โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ประเทศกูมี" จากหลากหลายมุมมอง "คนร้อง-คนฟัง-เพื่อนศิลปิน"

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 03.45 น.
รูปแบบภาพสุด1

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีใครไม่รู้จักเพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD ซึ่งโด่งดังจนกลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลง

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งให้ความสนใจและแสดงอาการ “ขู่” ในช่วงต้น ก่อนจะยอมถอยโดยให้เหตุผลว่ายังไม่พบการกระทำความผิดใดๆ ในเนื้อหาเพลง

ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยก็พยายามผลิตเพลง “แร็พ Thailand 4.0 คนไทยสู้ได้” ออกมาสู้กับ “ประเทศกูมี”

โดยได้รับผลลัพธ์เป็นยอด “ดิสไลก์” ที่พุ่งทะยานเกินหน้ายอด “ไลก์”

“ประเทศกูมี” เป็นเพลงแร็พที่มีเนื้อหาร้อนแรง สะท้อนบริบทสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันหลายแง่มุม ซึ่งมาพร้อมกับมิวสิกวิดีโอที่ใช้ฉากหลังอ้างอิงไปยังโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519

โดยกลุ่มศิลปินมองว่าเนื้อหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาอยากสะท้อนผ่านบทเพลงให้ผู้คนในสังคมได้รับฟัง

“อาร์ต” หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม RAD ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และจุดเริ่มต้นของเพลง “ประเทศกูมี” ในงานเสวนาหัวข้อ “ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า จริงๆ แล้วเราจะทำอะไรกับเพลงแร็พก็ได้ แต่โดยส่วนตัว ก่อนจะลงมือทำอะไร หรือจะใช้เพลงเพื่อเป้าประสงค์ใด ศิลปินจำเป็นต้องรู้จุดมุ่งหมายของตัวเองเป็นลำดับแรก

“ตอนที่เราทำเพลงนี้ขึ้นมา เราทำด้วยเหตุผลที่ว่าเราอยากให้มันมีเพลงแบบนี้ในสังคม โดยเฉพาะในเพลงฮิปฮอป เพราะว่าเราอยู่ในแวดวงฮิปฮอป แต่ว่าเราไม่ได้ยิน (เพลงเนื้อหาแบบนี้) มันไม่ค่อยมีคนทำออกมา เราก็เลยทำเอง” อาร์ตกล่าว

จากการไปสำรวจความเห็นของประชาชนคนฟัง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเนื้อหาในเพลง “ประเทศกูมี” เพราะพวกเขามองว่าสิ่งที่กลุ่ม RAD เขียนออกมานั้นเป็นเรื่องปกติของเพลงแร็พ ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่มักนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาบอกเล่า

และเนื้อหาของเพลง “ประเทศกูมี” ก็คือเรื่องจริงในสังคมไทย

“สะท้อนสังคมไทยดีครับ เป็นความจริงของประเทศไทย ฟังแล้วก็ตามนั้นเลย เพราะว่าเดี๋ยวนี้สังคมมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพลงก็คือศิลปะ มันก็ทำออกมาจากใจของศิลปินเอง ที่แบบว่าอยากจะสื่อออกมาให้ทุกคนรู้ อะไรแบบนี้” เวธน์ อารีพรพิมล อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยการดนตรีบ้านสมเด็จ กล่าว

“มันก็ค่อนข้างแรง แต่รู้สึกว่ามันก็สะท้อนสังคมที่เป็นอยู่จริงๆ ตอนแรกที่ฟังก็แบบเฮ้ยจะมีปัญหา จะมีดราม่าอะไรรึเปล่า” ฐิตา ธีรทรงธรรม พนักงานบริษัทกล่าว

