โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ประเทศไหนกินอะไร? หนังอาหารรสดีที่อยากชวนให้คุณชิม

The MATTER

อัพเดต 16 ต.ค. 2561 เวลา 16.26 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2561 เวลา 15.37 น. • Rave

วันนี้ (16 ตุลาคม) เป็นวันอาหารโลก ซึ่งตั้งขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ โดยเป้าหมายหลักที่ตั้งวันนี้ก็เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยหลัก และเพื่อให้ระลึกถึงปัญหาความอดอยากและความยากจน ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการกำหนดธีมที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันของช่วงนั้นๆ

นอกจากเป็นวันที่เราจะนึกถึงอาหารมากขึ้น ในหลายๆ ประเทศก็ยังทำการจัดงานฉลองเกี่ยวกับวันอาหารที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

เราเลยอยากชวนทุกคนมาระลึกถึงวันนี้ด้วยการเลือกภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ ที่มีฉากบอกเล่าเกี่ยวกับการทำอาหารของแต่ละประเทศและวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกัน ซึ่งเราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะสนใจภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย

Eat Drink Man Woman - อาหารจีน กับเรื่องจีนๆ ที่ต้องใช้เวลาถึงจะเข้าที่

เมื่อพูดถึงชนชาติที่มีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลาย เราคิดว่าชาวจีนเป็นหนึ่งในชาติที่มีความหลากหลายด้านการรับประทานมากที่สุดชาติหนึ่งเนื่องจากความใหญ่ของประเทศและจำนวนประชากรที่มากมาย

มีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องอาหารจีนมากมายหลายเรื่อง ที่เราพอจะนึกชื่ออกได้โดยทันทีก็คือ อนิเมชั่น The Flavor Of Youth แต่นั่นก็โฟกัสอาหารจีนเพียงประเภทเดียว หรือ คนเล็กกุ๊กเทวดา หนังตลกที่มีฉากทำอาหารจริงจัง ที่ได้ โจวซิงฉือ เขียนบท กำกับ และแสดงนำเอง อีกเรื่องที่น่าพูดถึงสักหน่อยก็คงจะเป็นเรื่อง The Joy Luck Club ที่ดัดแปลงมาจากนิยายของ เอมี่ ตัน (Amy Tan) ที่เล่าเรื่องของ หญิงสาวเชื้อสายจีนสี่คน กับชีวิตของเธอทั้งก่อนและหลังจะโยกย้ายมาอยู่ในแผ่นดินอเมริกา ซึ่งมีฉากบนโต๊ะอาหารที่โดดเด่นอยู่บ้าง แต่โดยหลักจะเป็นเรื่องผ่านคนรวมวงไพ่นกกระจอก Joy Luck Club กับความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมอเมริกา และวัฒนธรรมจีนมากกว่า

ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าเล่าเรื่องของการทำอาหาร และ วัฒนธรรมของคนจีนไปพร้อมๆ กันนั้น คือเรื่อง Eat Drink Man Woman จากไต้หวันที่มีผู้กำกับ อั้งลี่ (Ang Lee) เป็นคนกำกับและร่วมเขียนบท ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของ อดีตพ่อครัวใหญ่ และเป็นพ่อของลูกสาวสามใบเถาที่ลูกแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน ลูกสาวคนโต เป็นครูผู้คาดหวังให้รักแท้วิ่งเข้ามาในชีวิต ลูกสาวคนกลาง เป็นสาวรุ่นใหม่ทำงานเก่งดูเพอร์เฟกต์และมีพรสวรรค์ในการทำอาหารที่พ่อไม่เคยยอมรับ และลูกสาวคนเล็ก ที่ยังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และมีความหัวใหม่ต่างจากพี่อีกสองคน โดยทั้งสี่คนมีความในใจที่ไม่กล้ากล่าวออกมาเป็นคำพูด แต่การทำอาหารและการกินข้าวของบ้านนี้เป็นสถานที่เปิดเผยความลับในใจของกันและกัน และปมเหล่านั้นค่อยๆ ถูกเปิดเผยผ่านมื้ออาหารบนโต๊ะใหญ่ที่คนในบ้านนี้ต้องมากินร่วมกัน

