โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประชาพิจารณ์ไฮสปีดกรุงเทพ-หนองคาย ชาวบ้านหวั่นไร้ทางลอดเหมือนรถไฟทางคู่

MATICHON ONLINE

อัพเดต 16 ม.ค. 2562 เวลา 08.51 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2562 เวลา 08.50 น.
ประชาพิจารณ์ไฮสปีด3

วันที่ 16 มกราคม ที่หอประชุมอนุสรณ์ 70 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เปิดเวทีนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาคมจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้โครงการวิจัย “การศึกษาผลกระทบทางสังคมจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-หนองคาย” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นหัวหน้าโครงการนำเสนอผลงานวิจัยเบื้องต้น และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาคม ซึ่งมาจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนต่างๆ และประชาชนกว่า 100 คน เข้าร่วมในครั้งนี้

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ระยะทาง 837 กิโลเมตร ที่เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงบวกและลบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางรถไฟที่วิ่งผ่านบริเวณสถานีรถไฟ จังหวัด และอำเภอที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จังหวัดนครราชสีมา และสถาบันเครือข่ายจึงได้ทำการศึกษาวิจัย ผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย 5 ประเด็นหลักคือ

1. สถานภาพปัจจุบันของพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่าน 2. ผลกระทบด้านการก่อสร้างและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 3. ผลกระทบด้านการค้าการลงทุน 4. ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและบริการ และ5. ผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายประชากร โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดและอำเภอตลอดเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ทั้งการแจกแบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม ซึ่งขณะนี้คณะวิจัยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นแก่ประชาคมและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสม พงษ์ใหม่ อายุ 60 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 บ.เดื่อ ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หมู่บ้านของตนเป็นเส้นทางที่โดนรถไฟตัดผ่านกลางหมู่บ้านเลย การก่อสร้างรถทางคู่หรือรถไฟความเร็วสูงมา ถ้าไม่มีทางลอดชาวบ้านก็มีผลกระทบมาก วัด บ้าน โรงเรียน ตัดขาดการไปมาหาสู่กัน การไปมาหาหมอก็จะลำบาก เรื่องของการสร้างรถไฟความเร็วสูง ชาวบ้านที่อยู่ติดทางรถไฟก็ยังไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ก็อยากจะฝากให้ผู้ออกแบบรถไฟมารับฟังความเห็นของชาวบ้าน มารับฟังผลกระทบโดยตรงเลยกับชุมชนที่อยู่ใกล้กับทางรถไฟ ในส่วนของแบบของทางรถไฟ ตนได้เห็นคร่าวๆแต่ยังไม่ชัดเจนสักที ทั้งที่มีการประชุมหลายรอบแล้ว ตอนนี้รู้แค่ว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และก็ต่อด้วยก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งยังไม่ชัดเจนอะไรสักอย่างทั้งแบบ ทั้งการก่อสร้างต่างๆ ด้านผลกระทบที่ชาวบ้านในบริเวณนั้นจะต้องเจอ อย่างแรกจะเป็นระบบเสียง เพราะเป็นการก่อสร้างใกล้ชุมชน แต่ทั้งนี้ชาวบ้านไม่มีปัญหาอะไรในการก่อสร้างทางรถไฟทั้งทางคู่และความเร็วสูง เพียงอยากขอความชัดเจนของการก่อสร้างเท่านั้นเองว่าจะเป็นในรูปแบบไหนอย่างไร

ด้าน ผศ.ดร.อนุจิตร ชิณสาร นักวิจัยโครงการ กล่าวว่า สำหรับโครงการศึกษาผลกระทบของการสร้างรถไฟความเร็วสูง จะแบ่งเป็นผลกระทบทางบวกและทางลบ จากการศึกษาจะค้นพบว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเป็นผลเชิงบวกมากกว่าผลลบ หมายความว่าอย่างแรกจะเป็นการเพิ่มเศรษฐกิจของชุมชนให้มีการขยายตัวที่มากขึ้น เกิดการค้า เกิดการลงทุน เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เป็นเชิงบวกมากยิ่งขึ้น ท้องถิ่นได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น แต่ผลกระทบในเชิงลบที่เกิดขึ้นก็คือ การรถไฟหรือ สนข.ที่รับผิดชอบโครงการนั้นจะต้องมีการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่เป็นข้อกังวลของพี่น้องประชาชน ที่ยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากพอ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนหน่วยงานราชการในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

จากผลการศึกษาพบว่าพี่น้องประชาชนในระดับรากหญ้าจริงๆ ยังมีความสับสนในเรื่องของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งรถไฟความเร็วสูงนี้มีแนวโน้มว่าจะสร้าง แต่รถไฟรางคู่ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว โดยผลกระทบของการก่อสร้างรถทางคู่ได้ส่งผลต่อการรับรู้รับทราบของประชาชนเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดความสับสนกันอยู่มาก ในการลงพื้นที่วิจัยเพื่อเก็บข้อมูลจึงต้องสร้างความเข้าใจทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกันและเป็นประโยชน์ให้มากที่สุดต่อการศึกษาวิจัยในครั้งนี้”ผศ.ดร.อนุจิตรกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0