“ศิลปินมีความกล้ามาก คือเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วในประเทศ ที่ผ่านมาทุกคนรู้อยู่แล้วว่าประเทศเราเป็นยังไงบ้าง แต่ว่าก็ไม่ค่อยมีคนกล้าที่จะออกมาพูด แต่ศิลปินกลุ่มนี้กล้าที่จะออกมาพูด แล้วก็ทำให้ประชาชนตื่นตัว ก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจมาก” ฐานกร กนกวงศ์พิสิฐ นักศึกษากล่าว

แม้ว่าการทำเพลงแร็พจะยึดโยงกับวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ แต่หากมองบริบทของสังคมไทยที่เป็นอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายคนอาจถามว่าการทำเพลงที่มีเนื้อหาแบบ “ประเทศกูมี” ออกสู่สาธารณชนนั้นเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่? และขีดจำกัดในการทำเพลงของศิลปินไทยควรอยู่ตรงจุดไหน?

ต่อประเด็นนี้ “กฤษดา สุโกศล แคลปป์” หรือ “น้อย วงพรู” แสดงความเห็นว่า “ศิลปะ” คือ “อิสระ” แต่พอศิลปินร้องเพลงไปแล้วใครจะคิดอย่างไร ทุกคนก็มีสิทธิที่จะออกความเห็น เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดสิ่งที่ศิลปินร้องนั้นมาจากจุดที่บริสุทธิ์ที่หวังดี ตนมองว่าศิลปินหรือนักร้องก็ควรร้อง ควรพูดออกไป

“นักร้อง นักแสดง เราเลือกฝ่ายไม่ได้จริงๆ เราต้องเดินเส้นกลางเสมอ ไม่งั้นเราก็โดนโจมตีกัน มันก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเรา ที่การเป็นศิลปินเราก็ต้องเข้าใจในจุดนี้ สำหรับบางคน ถ้าเกิดหลังเขาชนกำแพงจริงๆ หรือว่าเขารู้สึกว่าเขาอยากออกความคิดเห็นจริงๆ ผมว่าเขาก็มีสิทธิที่จะเสี่ยงนะ แม้เขาจะรู้ว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้นกับเขาก็ตาม” น้อย วงพรู กล่าว

ด้าน “นัท – Liberate P” หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม RAD เผยถึงกระบวนการทำเพลงของตนเองในงานเสวนาหัวข้อ “ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน” ว่า ก่อนหน้านี้เขาทำเพลงสะท้อนสังคมการเมืองไทยอยู่แล้ว ซึ่งเพลงแร็พนั้นก็คือเพลงที่พูดในสิ่งที่ศิลปินอยากเล่า ดังนั้น สิ่งที่เนื้อเพลงเพลงนี้พูดถึง ขอให้เข้าใจว่าไม่ใช่อคติ แต่เป็นสิ่งที่อยากสะท้อนออกมา

“คือก่อนหน้านี้ ตอนที่ผมทำเพลงการเมืองเหมือนกันเนี่ย ก็เคยมีคนมาชวนผมทำเพลงรณรงค์เพื่อให้เลือกตั้งหรือว่าโหวตโนประชามติอะไรอย่างนี้ ผมก็ตอบไปแบบนี้นะว่า เพลงแร็พมันไม่ใช่เพลงรณรงค์ คือไม่ว่าจะเป็นในแง่ของฝ่ายที่เราเห็นด้วยก็แล้วแต่ มันไม่ใช่เพลงที่แบบเราออกมาพูดว่าไปเถิดพวกเรา ไปเลือกตั้งกันอย่างนี้ ผมว่ามันโคตรตลกเลยถ้าทำออกมา” นัทกล่าว

ในอดีต หลายคนมักเข้าใจว่า “เพลงสะท้อนสังคมการเมือง” จะต้องยึดโยงอยู่กับ “เพลงเพื่อชีวิต” พอเพลงประเภทนี้เสื่อมความนิยมลง จึงมีมุมมองว่า “เพลงการเมือง” ก็หายไปจากสังคมไทยด้วย

รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผู้ศึกษาเรื่องเพลงการเมือง-เพลงปฏิวัติ อธิบายว่า ในแต่ละยุค “เพลงการเมือง” ก็มีความแตกต่างกันไป แม้ “เพลงเพื่อชีวิต” แบบเดิมจะไม่มีอีกแล้ว แต่คนรุ่นนี้ก็มี “เพลงเพื่อชีวิต” ของตนเอง

ขณะที่น้อย วงพรู มองว่ากระแสความนิยมในวงการบันเทิงที่ผันแปร มีส่วนสำคัญทำให้ต่อมการรับรู้ของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกระแสเพลงเค-ป๊อป, รายการเรียลลิตี้ทีวี หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของโลกโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้ล้วนดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคแทบทั้งสิ้น

“ผมรู้สึกว่าอย่างเพลง (ค่าย) เบเกอรี่ มิวสิค ยุคอัลเทอร์เนทีฟ ยุค 90 ยุคต้นปี 2000 มันเป็นช่วงที่ศิลปินกำลังมีไฟ อยากโชว์ความเป็นตัวของตัวเอง อยากออกความคิดเห็น เนื้อหาเพลงก็ไปทางลึกหน่อย แล้วผมเข้าใจว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมันเริ่มดับลง หายลงไปหน่อย คนเริ่มไปสนใจเค-ป๊อป, เรียลลิตี้ทีวี, โซเชียลมีเดีย

“ผมก็อยากให้ศิลปินกล้าโชว์ความรู้สึกมากขึ้น แต่ผมรู้ว่ามันยาก เพราะการโชว์ความรู้สึก (โดยเฉพาะที่) เกี่ยวกับบ้านเมืองเรามันยาก ไม่งั้นเราจะโดนกันใช่ไหมฮะ พอเราโดนปั๊บ ศิลปินก็เริ่มทำมาหากินไม่ได้ ผมเข้าใจจริงๆ” น้อย วงพรู กล่าว

อย่างไรก็ตาม “ประเทศกูมี” ได้สร้างปรากฏการณ์ให้ผู้คนหันหน้ามาพูดคุยกันจริงจังอีกครั้ง ถึงเรื่องจุดยืนการทำเพลงของเหล่าศิลปินร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดใจยอมรับบทเพลงดังกล่าวของกลุ่มคนฟังรุ่นใหม่

“สิ่งที่ได้ก็คือ คิดว่าเหมือนคนยุคใหม่เขากล้าแสดงออกมากขึ้นนะ แล้วก็อยากให้หลายๆ ฝ่ายได้เปิดใจรับฟัง” ฐิตากล่าว

“เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าความจริงมันเป็นยังไง แต่สิ่งที่ผมได้คือ ผมรู้สึกดีใจ รู้สึกภูมิใจว่าศิลปินกล้าที่จะพูดออกมา คนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น” ฐานกรแสดงความเห็น

“มันก็ถือว่าเป็นอะไรที่สร้างสรรค์อย่างหนึ่งนะ ความคิดผมคือเหมือนเขาไม่ได้ไปทำร้ายใคร แค่ออกมาพูดเฉยๆ” โดนัท รักสมจิต พนักงานบริษัทแสดงทัศนะ

สุดท้าย น้อย วงพรู ได้ฝากแง่คิดในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลง ไปถึง “ใครบางคน” หรือ “ใครหลายคน” ว่า

“บางทีแค่ขอโอกาสให้เราพูดความคิดเห็นของเราหน่อย ผมว่าไม่ควรที่จะไปโจมตีศิลปิน นักร้อง หรือว่านักแสดงบางคนที่ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองเรา

“เพราะจริงๆ แค่พูดถึงบ้านเมืองเรา เราก็พูดไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องสีอย่างเดียว แต่แค่พูดถึงอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็พูดไม่ได้แล้ว มันเสี่ยงไป ผมเชื่อว่าทุกคนที่อยากพูด เขาก็รักบ้านเรา รักประเทศไทย แล้วเราพูดไม่ได้เหรอ?”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0