โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ประทีป ตั้งมติธรรม ผู้ก่อตั้งศุภาลัย

ลงทุนแมน

อัพเดต 14 ธ.ค. 2561 เวลา 09.00 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

ประทีป ตั้งมติธรรม ผู้ก่อตั้งศุภาลัย / โดย ลงทุนแมน

“ผมเคยใส่รองเท้านักเรียนจนพื้นทะลุ ทำให้ถุงเท้าขาด
ถูกห้ามไม่ให้เข้าห้องสอบ เพราะผมไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน”

ประทีป ตั้งมติธรรม ผู้ก่อตั้งบริษัทศุภาลัย รำลึกถึงความหลังในวัยเด็ก

แต่กว่าที่เขาจะกลายมาเป็นเจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 ล้านบาท

ชีวิตเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

คุณประทีป ตั้งมติธรรม เกิดเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ในวัยเด็กนั้น เขาเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างอย่างมาก

ครอบครัวของเขามีกิจการค้าไม้และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคนภายนอกอาจจะมองว่ามีฐานะดี แต่จริงๆ แล้ว คุณประทีปบอกว่า ตรงข้ามกับที่หลายคนคิด

กิจการค้าไม้และวัสดุก่อสร้าง จะเน้นไปที่การขายเชื่อให้แก่ผู้รับเหมา ซึ่งมีผู้รับเหมาหลายรายเมื่อรับของไปแล้วกลับเบี้ยวหนี้ไม่ยอมจ่ายเงินให้ครอบครัวของเขา

ทำให้ในช่วงนั้นกิจการของครอบครัวติดหนี้สินเป็นจำนวนมาก จนเงินทุนค่อยๆ หมดไป

ในที่สุดคุณพ่อของเขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ครอบครัวต้องมีภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก

ช่วงนั้นกิจการค้าไม้และวัสดุก่อสร้างยังไม่พื้นตัว เพราะขายของได้น้อย รายได้ไม่มี แต่มีรายจ่ายจำนวนมาก

เคราะห์ร้ายยังไม่หมด เมื่อคุณพ่อของเขาดันมาถูกรถชนเสียชีวิต ทำให้พี่ชายและพี่สาวของเขาต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว มีเพียงเขาและน้องชายที่ได้เรียนต่อ

โดยพี่น้องทั้งหมดจะช่วยกันหารายได้เพิ่มให้ครอบครัวในช่วงวันหยุดด้วยการขายของ หรือแม้แต่ไปเป็นกรรมกร ขนหิน ดินทรายและวัสดุก่อสร้างต่างๆ

ช่วงนั้น ทุกคนในครอบครัว ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ใช้คืนหนี้ของที่บ้าน จนทำให้ฐานะครอบครัวค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับคุณประทีปนั้น การที่เขาชื่นชอบและสนใจเกี่ยวกับการออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างมาตั้งแต่แรก ทำให้เขามุ่งมั่นจนสอบเข้าเรียนได้ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อเรียนจบ เขาได้ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนสักพัก เขาจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้วยเงินติดตัวประมาณ 60,000 บาท

คุณประทีปนั้นได้รับทุนจากทางมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา ซึ่งระหว่างเรียนปริญญาโทเขาก็ทำงานในมหาวิทยาลัยเพื่อหาเงินใช้ส่วนตัวไปด้วย

เมื่อเรียนจบ เขากลับมาประเทศไทยและร่วมทุนกับพี่ชายก่อตั้ง บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ในปี พ.ศ. 2532 เขาได้แยกตัวมาเปิด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) โดยในช่วงแรกนั้น บริษัทจะเน้นไปที่การสร้างบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ก่อนที่จะขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ

ปัจจุบัน ศุภาลัย ประกอบธุรกิจหลักๆ 3 ประเภทคือ

1) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สำหรับโครงการบ้านพักอาศัย ซึ่งมีทั้งบ้านและที่ดิน รวมไปถึงคอนโดมิเนียม
2) ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า
3) ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต

โดยที่รายได้กว่า 97% ของบริษัทนั้นมาจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่อีก 3% มาจากธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าและธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต

รายได้ของ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
ปี 2559 รายได้ 23,571 ล้านบาท กำไร 4,887 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 25,789 ล้านบาท กำไร 5,812 ล้านบาท

รายได้ของ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน)
ปี 2559 รายได้ 3,081 ล้านบาท กำไร 351 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 3,264 ล้านบาท กำไร 233 ล้านบาท

แทบไม่น่าเชื่อว่าจากเด็กที่ต้องใส่ถุงเท้าขาดๆ ไปเรียน จากเด็กที่ไม่มีสิทธิ์เข้าสอบ เนื่องจากไม่ได้จ่ายเงินค่าเล่าเรียน มาวันนี้เขาได้กลายมาเป็นเจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้เป็นหลักหมื่นล้านบาท

กว่าที่คุณประทีปจะประสบความสำเร็จนั้น ชีวิตเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร

สมัยที่เขาสอบเอ็นทรานซ์ เขาเคยบอกว่า แม้คะแนนของเขาสามารถเลือกเรียน สาขาอื่นที่คะแนนสูงกว่าได้ แต่เขาขอเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะเขาค้นพบด้วยตนเองว่า นี่คือสิ่งที่เขาสนใจและอยากศึกษามันอย่างลึกซึ้ง

ซึ่งสุดท้ายเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขานำมาสร้างอาณาจักรหมื่นล้านอย่าง “ศุภาลัย” ในวันนี้นั่นเอง..

References
-https://www.set.or.th
-SUPALAI Annual Report 2017
-http://thaiwhoiswho.blogspot.com/2015/06/blog-post.html
-http://www.alepaint.com/update_details.php?page=TlRZPQ==&cate=TWpFPQ==&file=ZFhCa1lYUmxMbkJvY0E9PQ==&chk=1374684980
-https://www.youtube.com/watch?v=MJ7Fuuk41VU

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0