หนังแสดงให้เราเห็นตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมอาหารนับตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง การหยิบจับของสดมาปรุงเตรียมไว้ ไปจนถึงขั้นตอนการทำอาหารแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเมนูผัด นึ่ง ต้ม ทอด หรือของเฉพาะทาง อย่างเป็ดปักกิ่ง ก็แสดงให้ดูกันคร่าวๆ นอกจากนั้น การจัดจาน การตกแต่ง ก็มีให้เห็นกันในเรื่อง และมีบทสนทนาเคล็ดลับการทำอาหารจีนให้อร่อยแทรกมาเป็นระยะๆ แล้วฉากต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มาเปล่าๆ ท่วงทำนองจากเครื่องครัวต่างๆ กับการกินอาหารของเรื่องถูกเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของสี่ตัวละครหลักในเรื่อง อย่างการที่อดีตพ่อครัวใหญ่ยังพยายามทำอาหารตามวัฒนธรรมจีนเดิม แต่ลูกสาวที่เติบโตมาในยุคสมัยใหม่ต่างรู้สึกว่ารสมือพ่อนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เคยรุ่งเรืองแล้ว หรือในฉากที่เกี่ยวข้องกับตัวลูกคนสาวคนโตที่ทำอาหารให้แฟนหนุ่มก็มีการแสดงออกเบาๆ ว่า แม้เธอจะทำงานเก่งเหนือผู้ชายในสังคมปัจจุบัน แต่คนจีนอีกส่วนหนึ่งก็ยังอินกับภาวะชายเป็นใหญ่เหมือนยุคก่อนหน้า

ในตอนจบของเรื่องนี้ เรื่องราวที่พลิกผันจากตอนแรก โดยลูกสาวคนโตกับลูกสาวคนเล็กแต่งงานออกจากบ้าน จากเดิมที่พวกเธอเคยพูดด้วยซ้ำว่าจะอยู่กับพ่อ ซึ่งตัวพ่อนั้นก็แต่งงานใหม่กับหญิงสาววัยเดียวกับลูกๆ ผิดไปจากที่ทุกคนคาดเอาไว้ว่าชายชราน่าจะเลือกมิตรสหายวัยใกล้กันเป็นคู่ใจคนใหม่ ส่วนฝั่งลูกสาวคนกลางก็กลับมาอยู่บ้าน หลังจากที่เคยอยากย้ายออกมาโดยตลอดแต่ครั้งนี้เธอสามารถทำอาหารให้พ่อของเธอกินได้แล้ว ฉากสุดท้ายของเรื่อง พ่อลูกอาจอยู่ไม่ครบคนเหมือนตอนต้นเรื่อง แต่รสชาติที่สัมผัสได้นั้นกลับอบอุ่นเหมือนครั้งที่ครอบครัวเคยอยู่ร่วมกัน เมนูสุดท้ายอาจอยากบอกเราว่า บางครั้งเราก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสภาพของสิ่งต่างๆ ไว้ในช่วงเวลาที่ผันผ่านไป แล้วบางครั้ง มันก็ไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้นด้วย

Still Walking - สะท้อนภาพอาหารญี่ปุ่นในครัวเรือนปัจจุบัน

พอพูดถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารจากญี่ปุ่น หลายท่านจะระลึกถึง Jiro Dream of Sushi ที่เล่าเรื่องของร้าน Sukiyabashi Jiro ร้านซูชิที่ได้ดาวมิชชิลินสามดาวมาครอบครอง และพ่อครัวเจ้าของร้านอย่าง โอโนะ จิโร่ (Ono Jiro) ก็มีหลักการใช้ชีวิตที่น่าสนใจจนทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ตัดสินใจถ่ายทำชีวิตของเชฟท่านนี้ แต่เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สารคดี เราเลยอยากหยิบเอาภาพยนตร์บันเทิงที่เล่าเรื่องของการทำอาหารเคียงคู่กับเรื่องของสังคมท้องถิ่นมากกว่า

แล้วเราก็พบว่า Still Walking ของผู้กำกับโคเรเอดะ ฮิโรคาซุ ที่เล่าถึงช่วงการรวมญาติครั้งใหญ่ของตระกูลโยโกยามะในช่วงเทศกาลโอบ้ง หรือช่วงไหว้บรรพบุรุษ มีการเล่าเรื่องการทำของกินชุดใหญ่รองรับคนจำนวนมาก แล้วในขั้นตอนการเตรียมอาหารนี่เองที่คนในครอบครัวได้มาช่วยกันเตรียมวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร อย่างการช่วยการช่วยหั่นหัวไชเท้า ช่วยกันแกะเมล็ดข้าวโพดออกจากฟัก คนที่มีแรงเยอะก็ไปช่วยบดมันฝรั่ง ฝั่งแม่บ้านที่คุ้นเคยกับการทำครัวอยู่แล้วก็รวมตัวกันทำอาหารที่ใช้เวลาทำนาน รวมถึงกับแกล้มให้ฝั่งผู้ชายกับเด็กๆ กินกัน ตามด้วยแตงโมที่แทบทุกบ้านในญี่ปุ่นต้องกินสักชิ้นในช่วงฤดูร้อน แม้ว่าอาหารที่ปรุงในเรื่องนี้จะเป็นอาหารง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก แต่นั่นก็เป็นภาพสะท้อนครัวเรือนญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นครอบครัวท่ามกลางความทันสมัย

