โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประชาชนเห็นด้วยอย่างยิ่ง "อภิปรายไม่ไว้วางใจ"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 04.52 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 04.52 น.
เมนู2047

“ตรวจสอบ” คือหน้าที่ ส.ส.

แม้จะมีมติร่วมกันไปแล้วว่าต้องรักษาโควต้า “การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ปีละครั้งไว้ โดยยื่นให้บรรจุวาระเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดอภิปรายได้ทันในเดือนธันวาคม

แต่เป็นที่รู้กันว่าในพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกันนัก

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า จะต้องเป็นการทำงานที่ได้ผลเด็ดขาด คือมีข้อมูลหลักฐานที่แน่นหนา เมื่อเปิดขึ้นมาแล้วคนถูกอภิปรายต้องจำนน และอยู่ต่อไปไม่ได้

หวังผลในระดับ “ล้มรัฐบาล”

ซึ่งเห็นว่าการยึดถือโควต้าอภิปรายปีละครั้ง โดยไม่เน้นความพร้อมของข้อมูลหลักฐานที่หนักแน่น ไม่เกิดผลดีต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน เสี่ยงต่อการตอกย้ำภาพลักษณ์นักการเมืองในสายตาประชาชนว่าเอาแต่มุ่งทำลาย ไม่สร้างสรรค์ ใช้เวทีสภาอย่างไม่มีคุณภาพ

และข้อมูลคุณภาพนั้น มองไปที่หลักฐานเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องจนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การรักษาโควต้าอภิปรายปีละครั้งไว้จะน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ถือเป็นวาระตรวจสอบรัฐบาลอันจะทำให้การทำหน้าที่ของสภา หรือฝ่ายค้านชัดเจน

การเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเน้นเฉพาะเรื่องทุจริต เพราะหากชี้ให้เห็นได้ว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถพอที่จะบริหารบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่สมควรจะเป็น หรือบริหารแล้วก่อความเสียหายให้เกิดกับประเทศ

เอาข้อมูลอันเป็นผลที่เกิดขึ้นกับประเทศมาชี้ให้เห็น ย่อมถือเป็นการตรวจสอบที่ดี มีคุณภาพได้

ล้มรัฐบาลได้ หรือทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายอยู่ไม่ได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีเหตุอื่นประกอบมากมาย โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนในสภาซึ่งรัฐบาลมีมากกว่าอยู่แล้ว

ภาพลักษณ์ว่ามุ่งทำลาย หรือสร้างสรรค์ ให้ประชาชนรับรู้ถึงหน้าที่ของสภา เป็นเรื่องของท่าที และวิธีการอธิบายเรื่องราวที่นำมาอภิปรายมากกว่า

ความเห็นที่ต่างกันนี้ ที่สุดแล้วมาลงตัวที่ “ยื่นญัตติตามโควต้า” คือไม่ให้เสียโอกาสของปีนี้

หากจะตอบคำถามว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ คงต้องประเมินจากความคิดของประชาชน เพราะหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือทำให้สอดคล้องกับความคิด และความต้องการของประชาชน

“นิด้าโพล” ให้คำตอบเรื่องนี้แล้วในผลสำรวจล่าสุด

คําถามที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งคณะ ในเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 51.62 ตอบว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยให้เหตุผลว่าการบริหารที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น ควรได้รับการตรวจสอบการทำงาน จะได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลทำ

ร้อยละ 20.22 ตอบว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลไม่สามารถทำให้ดี จึงควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของรัฐบาล และเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะทำการอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาลอยู่แล้ว

มีร้อยละ 9.44 ที่ตอบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มทำงาน ควรเปิดโอกาสให้สร้างผลงานก่อน อย่างน้อยควรให้เวลาสัก 2 ปี

ขณะที่ร้อยละ 18.02 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะรัฐบาลยังทำงานดีอยู่ เร็วเกินไปที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ

คำตอบนี้สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ ส.ส.ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น และเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการตรวจสอบรัฐบาล

อีกคำถามที่น่าสนใจคือ

คิดว่าผลการอภิปรายจะเป็นอย่างไร ร้อยละ 36.59 ตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถอยู่บริหารประเทศต่อไปได้, ร้อยละ 23.45 บอกว่ารัฐบาลจะชนะโหวต

มีเพียงร้อยละ 20.69 เท่านั้นที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก หรือยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หรือร้อยละ 10.07 ที่เชื่อว่าหลังอภิปรายต้องปรับคณะรัฐมนตรี

ไม่ต้องพูดถึงที่เชื่อว่าฝ่ายค้านต้องชนะโหวต เพราะมีแค่ร้อยละ 8.10

หนำซ้ำร้อยละ 1.97 เชื่อว่าจะมี ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นงูเห่า

และมีแค่ร้อยละ 1.02 เท่านั้นที่เห็นว่าฝ่ายค้านจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการตรวจสอบรัฐบาล

คำตอบทั้งหมดนี้ น่าจะยืนยันได้ว่าการรักษาโควต้าเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจปีละครั้งนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านมาถูกทางแล้ว เพราะเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการให้เป็น

ส่วนจะมีการหาข้อมูลหลักฐาน และสามารถเรียบเรียงเพื่อชี้ให้เห็นความเสื่อมถอยของประเทศอันเกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน

เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ในการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้าน และจะว่าไปเป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอันเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย

เป็นหน้าที่ของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกคน”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0