โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

'ประสาร' ชี้ศก.ป่วยเรื้อรัง เตือนรับมือ 3 ปัญหาระเบิด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 14 ก.ค. 2561 เวลา 10.04 น.

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวระหว่างปาฐกถาวาระ 45 ปี 14 ตุลาคม ในหัวข้อ ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยระบุว่า ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกือบ 10 เท่า ความสำเร็จนี้ ในด้านหนึ่งทำให้พอใจได้ว่า ประเทศไทยเดินหน้ามาพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าพิจารณาโดยไม่เข้าข้างตนเองมากนัก คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจเผชิญกับความท้ายทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก

ชี้ 3 ปัจจัยระเบิดเวลาศก.ประเทศ

เขากล่าวว่า ความท้าทายดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ความท้าทายจากบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมส่วนที่สอง คือ ความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ กรณีส่วนที่สองนี้ จะเห็นว่า หลายปีที่ผ่านมา อาการของประเทศไทยเหมือนกับ "ผู้ป่วยเรื้อรัง"ที่รัฐบาลพยายามจ่ายยาหลายขนาน แต่อาการกลับไม่ตอบสนอง สาเหตุจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเห็นว่า ต้องเร่งแก้ไข เพราะเหมือน"ระเบิดระเวลา"พร้อมจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อมีอย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตัวเลขและผลการศึกษาหลายหน่วยงานชี้ว่า ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆของโลก โดยคนไทย 10% ประมาณ 7 ล้านคน มีชีวิตใต้เส้นความยากจน , คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง 22 เท่า , คนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่ ฉโนดกว่า 61% อยู่ในมือคนแค่เพียง 10% และ เด็กไทยกว่า 6 แสนคน ต้องหลุดจากระบบการศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาและเงินไม่พอส่งลูกเรียน

จีดีพีโตไร้คุณภาพเหตุเหลื่อมล้ำ

สาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางการพัฒนาที่เน้นปริมาณอย่างอยาบๆที่แน้นแค่จีดีพี โตปีละมากๆ โดยไม่ดูคุณภาพ อีกด้านหนึ่ง การค้าเสรีที่ไร้กติกา ที่แต่ละคนมีทุนและโอกาสไม่เท่ากัน ทำให้การพัฒนาออกมาในลักษณะเศรษฐกิจยิ่งโต ผู้มีทุนมากกว่ายิ่งได้เปรียบ คล้ายกับ ถนนการค้าที่ขาดกฎจราจร สุดท้ายพื้นผิวถนนถูกยึดครองโดยรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขขนาดใหญ่ที่คอยเบียดรถขนาดเล็กให้ต้องวิ่งตามไหล่ทาง

"ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ถือเป็นต้นตอของความขัดแย้งในโลกและไทย ช่วงที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการปะทะกัน เพื่อแย่งทรัพยากรในทุกระดับ"

สำหรับทิศทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น การพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนากระจุกตัวในแค่กรุงเทพ ในระดับชุมชน ก็ต้องเพิ่มความแข็งในทุกมิติต่างๆ ระดับบุคคลก็ต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แรงงานยากจน และ ฐานราก เพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้

ศักยภาพการเติบโตลดลง

เรื่องที่สองนั้น ในช่วงทศวรรษก่อนวิฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 9% ต่อปี แต่ช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตวนเวียนอยู่ในระดับ 4% สะท้อนศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงชัดเจน ขณะที่ คู่แข่งในภูมิภาคพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และ ถ้าไม่เร่งพัฒนา เป็นไปได้ว่า ไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับใครได้

"มองอนาคตยิ่งท้าทาย เพราะไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย สภาพัฒน์ชี้ว่า ภายในปี 2583 คนไทย 1 ใน 3 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี และ ธนาคารโลกมองว่า ค่ากลางของอายุคนไทยจะเพิ่มจาก 38 เป็น 49 ปี หมายความว่า ฐานกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะน้อยลง ขณะที่ ประเทศในภูมิภาคประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ในเชิงเศรษฐกิจจึงเปรียบเอาคนแก่ไปสู่แรงกับคนหนุ่มสาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ที่น่าห่วง คือ โอกาสที่คนไทยจะแก่ก่อนรวมและจนตอนแก่ จะมีมากขึ้น"