ในหนังใช้มื้ออาหารกับกิจกรรมในช่วงหนึ่งวันสะท้อนมุมมองคนถึงสามรุ่น คนรุ่นแรกที่ผ่านช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมายังมีความยึดมั่นถือมั่นกับความภาคภูมิใจในการทำงานของตัวเองแม้จะผ่านจุดรุ่งเรืองที่สุดไปแล้วก็ยังมีคนนับถือ แต่บางคนก็อาจมองว่าเป็นอคติที่ ตัวละครกลุ่มเบบี้บูมเมอร์อาจต้องลำบากกว่านิดหน่อยเพราะถูกมองจากคนยุคก่อนหน้าว่างานส่วนใหญ่ดูไม่สมศักดิ์ศรีนัก ตัวละครที่เป็นเด็กนั้น ก็มีทั้งคนที่ทำตามรุ่นพ่อรุ่นปู่แบบไม่เคอะเขินใดๆ กับอีกส่วนที่พยายามหาตัวเองด้วยการพูดคุยกับคนสองรุ่นก่อนหน้าตัวเอง และฝั่งตัวละครผู้หญิง ก็สะท้อนภาพเบาๆ ว่าไม่ว่าจะเป็นหญิงญี่ปุ่นรุ่นไหนก็ยังพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปทั้งหมดไม่ได้ หญิงชราจำต้องเก็บงำเรื่องที่สามีเป็นคนไม่ละเอียดอ่อนแถมยังเคยแอบนอกใจ หญิงวัยสามสิบกลางๆ ก็พูดตรงๆ กับสามีไม่ได้ว่าเธอไม่โอเคกับพ่อตาแม่ยาย ยิ่งเด็กหญิงในเรื่องนี้ก็อยู่ในระดับที่แทบจะไม่มีบทบาทให้คนดูจดจำกันเลยทีเดียว

ถึงอย่างนั้นพอหมดวัน ทุกคนก็ได้เผยความในใจส่วนหนึ่งออกมา ก่อนที่เช้าวันถัดมาทุกคนจะกินมื้อเช้า เข้าใจกันมากขึ้น ก่อนจะเดินต่อไปในชีวิตข้างหน้า

Como Agua Para Chocolate / Like Water For Chocolate - ร่ายมนต์ บนอาหารเม็กซิโก ที่มีฉากหลังเป็นความเปลี่ยนแปลง

นอกจากในส่วนของเทศกาลแห่งความตายที่ดูหวือหวาแล้ววัฒนธรรมเม็กซิโกอาจไม่เป็นที่นิยมผู้เสพสื่อบันเทิงนอกประเทศมากนัก แต่ภาพยนตร์แนวโรแมนติกผสมกลิ่นอาย Magical Realism (เหนือจริงและมีบรรยากาศเหมือนใช้เวทมนตร์) ที่ดัดแปลงจากนิยายดังเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมความเชื่อบางประการในเม็กซิโกสมัยก่อน รวมถึงอาหารที่มีมากกว่าทาโก้, ตอร์ติญ่า เท่านั้น

เรื่องราวเกี่ยวข้องกับ ติต้า (Tita) หญิงสาวที่เกิดในปี 1895 ในประเทศเม็กซิโก เธอเป็นลูกสาวของครอบครัวผู้มีอันจะกิน เธอคลอดในครัวท่ามกลางวัตถุดิบอาหารนับไม่ถ้วน แต่โชคชะตาพลิกผันพ่อของเธอจากไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เธอกลายเป็นลูกสาวคนสุดท้ายของบ้านหลังจากลืมตาดูโลกไม่นานนัก ด้วยวัฒนธรรมของเม็กซิโกในยุคนั้นลูกสาวคนสุดท้องจะถูกห้ามไม่ให้แต่งงานเพื่อให้ดูแลแม่ของตนเองจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต และเธอได้ถูกฝากไว้กับแม่นมที่เป็นแม่ครัวของบ้าน ที่สอนวิธีการทำงานบ้านทุกสิ่งอยางตามเป้าประสงค์ของแม่แท้ๆ ของเธอ จนเวลาพ้นผ่าน ติต้า เติบใหญ่เป็นวัยรุ่นฮอร์โมนพลุ่งพล่าน ไม่แปลกนักที่จะมีหนุ่มวัยเดียวกันมาต้องตาต้องใจ อนิจจาโชคชะตาของ ติต้า ที่ถูกขีดไว้ทำให้ชายหนุ่มคนนั้นยอมแต่งงานกับพี่สาวคนโตของบ้านเพื่อได้อยู่ในชายคาเดียวกับคนที่ต้องเสน่หา

