โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ประกันชีวิตโตอืดยุคดบ.ต่ำ สินค้าคุ้มครองทำเบี้ยก้อนเล็ก

ทันหุ้น

อัพเดต 10 ก.ค. 2563 เวลา 05.33 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 05.33 น.

ทันหุ้น-สู้โควิด: “สาระ ล่ำซำ” ฉายภาพธุรกิจประกันชีวิตโตอืดยุคดอกเบี้ยต่ำ ธุรกิจหาผลตอบแทนยากขึ้น ปรับกลยุทธ์เน้นผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตที่อ่อนไหวต่ำกับอัตราดอกเบี้ย แต่หากเทียบแบบสะสมทรัพย์ทำเบี้ยได้ก้อนเล็กกว่าราว 10 เท่า กดภาพรวมธุรกิจโตลดลง ส่วนโควิด-19 ในด้านหนึ่งกระทบกำลังซื้อ แต่อีกด้านก็ทำให้ตลาดประกันสุขภาพอนาคตสดใส

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTI กล่าวถึงธุรกิจประกันชีวิตภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้ยากขึ้น ทำให้แบบประกันสะสมทรัพย์ระยะสั้น เช่น10/1, 10/2 ที่การันตีผลตอบแทน เป็นสินค้าที่อาจส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทได้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจหันไปเสนอขายแบบประกันที่อ่อนไหวน้อยกับเรื่องของดอกเบี้ย อย่างสินค้าคุ้มครองชีวิต สุขภาพ โรคร้ายแรง และอุบัติเหตุ เป็นต้น

ลงทุนได้ผฃตอบแทนต่ำ

ทั้งนี้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีกรอบบังคับให้ต้องเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเป็นหลัก ดังนั้นพันธบัตร และตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนอิงกับอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นสินทรัพย์หลักที่ภาคธุรกิจเข้าลงทุน และในภาวะดอกเบี้ยต่ำเรี่ยดินจึงกดดันต่อการหาผลตอบแทนของบริษัทประกัน อย่างไรก็ตามบริษัทประกันชีวิตยังมีแบบสะสมทรัพย์ขายอยู่แต่เป็นแบบที่คุ้มครองยาว เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตที่ส่วนใหญ่ถือครองพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีอายุยาว

นายสาระ อธิบายว่า ผลจากการปรับรูปแบบสินค้า โดยหันมาเน้นความคุ้มครองชีวิต คุ้มครองสุขภาพ โรคร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งเบี้ยในกลุ่มสินค้าคุ้มครองนั้นถูกกว่าสินค้าสะสมทรัพย์ ราว 10 เท่า และนี่คือเหตุผลสำคัญที่เห็นการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

เหตุเบี้ยต่ออายุลดลง

ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่อง PAID-UP POLICY หรือกรมธรรม์ที่ชำระเบี้ยครบถ้วนไม่ต้องชำระเพิ่มอีกแต่ยังคงมีความคุ้มครองอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีผลให้เบี้ยต่ออายุในช่วงที่ผ่านมาลดลงเช่นกัน รวมถึงกรมธรรม์ที่ครบกำหนดเงื่อนไขสัญญาซึ่งก็มีจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็เป็นแบบสะสมทรัพย์ เช่น 3/2, 7/15, 6/16 ที่เสนอขายในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา

“ลูกค้าที่กรมธรรม์ครบเงื่อนไขสัญญามีการทำประกันต่อหรือไม่นั้น มีแน่นอน แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าคุ้มครองที่เบี้ยประกันน้อยกว่าแบบสะสมทรัพย์ราว 10 เท่า ดังนั้นเม็ดเงินที่เข้ามาในธุรกิจย่อมน้อยลง เมื่อเทียบกับอดีตที่ภาคธุรกิจเน้นขายสินค้าสะสมทรัพย์”

นายสาระ กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจประกันชีวิตเป็นเรื่องของสัญญาระยะยาว บริษัทประกันชีวิตจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยง ด้วยการมีเงินสำรองประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพัน ต้องดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสียง (RBC)  ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.กำหนด ซึ่งกำไรจากธุรกิจในแต่ละปีที่จะนำออกมาให้ผู้ถือหุ้นได้นั้นจะต้องเห็นชอบจาก คปภ.ก่อน โดยจะต้องทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของบริษัทนั้นๆว่าเมื่อเจอวิกฤติองค์กรยังมีเงินทุน เงินสำรองเพียงพอที่จะจ่ายผลประโยชน์ได้ตามเงื่อนไขสัญญาหรือไม่

เสน่ห์ธุรกิจประกันชีวิต

“เงินกำไรของบริษัทประกันชีวิตในแต่ละปีไม่ได้นำออกมาใช้ได้เลย แต่จะต้องนำกลับไปตั้งสำรองประกันภัย เงินกองทุน ซึ่งผมว่านี่คือเสน่ห์ของธุรกิจประกันชีวิต ที่ต่างจากธุรกิจอื่นที่รู้ว่ามีต้นทุนเท่าไร ขายได้เท่าไร เมื่อหักลบที่เหลือก็เป็นกำไรส่งต่อผู้ถือหุ้นได้ทันที แต่ของประกันชีวิตเราต้องบริหารจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเคลม หรือการจ่ายผลประโยชน์ให้ได้ตามเงื่อนไขสัญญาที่การันตีไว้”

ดังนั้นสำหรับธุรกิจประกันชีวิตในสถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำ การหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยากมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเสนอขายแบบสะสมทรัพย์ที่มีระยะเวลาสั้นๆได้เพราะไม่สามารถหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกันก็ความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นพันธบัตรได้

อย่างไรก็ตามสำหรับผลิตภัณฑ์สะสมทรัพย์ระยะสั้นรุ่นเก่าที่การันตีผลตอบแทนไว้สูง ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับตามเงื่อนไขสัญญาเดิม ด้วยพันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ ที่บริษัทประกันชีวิตเข้าไปลงทุนในอดีตให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้หรือพันธบัตรรุ่นใหม่ และสอดคล้องกับผลตอบแทนที่การันตีไว้

นายสาระ เชื่อว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังมีโอกาสเติบโตต่อได้ โดยเฉพาะจากการระบาดขอ.โควิด-19 ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงความคุ้มครอง และการวางแผนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งจะผลักดันให้แผนประกันสุขภาพเติบโตจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังรวมไปถึงประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมประกันชีวิตไทย เผยว่า ปี 2563 เป็นปีที่มีความท้ายครั้งใหญ่จากดอกเบี้ยลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ผลตอบแทนจากการลงทุนจึงลดลง ตามติดมาด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติม ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่งโลก ทำให้คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตในปี 2563 จะลดลง -2% ถึง -5% ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 598,695.82 – 580,368.40 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0