โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประกาศ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย สธ. ยันไม่ใช่เพราะคุมโรคไม่ได้

SpringNews

เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 11.43 น.
ประกาศ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย สธ. ยันไม่ใช่เพราะคุมโรคไม่ได้

วันนี้ (24 ก.พ.63) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563  โดยระบุว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่พบการระบาดในประเทศ แต่แนวโน้มการระบาดในประเทศต่างๆ มีมากขึ้น  ซึ่งอาจส่งผลต่อการระบาดของประเทศไทย

แต่ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 14 เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค สามารถควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยจะทำให้สามารถค้นหาผู้ป่วย สอบสวน และควบคุมโรคได้เร็ว

โดยเจ้าบ้าน/ ผู้ควบคุมดูแลบ้าน/แพทย์ผู้ทำการรักษาที่บ้าน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล/ ผู้ทำการชันสูตร/ ผู้รับผิดชอบสถานที่ชันสูตร และเจ้าของ/ผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมง รวมทั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจะมีอำนาจในการดำเนินการหรือออกคำสั่ง เช่น ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคมารับการตรวจชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต และกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้ว่า กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบการ โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรหยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว

“ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก การประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไทยควบคุมโรคไม่ได้จนเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มาตรการที่เราทำอยู่เป็นการทำงานเชิงรุก ล่วงหน้ามากกว่าสถานการณ์จริงไปอีกขั้นหนึ่ง ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าควบคุมโรคได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง เช่นที่เกิดในบางประเทศ” นายอนุทินกล่าว

นอกจากนี้คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติการเพื่อเป็นกรอบแนวทางให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี COVID-19และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่

1.การคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ช่องทางเข้าออกประเทศ สถานพยาบาล และในชุมชน

2.การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อ

3.การติดตามผู้สัมผัสโรค

4.การสื่อสารความเสี่ยง

5.การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย

6.การประสานงานและจัดการข้อมูล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0