เมื่อติดอยู่ในโซ่ตรวนที่ชื่อว่าจารีตประเพณี กับสายตาที่สอดส่องของมารดา สิ่งที่เธอทำได้คือการพยายามทำอาหารเพื่อให้ทั้งคนในครอบครัวและแขกเหรื่อที่แวะเวียนมาที่บ้านได้รู้จักตัวตนของเธอมากขึ้น ซึ่งบางครั้งอาหารที่เธอทำนั้นก็สื่อความรู้สึกที่เธอไม่ได้ตั้งใจออกไป อย่างอาหารในงานวันแต่งงานของพี่สาวก็ทำให้คนอื่นๆ ที่กินมันต้องสำรอกออกมาจากไส้พุงจนสิ้น หรือยามที่เธอเปี่ยมใจไปด้วยไอรักเมื่อได้รับกุหลาบ เธอก็ได้ยินเสียงของแม่นมที่ล่วงลับบอกกล่าวให้ผสมเป็นซอสกุหลาบทานคู่กับนกกระทาย่าง และรสชาติที่แฝงในเมนูนั้นคือความใคร่ทางเพศที่กลิ่นของจานขจรไกลจนดึงให้คู่รักที่ควรจะคู่กันในเวลาอันไกลมาพบกันในชั่วพริบตา

นอกจาก ตีต้า จะมีสูตรอาหารระดับสวรรค์ส่งมาโปรดแล้ว การได้ทานอาหารอร่อยๆ ก็ยังสามารถเยียวยาเธอจากความเสียใจต่างๆ นานาอีกด้วย ทว่าชีวิตของตีต้านั้นไม่เรียบง่าย รักแท้ที่เธอพบนั้นไม่สมหวัง แม่ของเธอก็เหมือนจะตามหลอกหลอนแม้ในยามที่จากลาโลกนี้ไปแล้ว แล้วในห้วงเวลาบั้นปลายตีต้าก็ควรจะมีความสุขมากกว่าที่เคย แต่ทุกอย่างก็สิ้นสุดลง จนเหลือเพียงแค่ตำราอาหารที่เขียนขึ้นด้วยความรักส่งต่อมากับลูกหลานของเธอในภายหลัง

อย่างที่เราเกริ่นไปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากกินอาหารที่มีรีแอคชั่นเหนือจริงเหมือนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเบาๆ แต่ในขั้นตอนการทำนั้นไม่ได้เวอร์วังอลังการนัก หลายครั้งเป็นการทำให้ดูตั้งแต่ขั้นตอนพื้นฐาน อย่างเมนูไก่นกกระทาหนังก็ทำขั้นอตนถอนขนนกกันให้เห็นก่อน หรือ เมนูอาหารเม็กซินกันพื้นฐานอย่างตอร์ตีญ่าก็นวดแป้งให้ชมกันแบบจั๋งๆ จะน่าเสียดายนิดหน่อยก็คือด้วยความที่หนังเป็นของคนเม็กซิโกจัดทำเอง เลยไม่มีการอธิบายดีเทลของอาหารประจำชาติเยอะเท่าใดนัก

หนังยังสะท้อนสังคมกับวัฒนธรรมในช่วงก่อนจะเกิดเหตุปฏิวัติเม็กซิโก (Mexican Revolution) ผ่านตัวละครหลายๆ ตัว อย่างตัว ติต้า เองก็เหมือนคนในยุคก่อนการปฏิวัติที่ต้องการมีอิสระจากขั้วอำนาจเดิมแบบชัดเจน แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว ตัวของ ติต้า ก็กลายเป็นตัวแทนของคนที่ข้ามผ่านการปกครองเดิมแต่ก็กลัวที่จะก้าวสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน นอกจากนี้แล้วยังมีนักวิจารณ์วิเคราะห๋หนังอีกหลายคนที่ตีความสัญญะต่างๆ ภายในหนัง อย่างบางท่านก็กล่าวว่าอาหารในแต่ละมื้อที่ปรากฎในหนัง จะเกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงยุคสมัย 1890-1920 เป็นอาทิ

ถึงภายนอกหนังจะดูเป็นรักน้ำเน่า แต่เนื้อในหนังนั้นมีอะไรให้วิเคราะห์แซ่บๆ อยู่เพียบ ไม่ต่างกับอาหารเม็กซิโกที่ดูแล้วน่าจะชุ่มฉ่ำจากผัก แต่แท้จริงมีรสหลากหลายแฝงอยู่

