โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปตท.ชี้มรสุมรุมเศรษฐกิจไทยโอดหลายปัจจัยฉุดรายได้-กำไรปี62หด

ไทยโพสต์

อัพเดต 24 ก.พ. 2563 เวลา 17.46 น. • เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 17.46 น. • ไทยโพสต์

 

25 ก.พ.2563 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ผลกระทบทั้งในและต่างประเทศที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งหมดนั้น บริษัทยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง และยอมรับว่าทีความเปราะบางค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่คาดอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 2% ลดลงจากปีก่อนโต 2.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในภาคการท่องเที่ยว สถานการณ์ภัยแล้ง ความล่าช้าของกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณ ภาวะการค้าระหว่างประเทศยังคงอ่อนแอ ความขัดแย้งของพรรคการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่น

“ส่วนตัวมองภายในไตรมาส 1-2 ของปีนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัศโควิด 19 น่าจะคลี่คลายผลกระทบที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวให้ซึมยาวนานเกินไป ส่วนปัญหาภัยแล้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทในกลุ่มปตท. มีแผนบริหารจัดการน้ำรับมือปัญหาได้ดี รวมทั้งศึกษาแนวทางการนำน้ำเค็มมาผลิตเป็นน้ำจืดใช้ และประเมินในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.ของทุกปีที่จะเข้าช่วงฤดูฝน สถานการณ์ภัยแล้งก็จะคลี่คลายลงได้”นายชาญศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศทั้งเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย 6% เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าสหรัฐ แม้ล่าสุดปัญหากับจีนจะผ่อนคลายลงหลังการลงนามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 แล้ว และการกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายการคลังแบบเป็นกลาง และเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีความแน่นอนทางการเมืองในอิตาลีและสเปน รวมถึงการเจรจาข้อตกลงสัมพันธ์ในอนาคตกับสหราชอาณาจักร

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2562 บริษัทและบริษัทในกลุ่มปตท. มีกำไรสุทธิ 92,951 ล้านบาทลดลง 22.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 119,647 ล้านบาท เนื่องจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ที่เพิ่มขึ้นของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ.  แม้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทในปี 2562 ที่แข็งค่ามากกว่าปี 2561 และผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จะลดลงตามผลการดำเนินงาน

ส่วนรายได้จากการขายอยู่ที่​ 2,219,739 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5% ที่มีรายได้ 2,336,155 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจน้ำมันที่ลดลงจากราคาขาย รวมถึงเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารายได้ของบริษัทนั้นจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันดิบของโลกซึ่งการที่มีรายได้ลดลงไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ายอดขายนั้นมีความสำคัญแต่กำไรสำคัญกว่าซึ่ง ปตท.รวมถึงบริษัทในเครือยังมีความยั่งยืนในจุดนี้อยู่

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการปรับสูตรหน้าโรงกลั่นตามแนวนโยบายของกระทรวงพลังงานยังไม่แล้วเสร็จ โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ตั้งอยู่บนหลักการดำเนินงานที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าการกลั่นที่มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงหรือไม่ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยืนยันยังไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้ที่แน่ชัดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมามีมติอนุมัติการทบทวนแผนลงทุนสำหรับปตท.และบริษัทในกลุ่มปตท. ระยะ 5 ปี(2563-2567) รวมทั้งสิ้น 180,814 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในปี 2563 วงเงิน 69,310 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 41,415  ล้านบาท ปี 2565 วงเงิน 30,484 ล้านบาท ปี 2566 วงเงิน 20,545 ล้านบาท และปี 2567 วงเงิน 19,060 ล้านบาท

โดย 52% ของเงินลงทุนทั้งหมดจะเป็นการร่วมทุนและลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย การขยายธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก โครงการมาบตาพุดเฟส 3 วงเงิน 93,181 ล้านบาท สัดส่วน 18% เป็นการลงทุนโครงการท่อก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 วงเงิน 31,725 ล้านบาท สัดส่วน 16% ใช้ลงทุนในโครงการแอลเอ็นจี(ก๊าซธรรมชาติเหลว) เทอร์มินอล 2 วงเงิน 29,054 ล้านบาท ส่วน 8% ใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซีไอ) การร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการธุรกิจใหม่ๆ ด้านพลังงาน เช่น ระบบกักเก็บ แบตเตอรี่ วงเงิน 15,182 ล้านบาท และ 6% ใช้ลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น ปรับปรุงธุรกิจโรงแยกก๊าซ วงเงิน 11,672 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0