โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประมง : เหยื่อค้ามนุษย์ชาวลาว เผยเส้นทาง "จองจำ" จากเรือประมงไทยสู่เกาะในอินโดนีเซีย

Khaosod

อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 15.58 น. • เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 15.58 น.
_109612958_pic8-79190a85af6d1a7112d54d5ae3cce73d11879071

ประมง : เหยื่อค้ามนุษย์ชาวลาว เผยเส้นทาง “จองจำ” จากเรือประมงไทยสู่เกาะในอินโดนีเซีย

“ผมคิดฮอดแม่ คิดฮอดบ้าน ร้องไห้ทุกวันเลย” ‘แหล่’ พูดอย่างเศร้าสร้อยผ่านสายโทรศัพท์ที่บีบีซีไทยโทรจากกรุงลอนดอนไปหาเขาที่อินโดนีเซีย

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอพีเอ็น) พบท้าวแหล่ สีอาไพ หนุ่มชาวลาว วัย 31 ปี ตอนเดินทางไปสำรวจหาลูกเรือประมง ที่ติดค้างอยู่บนเกาะตวลของอินโดนีเซียเมื่อสามปีก่อน และได้ช่วยเหลือติดต่อกับทางการลาวให้รับตัวกลับประเทศ

ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิแอลพีเอ็นและเจ้าหน้าที่ทางการลาวเดินทางไปยังเกาะตวลอีกครั้ง เพื่อดำเนินเรื่องและมีความเป็นไปได้ว่าแหล่จะได้กลับไปบ้านเกิดตัวเองอีกครั้งในเร็ววัน อย่างที่นายสาธิต หน่อทอง ชาวจังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในลูกเรือประมงไทยหลายคนที่แอลพีเอ็นไปพบครั้งล่าสุดนี้ กำลังจะเดินทางถึงไทยในค่ำวันนี้ (15 พ.ย.)

เกือบ 20 ปีก่อน เด็กชายจากแขวงสะหวันนะเขต เดินทางจากบ้านเกิดข้ามพรมแดนมาหางานทำในไทย โดยมีนายหน้าชาวลาวนำตัวมาส่งให้นายหน้าคนไทย แหล่บอกว่า ตอนนั้นเขาเดินทางข้ามประเทศโดยไม่มีเอกสารเดินทางใด ๆ

ท้าวแหล่เล่าว่าถูกส่งไปทำงานรับจ้างเก็บมะพร้าวที่ภูเก็ตราว 2 ปี โดยไม่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างเพราะต้องถูกหักเป็นค่าหัวที่ได้มาทำงาน

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แหล่ตัดสินใจโบกรถโดยสารขึ้นไปกรุงเทพฯ เพื่อหาทางกลับบ้านที่ลาว โดยที่ไม่มีเงินติดตัว

“มาถึงกรุงเทพฯ ผมก็นอนข้างทาง ที่ไหนก็จำไม่ได้ ตื่นมาตอนตีสอง ก็มีคนมาเรียกขึ้นรถแท๊กซี่ ถามว่าจะไปทำงานด้วยกันไหม ผมไม่มีเงินกลับบ้านก็เลยไป”

กราฟิก
กราฟิก

แหล่บอกบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่าตอนนั้นเขา”ยังเป็นเด็กน้อย”

“งานอะไรผมไม่รู้ เขาไม่บอก สุดท้ายเขาก็จับมาขังไว้ในบ้านประมาณสามเดือนกว่า แล้วก็ไปลงเรือ มีคนถูกขังไว้เยอะ คนไทยก็ด้วย” แหล่บอก แม้ที่บ้านหลังนั้นจะมีข้าวให้กิน มีโทรทัศน์ให้ดู แต่ประตูปิดล็อคกุญแจ ทำให้ออกไปไหนไม่ได้ นั่นทำให้เขาเปรียบตัวเองเหมือนถูก “ขัง” ไว้

“ตอนนั้นก็คิดว่าขังผมไว้ทำไม ผมถามเพื่อน เพื่อนก็ว่าเราโดนหลอกกัน”

ประสบการณ์ใน “ที่คุมขัง” ครั้งแรกของแหล่ยังไม่เลวร้ายเท่าสิ่งที่เขาต้องเผชิญต่อจากนั้น

หลังอยู่ที่บ้านหลังนั้นได้สามเดือน เขาก็ถูกสั่งให้ลงเรือไปหาปลาที่อินโดนีเซีย ตามเส้นทางค้าเครื่องเทศอันเลื่องชื่อในอดีต

แหล่บอกบีบีซีไทยว่าเรือประมงที่ไปทำงานด้วยเป็นเรือประมงไทย มีไต้ก๋งเรือเป็นคนไทย และเรือเดินทางออกจากประเทศไทย

บีบีซีไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดที่แหล่เล่ามาทั้งหมดได้ แต่นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำอินโดนีเซีย กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่าเรือประมงที่ไปจับปลาในอินโดนีเซียในระยะแรกนั้น เป็นเรือประมงไทยที่เข้าไปจดทะเบียนเป็นเรืออินโดนีเซีย

ขณะที่ลูกเรือประมงคนไทย คนลาวและจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มูลนิธิแอลพีเอ็น ได้สำรวจพบล่าสุดนั้น นายทรงพล บอกว่าเป็นกลุ่มที่เดินทางไปทำประมงในยุคที่ไทยยังไม่มีการจัดระเบียบการทำประมงเช่นปัจจุบัน โดยในอดีตการจ้างงานคนไทยและแรงงานชาวต่างด้าวเป็นไปอย่างผิดกฎหมาย มีการปลอมแปลงเอกสารหลักฐาน และกดขี่แรงงาน ซึ่งนั่นเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไทยถูกใบเหลือจากไอยูยู

“การต้องทำงานหนัก ถูกทรมาน กดขี่แรงงาน ทำให้ลูกเรือประมงเหล่านี้ต้องหนีจากเรือ ซึ่งไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น มีทั้งเขมร ลาว และพม่า” นายทรงพล กล่าว

ขณะที่คำพูดของท้าวแหล่ตอกย้ำความจริงตรงกัน “มันลำบาก ถูกทุบตี ถ้าเราไม่ทำงานก็โดน เรากลัวก็ต้องทำงาน ถ้าไม่ทำก็โดนนายตี” เขาเล่าถึงเหตุการณ์บนเรือซึ่งจอดอยู่ที่เกาะตวลของอินโดนีเซียในขณะนั้น หน้าที่ของเขาคือการกู้อวน ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ และทำงานเสร็จประมาณสองทุ่มทุกวัน

“ผมอยู่เรือได้สองปีทนไม่ไหว ผมก็หนีออกจากเรือ” เขาบอก

น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากุล ผู้จัดการมูลนิธิแอลพีเอ็น บอกบีบีซีไทยว่าลูกเรือประมงคนอื่น ๆ ที่เธอได้พบเล่าว่าขณะอยู่ในเรือต้องทำงานหนักขนาดที่ร่างกายไม่สามารถรับได้ มีหลายกรณีที่เรือประมงไปจับปลาเสร็จแล้วก็จะส่งต่อแรงงานให้กับเรือลำถัดไป บ้างก็ถูกทิ้งไม่ให้เดินทางกลับไทยไปกับเรือ ทำให้ต้องเผชิญชะตากรรมในบ้านเมืองที่ไม่มีใครรู้จัก พูดภาษาไม่ได้

ในกรณีของแหล่นั้น เขาให้รายละเอียดว่าถูกส่งไปทำงานในเรือตั้งแต่มีอายุ 14 ปี ขณะนี้แหล่มีอายุ 31 ปี นั่นหมายความว่าเขาติดอยู่บนเกาะตวลนานถึง 17 ปี

“ตอนหนีใหม่ ๆ นอนในป่า ไม่มีของกิน อยู่กับเพื่อนสามคน ประมาณสองวันไม่ได้กินข้าวและน้ำเลย” แหล่บอกกับบีบีซีไทย หลังจากนั้นเขาและเพื่อนคนไทยสองคนไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน และรับจ้างทำงานกุลีทุกชนิดตั้งแต่ดายหญ้าไปจนถึงขุดบ่อน้ำ

ตลอดเวลา 17 ปีที่อยู่บนเกาะตวล แหล่รู้สึกเหมือน “ถูกขัง” อีกครั้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ

“เราพูดภาษาเขาก็ไม่ได้ จะกลับบ้านก็ไม่ได้ หันไปทางไหนก็มีแต่น้ำ มีแต่ทะเล ผมจะไปสถานทูตลาวก็ไปไม่เป็น” แหล่เคยคิดว่าสุดท้ายคงต้องจบชีวิตลงบนเกาะห่างไกล แห่งนี้ของอินโดนีเซียและไม่มีโอกาสกลับบ้านที่ลาว จนกระทั่งมูลนิธิแอลพีเอ็น สามารถติดต่อกับครอบครัวของแหล่ที่ลาวได้ในปีนี้ เขาจึงได้รับข่าวคราวครอบครัวเป็นครั้งแรก

“พ่อก็ตาย พี่ก็ตาย” เขาบอก “ถ้าได้กลับบ้านผมจะไปอยู่กลับแม่ กลับไปทำนา ไม่ไปไหนอีกแล้ว แม่บอกว่าคิดถึง เป็นห่วงผมมาก”