The Luchbox - เหตุเกิดจากความผิดพลาดที่ไม่น่ามีในวงการอาหารประเทศอินเดีย

เราทราบกันดีว่า อินเดีย เป็นประเทศที่คนอาศัยในตัวเมืองอย่างหนาแน่นมากๆ แล้วก็เป็นดินแดนที่เครื่องเทศหลากชนิดได้ถูกรังสรรค์ขึ้น แต่เมื่อพูดถึงหนังอินเดีย เราก็พาลจะคิดเองเออเองในหัวว่ามันต้องมีแต่ฉากวิ่งข้ามเขากันเท่านั้นแน่ๆ ซึ่งก็ออกจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุว่าหนังอินเดียก็มีหลายประเภทเช่นกัน แล้วก็มีหลายเรื่องที่บอกเล่าวัฒนธรรมการกินผ่านจอภาพยนตร์ กระนั้นคำว่า 'หลายเรื่อง' ที่พูดถึงก็มีทั้ง ภาพยนตร์อินเดียภาษาทมิฬ, ภาษาเบงกาลี, ภาษาเตลูกู ฯลฯ …ซึ่งเราพยายามตามดูหลายเรื่องแล้วก็พบว่า หลายเรื่องน่าจะดูยากเกินไปหน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย

แต่หลายๆ คนน่าจะพอคุ้นเคยกับภาพยนตร์จากฝั่งบอลลีวู้ด (Bollywood) หรือ ภาพยนตร์อินเดียภาษาฮินดี และเราก็คิดว่าหนัง The Lunch Box นั้น ดูง่ายเข้าใจไม่ยาก แล้วก็เล่าวัฒนธรรมการทำอาหารกับความวุ่นวายในตัวเมืองมุมไบ เมืองใหญ่ของอินเดียได้อย่างดี เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากการที่ อิลา (Ila) หญิงสาวชาวอินเดียตั้งใจจะทำข้าวกล่องไปเซอร์ไพรส์สามี แต่ด้วยสีของผ้าห่อที่เหมือนกับร้านข้าวแห่งหนึ่งทำให้ ดับบาวาลา (Dabbawala) หรือระบบขนส่งปิ่นโตภายในเมืองทำการจัดส่งผิดพลาดไปถึงมือของ เฟอร์นานเดส (Fernandes) นักบัญชีที่กำลังจะเกษียนตนเอง ด้วยรสชาติอาหารที่ดีเกินกว่าที่กินเป็นประจำไปมาก ฝั่งอิลาเมื่อรู้ว่าปิ่นโตถูกส่งผิดที่ ก็เขียนจดหมายขอบคุณคนที่กินอาหารจนหมด แล้วนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสองคนได้ติดต่อกันด้วยการส่งจดหมายที่แทรกไว้ในปิ่นโต ด้วยสภาพจิตใจที่ต่างเหงาหงอย เพราะฝ่ายหญิงก็อยู่กับสามีที่ไม่ค่อยใส่ใจเธอ ส่วนฝ่ายชายนั้นก็จมจ่อมอยู่กับความเหงาที่เกิดจากการใช้ชีวิตตัวคนเดียวหลังภรรยาเสียชีวิต แล้วสุดท้ายความสัมพันธ์ของคนสองคนก็พัฒนาขึ้นมาเป็นความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อกว่าคนที่พบหน้ากันทุกวี่วันเสียอีก

นอกจากที่จะได้เห็นเสี้ยวเล็กๆ ของระบบ ดับบาวาลา ที่กล่าวกันว่ามีโอกาสผิดพลาด 1 ใน 16 ล้านเท่านั้น (แต่ในเรื่องสมมติให้ว่ามันพลาดนะ) ตัวภาพยนตร์แสดงให้เราเห็นการปรุงอาหารแบบอินเดียที่ใช้เครื่องแกงไม่น้อย มีความละเมียดละไมในการปรับรสด้วยเครื่องเทศประเภทต่างๆ การกินข้าวที่ยังเน้นการใช้มือเปิป แล้วก็เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการรับมืออาหารรสชาติที่เค็มหรือเผ็ดเกินไป ในขณะเดียวกันก็ยังมีการแสดงให้เห็นวิถีการกินของคนทำงานในเมืองมุมไบที่มีทั้งคนที่สั่งปิ่นโตแบบเฟอร์นานเดส คนที่ออกไปหาอะไรถูกๆ กินแบบพนักงานที่มีรายได้ไม่เยอะนัก น่าเสียดายที่ในเรื่องมีฉากดื่มจาย (Chai Tea) น้อยไปนิดนึง

มุมมองอีกอย่างที่สำคัญของเรื่องนี้คือการพูดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตที่เราอาจมองข้ามไปในบางครั้ง อาจกลายเป็นจุดพลิกผันของชีวิตอย่างไม่คาดฝันได้

Julie & Julia - จากฝรั่งเศสสู่อเมริกา จากอดีตสู่อนาคต ไม่ว่าตอนไหนการทำครัวก็ช่วยเยียวยาคนนับไม่ถ้วน

