึงสมองส่วนกลาง (midbrain) ต้นเหตุที่ทำให้เราเคลื่อนไหวช้าลง พูดช้าลง คิดช้าลง ไม่สามารถควบคุมท่าทีต่างๆ และสุดท้าย ส่งผลต่อสมองส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการทรงตัว ทำให้หลายๆ คนเดินเซ ชนโต๊ะ ลมๆ ลุกๆ กันจนเข่าแตก

Group of young men drinking at a nightclub
Group of young men drinking at a nightclub

เรเชล วิโนแกรด (Rachel Winograd) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัยที่ Missouri Institute of Mental Health กล่าวว่า บุคลิกภาพของเราจะเกี่ยวกับวิธีที่เรานำเสนอตัวตนให้ผู้อื่น และสิ่งที่เรารู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง และสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งบุคลิกภาพหรือการแสดงออกของเราอาจแตกต่างออกไป เมื่อเผชิญกับความมึนเมา รวมถึงสติ การเปิดกว้าง และความเห็นชอบก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

และนี่ก็คือหตุผลที่ทำให้แอลกอฮอล์ถูกเรียกอีกอย่างว่า ‘สารหล่อลื่นทางสังคม’ (social lubricant) ที่ทำให้คนเรารู้สึกสบายใจ แคร์สิ่งรอบข้างน้อยลง พูดคุยอย่างสนิทสนม และมีท่าทีเป็นกันเองท่ามกลางฝูงชนมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เพื่อนบางคน เวลาปกติแทบจะไม่พูดไม่จา แต่พอเหล้าเบียร์เข้าปากเท่านั้นแหละ แทบจะก้มกราบขอให้หยุดพูดเถอะ

ฤทธิ์น้ำเมา ความเศร้า และการเปิดใจ

เมื่อได้รับการละลายพฤติกรรมจากน้ำเมาตรงหน้า บรรยากาศก็เริ่มตึงเครียดน้อยลง เริ่มเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย (relaxation) ซึ่งทำให้ระยะห่างทางสังคมลดลง และส่งผลให้คนเราค่อยๆ เปิดใจกันมากขึ้น เดินไปชนแก้วกับโต๊ะข้างๆ บ้าง ลุกขึ้นเต้นบนโต๊ะอย่างไม่อายใครบ้าง ยื่นข้าวเกรียบให้โต๊ะใกล้ๆ บ้าง หรือพูดคุยอย่างสนิทสนมกับคนที่เพิ่งเจอกันหน้าห้องน้ำบ้าง ประกอบกับระบบการคิดการตัดสินใจที่ลดลงด้วยเช่นกัน จึงทำให้บางครั้ง การพูดพร่ำทำเพลงไปเรื่อยหลุดออกมาโดยไม่ตั้งใจ หรือกล้าที่จะน้ำตาไหลเวลาเพลงเศร้าดังขึ้น

นักดื่มหลายคนรู้เรื่องนี้ดี พอเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ เราจะกลายเป็นคนอารมณ์แปรปรวนทันที หรือที่เรียกว่า mood swing ตั้งแต่ร่าเริง หัวเราะ โมโห อาละวาด เศร้า ไปจนถึงร้องไห้ (ยกเว้นสายแข็งที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนเขาได้เลยจริงๆ) และถึงแม้บางครั้งเราจะตั้งใจมาดื่มเพื่อลืมอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็จบลงที่การคิดมันย้ำๆ อีกที เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์อนุญาตให้คนเราแสดงความรู้สึกเจ็บปวดหรือเศร้าโศก ที่ถูกซ่อนไว้ในส่วนลึกมายาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องพูดออกมาในที่สุด

Group of male friends having fun in the club
Group of male friends having fun in the club

แต่อะไรทำให้บทสนทนาดำดิ่งไปจนถึงเรื่องปรัชญาได้ ความจริงปรัชญาในวงเหล้าไม่ใช่เรื่องที่ลึกซึ้งอะไรมากนักหรอก ว่าด้วยปรัชญา มันก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปของเรานี่แหละ สิ่งที่เราเชื่อมโยงกับมันอยู่ทุกวัน อย่างความจริง การมีอยู่ ความรู้ เหตุและผล ภาษา จิตใจ หรือคุณค่าของสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางครั้งเราไม่กล้าพูดออกมาในขณะที่มีสติ เนื่องจากกลัวเกิดความขัดแย้ง กลัวการผิดใจ เข้าใจผิด กลัวถูกมองว่าอ่อนแอ หรือกลัวการถูกตัดสินจากผู้ฟัง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ยินเพื่อนฝั่งตรงข้ามที่กำลังเมาได้ที่ หลุดปากถามออกมา ตั้งแต่เรื่องการมีชีวิต “มึงว่าคนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรวะ” เรื่องหน้าที่การงาน “มึงว่าทำไมเราต้องรีบประสบความสำเร็จในวัย 25 กันด้วยวะ” เรื่องความรัก “มึงรู้ปะ คนที่ดีกับคนที่รักต่างกันนะเว้ย” ไปจนถึงเรื่องการเมือง “มึงว่ารัฐบาลชุดนี้….” แล้วเพื่อนข้างๆ ที่มีสติมากกว่าก็รีบเบรคไว้

ซึ่งประเด็นแต่ละอย่างที่ตั้งขึ้นมาถกกันในวง ก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสิ่งที่เราคลุกคลีเท่าไหร่ แต่เต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน ความสงสัย ความบอบช้ำลึกๆ ข้างในที่ไม่เคยปรากฏ ซึ่งเราพร้อมจะแลกเปลี่ยนอย่างสบายใจกับสังคมเล็กๆ ตรงหน้า เพราะอย่างที่บอกว่าระบบการตัดสินใจของคนเราในขณะนั้นลดลงไปด้วย ทำให้ฝ่ายที่เป็นผู้รับฟัง ไม่ได้ฟังอย่างตัดสินคนที่เล่าออกมามากนัก หรือเก็บไปอคติเท่าเวลาอื่น เพราะตอนนั้นเขาเองก็สติไม่สมประกอบเหมือนกัน

ขณะนั้น เราอาจมองบางอย่างได้กระจ่างขึ้น ไตร่ตรองกับมันมากขึ้น มองในมุมที่เคยสังเกตมาก่อนมากขึ้น และความคิดและการกระทำที่แล่นไปอย่างช้าๆ ด้วยฤทธิ์จากแอลกอฮอล์นั้น อาจเป็นความจริงที่เรารู้สึกอยู่ลึกๆ แต่ไม่เคยยอมรับมันก็ได้ เมื่อสร่างเมาลองพยายามทบทวนสิ่งที่พูดออกไปดูอีกครั้งก็ดีนะ

แม้วงเหล้าวันนั้นปิดท้ายด้วยบทสนทนาที่คร่ำเครียด ชวนให้กลับไปนอนซึมต่อที่บ้าน แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เราได้หยุดคิดอะไรบางอย่าง หรือปลดปล่อยสิ่งที่บอบช้ำข้างในออกมาบ้าง และดีไม่ดี ถ้าความคิดในช่วงที่เมาไม่ได้แย่เกินไป มันก็อาจกลายเป็นคำตอบให้กับอะไรหลายๆ อย่างที่เรากำลังตั้งคำถามอยู่ในขณะที่มีสติก็ได้นะ แต่สุดท้ายแล้ว ดื่มอย่างมีสตินั้นก็คงดีที่สุดแล้วล่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก

elitedaily.com

refinery29.com

nsm.or.th

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0