โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ประยุทธ์' อยู่ยาวทาบ 'จอมพล ป.-ถนอม' รื้อทีมเศรษฐกิจ ต่ออำนาจปีที่ 6

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 06 ก.ค. 2563 เวลา 02.25 น. • เผยแพร่ 05 ก.ค. 2563 เวลา 23.10 น.
03.3

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสียงลือเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดังกลบทุกกระแสการเมือง

กลบการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ก็กร่อยยิ่งกว่ากร่อย

บรรดาลูกหาบพรรคพลังประชารัฐต่างเปิดหน้าตะเพิด “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พ้นคณะ พร้อมกับลูกทีม 4 กุมารจนนายกฯลุงตู่ต้องสะกิดให้ “เบา ๆหน่อย”

ขณะที่แคนดิเดต “ทีมเศรษฐกิจ” ที่อยู่นอกการเมือง อันมีข่าวว่าจะมาเสียบเก้าอี้ในทีมเศรษฐกิจ ก็เริ่มฉายแวว-ออกสื่อ แสดงวิสัยทัศน์

บรรจบกับการครบ 1 ปี ครม.ประยุทธ์ 2/1 ยิ่งเร่งเกมการปรับ ครม.ให้ฝุ่นตลบขึ้นไปอีก บนความหวังของลิ่วล้อในพรรคพลังประชารัฐ ที่อยากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจเพื่อกระชากเรตติ้ง เสริมอายุรัฐบาลที่กำลังซวนเซจากพิษโควิด-19 ให้อยู่ต่อเกิน 5 ปี

เมื่อนับรวมสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในหัวโขนหัวหน้า คสช.“สถาปนารัฐบาลประยุทธ์ 1” 24 สิงหาคม 2557อยู่ยาว 9 มิถุนายน 2562 รวม 4 ปี 10 เดือน

ที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 5 ครั้ง แต่การปรับใหญ่ที่สุดแบบพลิกฝ่ามือ เกิดขึ้นในการปรับ ครม.ประยุทธ์ 3 ในเดือน ส.ค. 2558 เพราะครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจแบบ “ยกแผง” จากทีม “เศรษฐกิจหม่อมอุ๋ย” มาเป็น“ทีมเศรษฐกิจ 4 กุมาร” ครั้งสุดท้ายที่ปรับเก้าอี้ ครม.ก่อนเลือกตั้ง เกิดขึ้นเมื่อ 24 พ.ย. 2560 เพื่อเอา “นักการเมือง” เข้ามาผสมในคณะรัฐมนตรี

แต่ในพงศาวดารการเมือง ยังมีนายกฯที่มาจากการรัฐประหารอยู่ยาวกว่า พล.อ.ประยุทธ์ แค่ 2 รัฐบาล คือ

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขึ้นเป็นนายกฯสมัยที่ 2 หลังจากการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 แทน “ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกเชิญมาเป็นนายกฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ชนะ แต่ “ควง” อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 150 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ที่คณะรัฐประหารขอให้ลงจากตำแหน่ง แล้วตั้งจอมพล ป.เป็นนายกฯ กระทั่งได้เป็นนายกฯยาวนานที่สุด 9 ปี 5 เดือน หลังเหตุการณ์ “จี้ควงพ้นนายกฯ”

คนต่อมาคือ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ที่สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งนี้ มีการปรับ ครม.เพื่อต่อชีวิต 5 ครั้ง กระทั่งตัดสินใจคืนอำนาจประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 รวมเวลา5 ปี 2 เดือน 24 วัน

อย่างไรก็ตาม จอมพลถนอมก็ปฏิวัติยึดอำนาจตัวเองในปี 2514 พร้อมกับตั้ง ครม.ชุดใหม่ เมื่อ 19 ธันวาคม 2515 มีรัฐมนตรีที่เป็นทหาร 10 คน กระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลงเนื่องจากจอมพลถนอมได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง โดยอยู่ในตำแหน่ง 1 ปี 11 เดือน แต่รวมระยะเวลาอยู่ในอำนาจเผด็จการทั้งหมดราว 7 ปี 1 เดือน

ส่วนรัฐบาลทหารที่อยู่ในอำนาจน้อยกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ รัฐบาล“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” หลังจากกลับมาจากการรักษาตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับถึงไทยก็ได้ขอเก้าอี้นายกฯคืนจากลูกน้อง “จอมพลถนอม” แต่ ครม.ของจอมพลสฤษดิ์อยู่ได้ 4 ปี 10 เดือนก็ต้องสิ้นสุด เพราะ “จอมพลสฤษดิ์” ถึงแก่อสัญกรรม ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ มีการปรับครม. ย้ายสลับเก้าอี้ 3 ครั้งจากเหตุผลรัฐมนตรีถึงแก่กรรม และตั้งกระทรวงใหม่ คือกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปรับ ครม.ทั้งสิ้น 5 ครั้ง อยู่ในตำแหน่งทั้งหมด 1 ปี 3 เดือน

รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน หลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ภายใต้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

อย่างไรก็ตาม ครม.อานันท์อยู่ได้ 1 ปี 1 เดือน ก็พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ 7 เมษายน 2535 เนื่องจากมีการเลือกตั้ง

รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร หลัง “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” ผู้ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก็อยู่ในอำนาจได้เพียงแค่ 1 ปี 2 วัน เนื่องจาก พล.ร.อ.สงัดยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 พร้อมกับตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯแทน ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2520 มีการปรับ ครม.เพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2521 แต่รัฐบาลมีอายุแค่ 6 เดือน ก็มีการเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้กลับมาเป็นนายกฯอีก 1 ครั้ง อยู่ได้ 9 เดือนเศษก็ต้องลาออก

ขณะที่การรัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” ได้กระทำการรัฐประหารเงียบ ออกพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 2476 พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนตัวคณะรัฐมนตรี 1 ครั้ง เพราะ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยา ฤทธิอัคเนย์ และ พ.ท.พระยาประศาสน์พิทยายุทธ 4 ทหารเสือคณะราษฎร ได้ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2476 อ้างว่าได้รับราชการตรากตรำมาครบ 1 ปี แต่ความจริงคือมีปัญหาภายในรัฐบาล

ผ่านมา 81 วันก็ถูก พ.อ.พระยาพหลฯใช้กำลังยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนพ.ศ. 2476 จากนั้นมีการปรับ ครม. 2 ครั้ง, 1 ใน 2 ครั้งคือการดึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กลับมาเป็นรัฐมนตรี โดยถูกเรียกตัวกลับมาจากฝรั่งเศส หลังจากถูกเนรเทศ

แต่คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เพราะได้มีการเลือกตั้งทั่วไป 15 พฤศจิกายน 2476 โดยมีการ เลือกตั้งทางอ้อม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2476 นับอายุ ครม.ชุดนั้นมีอายุ 180 วัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0