หลายคนมองว่าอาหารฝรั่งเศส เป็นอาหารชั้นสูงตามภัตตาคารต่างๆ และหนังหลายเรื่องก็หยิบเอาความต้องซีเรียสกับการทำอาหารชาติดังกล่าวมาแสดงให้เห็น ซึ่งบางเรื่องก็พยายามเล่าถึงเทคนิคการทำอาหารที่ละเมียดละไมจนบางทีเราอาจอินกับฉากดวลทำอาหารมากกว่าช่วงเวลาที่ตัวละครมีความสุขจากอาหารอีก และนั่นทำให้เราตัดสินใจหยิบเรื่อง Julie & Julia มาบอกกล่าวไว้ในลิสต์นี้

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าของผู้หญิงสองคน จากสองช่วงเวลา สิ่งที่เชื่อมโยงพวกเธอเอาไว้ นอกจากเป็นความเป็นคนอเมริกาและภรรยาของคนทำงานที่เพิ่งย้ายที่อยู่มา ก็คือการพยายามหาทางทำใจให้สงบในช่วงเวลาว่างจากการงาน สิ่งที่พวกเธอเดินเข้าไปทำก็คือการเข้าครัว ประเด็นที่ต่างกันก็คือ จูเลีย ไชลด์ (Julia Child) ไปลองเรียนทำอาหารจาก เลอ กอร์ดอง เบลอ (Le Cordon Bleu) ในฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วน จูลีย์ โพเวลล์ (Julie Powell) คือคนที่อ่านหนังสือของ จูเลีย แล้วพยายามทำอาหารตามรอยในช่วงหลังเกิดเหตุ 911

นอกจากมีฉากทำอาหารฝรั่งเศสที่ดูน่ากินและน่าสนุกทั้งเรื่อง ความสนุกของหนังเรื่องนี้ยังมาจากการเป็นมือสมัครเล่นของนางเอกทั้งสองยุค ที่ไม่ได้ทำอาหารแบบมือโปรตลอดทั้งเรื่อง พวกเธอเองก็ค่อยๆ เรียนรู้ขั้นตอนการทำอาหารฝรั่งเศสแบบก้าวแรก ก่อนกลายเป็นมือโปร ในหนังยังมีฉากชวนหัวเราะแต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร อย่างการผ่ากุ้งตัวใหญ่ที่ฝ่ายจูลี่ไม่มีปัญหาในการสับทีเดียวจบ แต่จูเลียทำใจหั่นไม่ลง (บายนะน้องกุ้ง) อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ แม้จะเข้าสู่ยุค 2000 แล้ว คนอเมริกันเองก็ยังทำอาหารในบ้านกินเองไม่บ่อยนัก

แต่ถ้ามองอีกแง่ ยังมีอีกหลายคน ที่อยากลองทำอาหารฝรั่งเศสในครัวของตัวเอง หนังสือของทั้ง จูลี่ และจูเลีย ก็คงจะกลายเป็นคู่มือที่ช่วยคนครัวในอนาคต ไม่ว่าพวกเขาจะอยากกินของอร่อย หรือแค่อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากชีวิตที่แสนตีบตึงให้ผ่อนคลายลงบ้างได้อีกหลายปีทีเดียวเชียว

Big Night - ความหัวแข็งของชาวอิตาลี กับการขายอาหารในแดนมะกัน

อาหารอิตาลี เป็นอาหารยุโรปอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กับทางฝรั่งเศส และหลายครั้งก็มีคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารที่เหมือนกันแต่ความจริง มีวิธีการที่แบ่งอาหารทั้งสองชนิดนี้โดยง่ายก็คือ อาหารอิตาลีนั้นจะปรุงง่ายกว่า ส่วนอาหารฝรั่งเศสนั้นต้องใช้เทคนิคมากกว่าการกินอาหารอิตาลี ถึงจะมีคอร์สใหญ่แบบฝรั่งเศสแต่ในภัตตาคารอิตาลีก็จะมีความชิลกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่คนอิตาลีรู้สึกขาดไม่ได้ก็คือ กาแฟ โดยเฉพาะ เอสเพรสโซ่