ภาครัฐไม่เอื้อ

เรื่องที่สาม คือ กลไกและบทบาทของภารรัฐไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรณีคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างจากอดีตมาก และ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่ง สถาบันด้านเศรษฐกิจหลายส่วนที่เคยออกแบบไว้ในอดีต อาจไม่สามารถตอบโจกท์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ ให้สอดคล้องกับจังหวะการเดินหน้าของประเทศ

บริบทโลกเปลี่ยนจุดสำคัญความท้าทาย

สำหรับความท้าทายในส่วนแรก คือ ความท้าทายจากบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทำให้รู้สึกว่า โลกที่เราอยู่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม รวมทั้ง รูปแบบการทำธุรกิจ ด้านหนึ่งได้ทำให้ธุรกิจและงานหลายประเภทหายไป

ทั้งนี้ บริษัท Mckinsey ประเมินว่า ช่วงปี ค.ศ.2016-2030 แรงงานประมาณ 15%หรือ 400 ล้านคนทั่วโลกจะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดธุรกิจและมีอาชีพใหม่ ที่เมื่อก่อนเราไม่เคยได้ยิน เช่น Data scientist , Talent acquisition specialist นอกจากนี้ รูปแบบในการทำงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยใน 10 ปีข้างหน้า คาดว่า คนอเมริกามากกว่าครึ่งจะเลือกทำงานเป็นFreelance แทนงานประจำตามออฟฟิศ

การเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองโลก นับตั้งแต่สงครามเย็นจบลง คาดกันว่า ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะทยอยย้ายมาที่เอเชีย โดยภายในปี ค.ค.2030 คาดขนาดเศรษฐกิจจีนและอินเดียรวมกันจะประมาณ 1 ใน 4 ของโลก และ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อทิศทางการค้าโลก สหรัฐอเมริกาที่เคยสนับสนุนการค้าเสรี กลับตั้งกำแพงภาษีกีดกันการนำเข้า จนบรรยากาศการค้าโลกอึมครึม และ สร้างความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลก

นอกจากนี้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สนับสนุนกระบวนการGlobalization ทำให้ตลาดการค้า การลงทุน และ ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนขึ้น การรับและส่งผลกระทบระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เหมือนเราอยู่ในที่แออัดย่อมติดเชื้อหวัดได้ง่ายและ อีกด้านก็ทำให้เศรษฐกิจและการค้าขยายตัวมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ภายใต้การเติบโต ผลประโยชน์ของการพัฒนากระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้เกิดBrexisและการชนะการเลือกตั้งของนักการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมในหลายประเทศ

"ผมคิดว่า ความท้าทายส่วนแรกที่ประเทศไทยต้องเผชิญในระยะต่อไป คือ บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าสปีดเดิมที่เราคุ้นชินมาก เป็นโลกที่ซับซ้อน ผันผวน และ ยากที่จะคาดเดาอนาคตได้ชัดเจน"

ชี้ระบอบประชาธิปไตยเริ่มสั่นคลอน

เขากล่าวด้วยว่า มองย้อนกลับไปอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงหลังตุลาคม 2516 จนถึง เหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย นำมาสู่การผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด

แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฉันทามติร่วมกันของคนในสังคมที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่นำพาประเทศไปสู่สังคมที่พึงปรารถนานั้น เริ่มไม่ชัดเจน โดยท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศกว่าสิบปี คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกกังวลใจและหดหู่กับสภาวะบ้านเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยก็อาจรู้สึกอึดอัดที่เหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง ระหว่างที่ข้างหนึ่งที่ยังเชื่อว่า ประชาธิปไตยยังเป็นคำตอบของประเทศและอีกข้างเริ่มเสื่อมศรัทธากับประชาธิปไตย เพราะเห็นว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบเข้ามากุมอำนาจรัฐ

"การที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอนเกิดจากปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการ คือ ผลของกระบวนการโลกาภิวัตน์ วิกฤตการเงินโลกและการแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมที่ชัดเจนขึ้น แต่แนะนำให้มองประชาธิปไตยอย่างมีข้อจำกัด เชื่อยังเป็นระบอบการเมืองที่มีพลัง แม้ว่า 45 ปีนับจาก 14 ตุลา ปัญหาการเมืองหลายเรื่องไม่น้อยลงแต่กลับเพิ่มขึ้น"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0