โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ประณิธาน พรประภา ผู้สร้างเมืองในอุดมคติตามวิถีความยั่งยืนแบบ WONDERFRUIT

BLT BANGKOK

อัพเดต 15 ต.ค. 2562 เวลา 09.52 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 09.48 น.
0eb73628f6ac24569ed0c650fcd89baf.jpg

ชื่อเสียงของ Wonderfruit (วันเดอร์ฟรุ๊ต) เริ่มเป็นที่รับรู้ของคนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปลายปีนี้ก็เวียนกลับมาจัดอีกครั้ง นับแล้วก็เป็นปีที่ 6 ของเฟสติวัลระดับโลกซึ่งริเริ่มโดยคนไทย แต่ก่อนที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ในเทศกาลเฉลิมฉลองงานศิลปะ ดนตรี อาหาร และไอเดียสร้างสรรค์  BLT ได้ชวน คุณพีท-ประณิธาน พรประภา ผู้ก่อตั้งวันเดอร์ฟรุ๊ตมาเล่าถึงภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น เบื้องหลังแนวคิดการเนรมิตรเมืองในอุดมคติตามวิถีความยั่งยืนจากการชูคอนเซ็ปต์ “ป๊อปอัพซิตี้” ที่เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้จากการจัดงานครั้งที่ผ่านๆ มา สู่การรังสรรค์เทศกาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วม รวมถึงโปรเจกต์ใหม่ซึ่งจะพบในเทศกาลนี้เท่านั้น
ก่อนจะเป็นวันเดอร์ฟรุ๊ตเมื่อ 6 ปีก่อน เก็บความคิดนานแค่ไหนถึงตกผลึกจนเกิดเป็นเทศกาลนี้
ตอนนั้นผมกำลังคิดเกี่ยวกับเรื่องการทำกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม เลยชวนเจ-มณฑล จิรา มาร่วมด้วย เราต้องการทำเทศกาลหรืออีเวนต์ที่เป็นสิ่งที่เราชอบ ทั้งดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม เลยกลายเป็นงานนี้ ซึ่งตัดสินใจประมาณ 8 เดือนก็เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014
ในฐานะผู้ก่อตั้งมองการเติบโตของเทศกาลนี้อย่างไร
เวลา 5 ปีมองว่าแป๊บเดียวหรือนานก็ได้ ความหมายคำว่านานของเราคือคนก็ยังไม่ได้มาเยอะมาก ถ้าเทียบกับสเกลงานอย่างนี้กับประเทศอื่น ตรงนี้ต้องใช้เวลาในการเติบโต เพราะว่างานของเรามีความซับซ้อนและแปลกใหม่กับคนไทย ถ้าถามถึงสิ่งที่สะท้อนออกไปหรือเกิดขึ้นจากการทำงานวันเดอร์ฟรุ๊ต ในมุมของคนที่พยายามจะสร้างวัฒนธรรม ผมว่าวันเดอร์ฟรุ๊ตก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็มีคนอีกตั้งเยอะที่ยังไม่รู้ว่าวันเดอร์ ฟรุ๊ตคืออะไร ซึ่งก็พยายามหาวิธีที่จะให้เขาได้มาสัมผัส

ป๊อปอัพซิตี้ที่เป็นคอนเซปต์ในปีนี้ได้ไอเดียมาอย่างไร
จริงๆ ทำมาทุกปี คิดตั้งแต่ปีแรกว่าวันเดอร์ฟรุ๊ตเป็นเมือง ซึ่งก็ต้องการทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข ระบบการจัดการ ความปลอดภัย เรื่องน้ำและไฟฟ้า ก็เหมือนกับการสร้างเมืองขึ้นมาหนึ่งเมือง ผมอาศัยอยู่ในเมืองก็มองดูว่ามีฟังก์ชันอย่างไร อย่างกรุงเทพฯ หรือในต่างประเทศ ในแต่ละพื้นฐานของเมืองเราจะพัฒนาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ทำอย่างไรให้ลดหรือใช้พลังงานให้ดีขึ้น ทำระบบจัดการการขนส่งอย่างไรให้คนมาที่เมืองของเราง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้คนที่มางานคิดว่าองค์ประกอบของเมืองต้องมีอะไรบ้าง ที่สำคัญทุกคนเป็นประชาชนในเมือง ซึ่งปีนี้ก็อยากจะขอให้ประชาชนในเมืองของเรามีบทบาทมากขึ้น
จากคอนเซ็ปต์ป๊อปอัพซิตี้มีไฮไลต์อะไรที่ไม่ควรพลาด
ไม่ควรพลาดทุกอย่าง สำหรับผมก็น่าตื่นเต้นทั้งหมด ให้เลือกไฮไลต์ก็เลือกยาก ขึ้นอยู่กับว่าชอบอะไร ถ้าชอบดนตรี ปีนี้มีโปรเจกต์ Misicity ซึ่งเป็นวิธีที่วันเดอร์ฟรุ๊ตคิดเกี่ยวกับเพลง เราอยากจะสร้างคอน-เทนต์ ไม่ใช่แค่จ้างศิลปินมา ซึ่ง Nick Luscombe กูรูด้านดนตรีและดีเจจาก BBC 3 คิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาแล้วร่วมมือกับวันเดอร์ฟรุ๊ต โดยนำศิลปินไทยและค่ายเพลง Erased Tapes มาทำเพลงซาวด์แทร็กให้กับแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง เยาวราช สะพานพระราม 9 สะพานพระราม 8 ศิลปินก็ทำเพลงจากการที่เขาได้ไปสัมผัส แล้วเอามาแสดงบนเวที Theatre Stage ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน นอกจากนี้ Talks เราก็ทำมา 5 ปีแล้ว แต่ปีแรกจำได้เลยว่าไม่มีคนฟังเลย ทุกวันนี้คนไทยก็ยังฟังน้อยอยู่ จึงคิดว่าปีนี้ก็จะมีคนไทยมาพูดมากขึ้น พยายามเน้นเรื่อง Storytelling มากขึ้น มีความหลากหลาย อย่างบางคนก็มาพูดเรื่องกัญชา เพราะเป็นอะไรที่คนพูดถึงเยอะ