เราพบว่าภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของอาหารอิตาลีทั้งแบบเต็มคอร์ส หรือแบบกินง่ายๆ ถ่ายทำขั้นตอนการทำอาหารที่น่ากิน ทั้งยังสะท้อนนิสัยหัวแข็งบางอย่างของคนอิตาลีก็คือหนังเรื่อง Big Night ที่ออกฉายเมื่อปี 1996 แต่เป็นการเล่าเรื่องของสองพี่น้องที่อพยพมาจากอิตาลีแล้วเปิดร้านอาหารในอเมริกา และพวกเขาตั้งใจทำร้านอาหารอิตาลีสูตรดั้งเดิมที่พวกเขาหิ้วมาด้วยจากบ้านเกิด และไม่ยอมอ่อนข้อให้กับลูกค้าชาวอเมริกาที่คุ้นเคยกับพาสต้าหรรือริซอตโต้ที่มีการดัดแปลงไปจากเดิมแล้ว ปัญหาก็คือความหัวแข็งของพี่น้องคู่นี้ จึงทำให้กิจการของร้านค่อนข้างเงียบเหงา แม้ว่ารสชาติอาหารจะเป็นเลิศก็ตามที ด้วยภาวะที่ร้านติดขัดฝืดเคืองและพี่น้องชาวอิตาลีก็พยายามไปกู้เงินมาหมุนธุรกิจต่อ พวกเขาก็ได้รับเชื้อเชิญกึ่งท้าทายฝีมือให้จัดงานเลี้ยงต้อนรับ หลุยส์ พริม่า (Louis Prima) และเชิญนักข่าวกับคนสำคัญภายในเมืองมากินเลี้ยงในคืนสำคัญคืนนั้น และสองพี่น้องก็พยายามงัดฝีมือทุกอย่างเพื่อจัดงานเลี้ยงที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ แต่ผลลัพธ์จะงอกเงยออกมาตามหวังไหมนะ

ถึงหนังจะเล่าเรื่องภายในร้านอาหาร Paradise ของสองพี่น้องจากอิตาลีเป็นหลัก แต่ก็มีหลายฉากที่พาเราไปให้เห็นว่าสังคมของคนอิตาลีที่ยอมข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกานั้นมีความสมัครสมานสามัคคีกันระดับหนึ่ง ถึงจะเป็นคู่แข่งกันแต่ก็ยังพยายามหาช่องให้มีโอกาสได้เติบโต กับอีกส่วนที่แสดงให้เห็นว่าชาวอิตาลีที่อพยพมาอเมริกาส่วนหนึ่งตั้งใจทิ้งบ้านเกิดเพราะมองว่าการทำงานหนักที่นั่นไม่ได้ให้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่ากับการทำงานหนักในอเมริกาแต่ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง

ในส่วนของการทำอาหารนั้น ภาพยนตร์แสดงทั้งของแบบง่ายๆ ที่หาได้จากร้านอาหารอิตาลีทั่วไปอย่าง ริซ็อตโต้, พาสต้าสไตล์อิตาลีแท้ที่ไม่ยอมใส่มีทบอล, อาหารออเดิร์ฟ ไปจนถึงขั้นตอนทำฟูลคอร์สที่ในหนังเรื่องนี้เอาเมนูอย่าง Timpano พาสต้าระดับอลังการ ที่ต้องอบทั้งหม้อมาเป็นไฮไลท์ของเรื่อง และทุกอย่างดูน่ากินแบบจริงจัง แล้วไม่ใช่แค่ของกินจานหลักๆ เท่านั้นที่โดดเด่น สไตล์การกินในร้านอาหารอิตาลีก็เพลิดเพลินจนเราอยากลองไปร่วมโต๊ะสักครั้ง แล้วถ้าสังเกตไปในรายละเอียดปลีกย่อยของร้านอาหาร Paradise เราจะเห็นความครบครันของร้านอาหารที่มีคนอิตาลีดูแล ทั้งเหล้าหลากชนิด และ เอสเพรสโซแมชชีน ที่พ่อครัวของเรื่องออกมากินบ่อยครั้งสมเป็นคนอิตาลีอีกด้วย

Little Forest - คืนกลับสู่ท้องถิ่นและการกินอยู่อย่างสามัญ

Little Forest เป็นมังงะจากญี่ปุ่นที่เขียนในสไตล์ Comic Essay ซึ่งมีโอกาสได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คนแสดงถึงสองครั้ง สองเวอร์ชั่น สองประเทศ โดยมีความแตกต่างในการนำเสนอแบบเล็กๆ น้อยๆ ในภาพยนตร์ฉบับญี่ปุ่นที่จะมีความแฟนตาซีแทรกมาเป็นระยะๆ ให้สอดคล้องกับมังงะต้นฉบับ กับภาพยนตร์ฉบับเกาหลีที่ดูนิ่งสงบกว่ากับการหยอดไอรักให้หนังมีความอบอุ่นกรุ่นหัวใจมากขึ้น อีกส่วนที่ต่างกันเล็กๆ น้อย ก็คือประเภทของอาหารที่ถูกปรับแปลงให้สอดคล้องกับพื้นที่แต่ละประเทศมากขึ้น