คนไทยยังถูกทอดทิ้ง

เมื่อปี 2558 รัฐบาลไทยส่งชุดเฉพาะกิจเดินทางไปยังเกาะอัมบนและเกาะเบนจินาของอินโดนีเซียเพื่อสำรวจ และให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ตกค้างอยู่ หลังจากมูลนิธิแอลพีเอ็นสำรวจพบและเปิดเผยว่ามีคนไทยถูกทอดทิ้ง บนเกาะดังกล่าว โดยทางการพบว่ามีคนไทยตกค้างไม่น้อยกว่า 2,000 คน อย่างไรก็ดี น.ส.ปฏิมา กล่าวว่ายังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เดินทางกลับเพราะขาดเอกสารพิสูจน์สัญชาติความเป็นคนไทย ซึ่งหลายคนเดินทางไปตั้งแต่ยังไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้

“ชุดเฉพาะกิจของรัฐลงไปสำรวจ แต่ไม่ได้เอากลับ มันยุ่งยากที่เขาจะขุดคุ้ย ก็ได้แต่จดชื่อไปว่านายเขียว นายแดง ไปอย่างนั้น” น.ส.ปฏิมาระบุ เธอเห็นว่าไม่สมควรที่จะมีคนไทยต้องถูกทอดทิ้งจนเสียชีวิตเช่นเดียวกับกรณีของสมยน

ขณะที่ทูตไทยในอินโดนีเซียเองเชื่อว่ายังมีอดีตแรงงานประมงไทยหลงเหลือตามเกาะต่าง ๆ ทั้งเกาะตวล เกาะบัมบน เกาะเบนจินา และเกาะเรียว โดยคนเหล่านี้น่าจะอยู่บนเกาะนานเกินกว่าสิบปี

ข้อมูลทะเบียนราษฏร์ไม่สมบูรณ์ยังกลับไทยไม่ได้

“ผมเคยเสนอกระทรวงต่างประเทศให้หารือกับกระทรวงมหาดไทยว่าคนเหล่านี้ออกจากประเทศมาเป็นสิบปี มาตั้งแต่ระบบฐานข้อมูลยังไม่ทันสมัยหรือไม่มีข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีข้อพิจารณาพิเศษ สำหรับคนกลุ่มนี้ โดยยอมรับว่าไม่สามารถหาข้อเท็จจริงที่ให้ได้ข้อสรุปที่เชื่อได้ 100% ว่าเป็นคนไทย หากกระทรวงมหาดไทยต้องการสัมภาษณ์ทางออนไลน์เราพร้อมดำเนินการให้ สถานทูตได้เสนอเรื่องนี้ไปแล้วว่า ควรดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่ใช่สำรวจลากยาวกันเป็นปี” นายทรงพล กล่าว แม้จะยอมรับว่าการเร่งรัดนำคนเหล่านี้ กลับประเทศ อาจทำให้พบในภายหลังได้ว่าไม่ใช่คนไทยจริง

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ คัดค้านการให้จีเอสพีไทยโดยอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายประเด็น
สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ คัดค้านการให้จีเอสพีไทยโดยอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายประเด็น

ในการเดินทางไปยังเกาะตวลครั้งล่าสุด เมื่อปลาย ต.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานของมูลนิธิแอลพีเอ็นยังพบหลุมฝังศพ “สมยน” อดีตลูกเรือประมงไทยที่เสียชีวิตที่นั่น โดย น.ส.ปฏิมาระบุว่าสมยนเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ทางการไทย เคยได้พบตัวแล้วก่อนหน้านี้ แต่เพราะขาดเอกสารหลักฐานในการพิสูจน์อัตลักษณ์จึงไม่สามารถนำตัวกลับมาได้

นอกจากนี้ คณะทำงานยังพบอดีตแรงงานประมงไทยอีกอย่างน้อย 7 คนที่ยังมีชีวิตและต้องการเดินทางกลับไทย และได้ประสานงานกับสถานทูตไทยในอินโดนีเซีย เพื่อให้ความช่วยเหลือกลับประเทศ

แรงงานประมงชาวเมียนมาที่สมุทรสาคร
แรงงานประมงชาวเมียนมาที่สมุทรสาคร

ไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานประมงหลายฉบับ

เมื่อเดือน พ.ค.ปีนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานประมงและป้องกันการบังคับใช้แรงงานในแรงานประมง โดยมีผลบังคับใช้หลังการประกาศ 180 วัน

พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการที่ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 188) หรือ C188 ซึ่งคุ้มครองการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงงานบนเรือประมง โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว และปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ประเทศที่ให้สัตยาบัน

ถือว่าเป็นความพยายามของไทยที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออก “ใบเหลือง” เตือนไทยว่ายังไม่มีมาตรการที่เพียงพอที่จะป้องกันและขจัดปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม จนกระทั่งเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา อียูได้ประกาศปลดใบเหลืองให้ไทย

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ไทยได้ออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับการทำประมงหลายฉบับ ได้แก่

  • พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ปรับปรุง พ.ศ. 2560
  • กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ปรับปรุง พ.ศ. 2561
  • พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ปรับปรุง พ.ศ. 2558, 2560 และ 2562
  • พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559
  • พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0