กิจกรรมใดบ้างที่ส่งเสริมให้เกิดวิถีความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
เราคิดว่าทุกสิ่งในวันเดอร์ฟรุ๊ตเป็นโอกาสในการแสดงออกถึงความยั่งยืนแม้แต่เวทีที่สร้างด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่  บางส่วนที่สร้างไว้แล้วอย่าง Bath House ระหว่างปีก็มีการปรับปรุงซ่อมแซม ยังมีเวทีที่สร้างจากขวดพลาสติกรีไซเคิล หรือปีนี้ก็สร้างเวทีใหม่ขึ้นมาคือ Living Village คล้ายกับเนิน เป็นขั้นบันได ให้คนเล่นกับพื้นที่ได้มากขึ้น เพราะเราพยายามสร้างบรรยากาศให้มีความแปลกใหม่ ไม่อยากให้คนยืนแค่หน้าเวที
ทุกอย่างที่คุณจับต้องในวันเดอร์  ฟรุ๊ตแสดงถึงวิธีคิดที่เป็น Ethos ของเรา ซึ่งปีนี้เรายังร่วมกับดอยตุงในการปลูกต้นไม้ที่ทางภาคเหนือเพื่อชดเชยคาร์บอน เราจะมีวิธีคำนวน Carbon Caculator อย่างการเดินทางว่าต้องปลูกต้นไม้เพื่อเป็นการชดเชยเท่าไร ซึ่งเราก็ทำงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาทุกปี

สำหรับคนจัดงานเทศกาลสิ่งนี้สำคัญอย่างไร
ถ้าถามความคิดของผมว่าทุกงานควรจะทำหรือเปล่า ตอบว่าควรทำ เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบตรงนี้ ถ้าเราจะจัดงานเทศกาลที่ต้องการสร้างเนื้อหาสะท้อนกับสิ่งแวดล้อม มันค่อนข้างสำคัญมากที่ต้องวัดทุกอย่างนั่นคือความสำคัญที่เราต้องร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯหรือ The Greener Festival องค์กร NGOs ที่เป็นที่ปรึกษาและ Audit เทศกาลรอบโลก ซึ่งวันเดอร์ฟรุ๊ตก็ได้รับรางวัลด้านการสื่อสารเรื่องสิ่ง-แวดล้อมที่ดี ซึ่งการที่มี Third Party มาตรวจสอบก็จะให้เข้าใจว่าเราทำจริง
มองสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างไร
สถิติทุกอย่างมันสะท้อนให้เห็นว่ารุนแรงมาก ปัญหาก็คือคนเรายังมักง่าย โลภมาก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างการละลายของน้ำแข็งที่อาร์กติก ถ้าเป็นแบบนี้อีก 20-30 ปี กรุงเทพฯ จะท่วมแล้วหายไปเลยนะ พายุหรือไฟป่าก็เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะคน ซึ่งวิธีที่เราพยายามพูดถึงคือเรารวมตัวกันเพื่อทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้ อย่างน้อยทำให้มันช้าลงหรือหยุดยั้งได้ ไทยเป็นประเทศที่ตอบสนองต่อกระแสมาก อย่างพลาสติก ถ้าเกิดพะยูนไม่ตาย ไม่เป็นกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์ก รัฐบาลไทยก็อาจจะไม่กดดัน ไม่แบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2022 วันเดอร์ฟรุ๊ตก็อยากจะสร้างกระแสอย่างนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าการปกป้องสิ่ง-แวดล้อมสามารถสนุก สวยงาม สร้างสรรค์ได้ นั่นคือบทบาทของเรา 

มีอะไรที่สังเกตว่าวันเดอร์ฟรุ๊ตเปลี่ยนให้คนมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อโลก
ในแง่ของ Quantitative เราก็ทำผลสำรวจทุกปี ประมาณ 400 คน ว่าความยั่งยืนสำคัญต่อคุณไหม ก็ตอบกันว่าสำคัญ แปลว่าเป็นเสียงสะท้อนให้เราเข้าใจว่ามันได้ผล แต่ถามว่าเราเปลี่ยนโลกเลยหรือเปล่า เราก็ไม่ใช่เด็กๆ ก็เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีหลายอย่างรวมกัน ผลของเราอาจจะทำให้งานอื่นคิดแบนพลาสติก ใช้วัสดุธรรมชาติหรือรีไซเคิล เพราะงานเราคนจับตาเยอะ ก็เป็นความกดดันที่เราจะหาวิธีสื่อสารและทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0