แต่แกนหลักของภาพยนตร์ทั้งสองฉบับก็คือเรื่องของหญิงสาวที่กลับมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายที่บ้านเกิดอีกครั้ง ทำของกินจากผลผลิตในไร่และสวนของบ้านตัวเอง หรืออาจเป็นผลผลิตอื่นๆ ที่อยู่ในท้องที่ จากนั้นเธอก็จะเอาของเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นของกินหลากประเภท พลางระลึกถึงเรื่องราวในอดีตที่เธอเคยถูกสอนหรือจดจำมา และนางเอกก็จะเล่าเรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล ซึ่งอาจมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่สุดท้ายก็ยังมีเรื่องอาหารมาเกี่ยวข้องอยู่ดี

ของกินแทบทุกอย่างในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีความเรียบง่าย และแสดงขั้นตอนการปรุงอาหารแบบละเอียด (ฝั่งญี่ปุ่นจะมีการอธิบายด้วยคำพูดเยอะกว่า ส่วนฝั่งเกาหลีจะถ่ายภาพการทำอาหารแบบเคลียร์กว่า) เมื่อดูแล้วในฐานะคนเมืองที่อาศัยการซื้อวัตถุดิบตามศูนย์การค้าประเภทต่างๆ ก็พาลนึกได้ว่า บางทีเราอาจจะกินอยู่แบบไม่ได้พึ่งพาตัวเองอย่างในหนังเท่าไหร่นัก และการที่พยายามกินอยู่แบบเข้าใจท้องที่ เข้าใจวัตถุดิบ เข้าใจว่าการหยุดชีวิตผู้อื่นมาต่อชีวิตของเราก็เป็นอะไรที่ไม่ได้ล้สมัยขนาดนั้น

และไม่ว่าจะเป็นหนังฉบับไหน เราจะได้เห็นนางเอกในเรื่องแสดงความแกร่งในการทำกิจกรรมทางเกษตรกรรมอยู่ดีนะ

Waitress - อเมริกา กับวัฒนธรรมการกินพาย

หลายคนอาจมองว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มีลักษณะของเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม เพราะมีคนหลากหลายประเทศมาอาศัยรวมกัน รวมถึงอายุอานามของประเทศก็ยังไม่ได้เยอะมากมายนัก วัฒนธรรมหลายอย่างจึงไม่ได้เป็นของตัวเองมากนัก หรือพูดแบบค่อนขอดหน่อยก็คือ ดูไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเท่าไหร่ แม้ว่าอเมริกาจะสร้างหนังการทำอาหารหลายต่อหลายเรื่องออกมาก็ตามที

แต่เราเห็นว่าอาหารอย่างหนึ่งที่ชาวอเมริกันดูขยันทำและมีความแตกต่างไปตามแต่ละท้องที่ (หรือแต่ละร้าน) และหนังที่เล่าเรื่องนี้แบบจริงจังในการทำพาย คือหนังเรื่อง Waitress ที่ออกฉายเมื่อปี 2007 ตามที่ชื่อหนังบอกกล่าว นางเอกของเรื่องคือสาวเสิร์ฟในร้านอาหารของเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เธอแต่งงานกับสามีที่ดีแต่กดขี่เธอ ซึ่งเพื่อนเธอมีก็ไม่มากมายนัก สิ่งที่เธอทำได้เพื่อระบายความเครียดจากเรื่องต่างๆ รอบตัวก็คือการทำพาย ที่เธอรู้สูตรมากมายระดับที่สามารถนั่งคิดเป็นช็อตๆ ว่า ในอารมณ์ต่างๆ ของเธอนั้นควรจะต้องทำพายที่ใช้แป้งภายนอกแบบไหน ไส้ไหนควรจะใส่ไส้เค็มอย่างไร หรือเป็นไส้หวานสไตล์ไหน

ถึงแกนหลักของหนังจะเป็นแนวตลกปนดราม่า ที่วิพากษ์สังคมอเมริกาอยู่เบาๆ อย่างเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าเดินถอยออกมาจากภาวะดังกล่าวหากไม่มีคนช่วยเหลือ หรือเรื่องของสังคมเมืองที่มีความเห็นอกเห็นใจกันน้อยลง อีกส่วนที่หนังทำออกมาอย่างจริงจังก็คือฉากทำพายในมโนของนางเอกซึ่งแทบทุกอันนั้นมีขั้นตอนการทำที่ดูไม่ยากนัก แต่ก็น่ากินอย่างมาก

แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นส่วนต่างๆ ของวัฒนธรรมพายในท้องที่ของอเมริกาก็ตาม แต่เราก็ได้รู้ว่าการทำพายแบบอเมริกาไม่ได้จบลงด้วยการทำไส้แล้วโยนใส่เตาให้จบๆ ต้องมีอรรถรสและความรักให้กับของกินประเภทนี้ด้วย

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก

About The Chef

Open Rice

India Today

ประชาชาติธุรกิจ

Smitn Sonian Magazine

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0