โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปณท ลงระบบ POS เสริมแกร่งอี-คอมเมิร์ซชุมชน (Cyber Weekend)

Manager Online

อัพเดต 16 ธ.ค. 2560 เวลา 00.57 น. • เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2560 เวลา 00.57 น. • MGR Online

ปัญหาคลาสสิคของสินค้าชุมชน คือ ผลิต แล้ว ไม่มีคนทำตลาดให้ หากต้องการลูกค้า จำเป็นต้องออกงานแสดงสินค้าซึ่งมีค่าใช้จ่าย หรือบางราย สินค้าต้องได้มาตรฐานระดับโอท็อปถึงจะมีโอกาสขยายตลาดออกไปสู่ท้องถิ่นอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้นการสร้างความแข็งแกร่งให้สินค้าชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตนเองนั้นจึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องเล็งเห็นและให้ความสำคัญโดยเฉพาะในโลกดิจิทัล และนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ขณะที่สินค้าโดยทั่วไปหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้าขาย แต่ชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการค้าขายออนไลน์ การสร้างหน้าร้านค้าออนไลน์ควบคู่กับความสะดวกในการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อจึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและสร้างอี-คอมเมิร์ซชุมชนขึ้นมาเองได้โดยง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง

*** ที่มาโครงการดิจิทัลชุมชนด้านอี-คอมเมิร์ซ

สมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้ดำเนินงานการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมหมู่บ้านจำนวน 24,700 หมู่บ้าน และพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีอยู่จำนวน 2,000 แห่ง โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนในระดับฐานรากได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการนำสินค้าและบริการของชุมชนมาซื้อขายนอกหมู่บ้าน

ไปรษณีย์ไทยจึงพร้อมสนับสนุนการนำเครือข่ายของที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า จัดทำระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ และกระจายสินค้านำส่งไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ ผ่านระบบ Prompt Post ของไปรษณีย์ไทย คาดว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยประชาชน ชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชนและร้านโชห่วย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการขายสินค้า

สำหรับการดำเนินโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก (เดือนเมษายน - ธันวาคม 2560) มีเป้าหมายให้ร้านค้าชุมชนเข้าร่วมโครงการนำร่องอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ร้านค้าชุมชน ระยะที่สอง (ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2561) เป็นการคัดเลือกสินค้าชุมชนเพื่อเข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ 2,470 แห่ง มีรายการสินค้าไม่ต่ำกว่า 24,700 รายการ และระยะที่สาม (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป) เป็นระยะที่พัฒนาสู่ความยั่งยืนร้านค้าชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล มีทักษะการค้าบนโลกออนไลน์ มีรูปแบบการดำเนินงาน (Business Model) ที่สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนด้วยตนเอง

*** ไปรษณีย์ไทย หนุนโครงการ 3 ด้าน

ไปรษณีย์ไทย จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ อี-คอมเมิร์ซ ชุมชนระดับประเทศ รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ ไปรษณีย์ไทย 4.0 ซึ่งจะเห็นผลภายในปี 2562 โดยมีการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

ส่วนแรก e-Marketplace & Platform : การดำเนินโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน อี-คอมเมิร์ซ จะมีการพัฒนารูปแบบการจำหน่ายสินค้าชุมชนไปยังตลาดภายนอกผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ โดยการจำหน่ายสินค้าจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันระบบบริหารงาน ณ จุดขาย (Point of Sale : POS) ที่ติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าสมาชิก มีระบบการชำระเงินและการขนส่งตามโครงการให้แก่ร้านค้าชุมชนที่มีความเหมาะสมและผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานให้เป็นจุดติดตั้งระบบงานและอุปกรณ์ POS เพื่อให้บริการแก่สมาชิกชุมชน

ซึ่งประชาชนในชุมชนที่ผลิตสินค้าหรือบริการของตนเอง จะต้องดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายสินค้าในระบบตามขั้นตอนที่กำหนด ณ ร้านค้าชุมชน และจัดทำข้อมูลสินค้า ได้แก่ รูปภาพสินค้า ประเภทสินค้า ราคาจำหน่าย ข้อมูลของสินค้า เช่น ส่วนผสม คุณประโยชน์ วิธีการใช้หรือรับประทาน วิธีการเก็บรักษา เป็นต้น

เมื่อมีการลงทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายสินค้าและนำรายการสินค้าเข้าสู่ระบบแล้ว สินค้าดังกล่าวจะถูกจัดเก็บไว้เป็นคลังของข้อมูลส่วนกลางในรูปแบบ e-Catalog ที่พร้อมจะเชื่อมโยงไปยังร้านจำหน่ายสินค้าออนไลน์อื่นๆ ได้

นอกจากนี้ระบบ POS มีระบบงานที่สามารถควบคุมการจำหน่ายสินค้าภายในร้านค้าชุมชนได้ ทั้งการควบคุมสต็อกสินค้า การจำหน่ายประจำวัน ระบบสมาชิก รายงานทางบัญชีการเงิน และระบบสต็อกสินค้าเสมือน (Virtual SKU) ที่สามารถสั่งสินค้าบางรายการจากร้านค้าส่งหรือร้านค้าออนไลน์อื่น เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่สมาชิกโดยไม่ต้องมีการเก็บสต็อกสินค้าทุกรายการไว้ที่ร้านค้าชุมชน ช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บสินค้า และมีระบบการบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยไปรษณีย์ไทยได้พัฒนา Marketplace ออนไลน์ ให้ร้านค้าชุมชนในโครงการสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com ให้มีรูปแบบให้ทันสมัย รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการยังไม่พร้อมจะนำสินค้าขึ้นในระบบหรือเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย ก็สามารถนำมาฝากขาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้

ส่วนที่สอง e-Payment : สำหรับโครงการจะพัฒนาระบบการชำระเงินให้ครอบคลุมทุกความต้องการในการชำระเงิน ได้แก่ การชำระเงินผ่านร้านค้าออนไลน์ได้ทั้งบัตรเดบิต เครดิต กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หักผ่านบัญชีธนาคาร เครื่อง ATM รวมทั้งการชำระเงินในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ณ ที่อยู่ผู้รับด้วยเงินสดบัตรเดบิต/เครดิต เงินอิเล็กทรอนิกส์โดยร้านค้าชุมชนหรือผู้ผลิตสินค้าจะได้รับเงินผ่านระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการนี้ทันทีเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อและไม่มีการส่งคืนสินค้า

ส่วนที่สาม e-Logistics : เมื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสินค้า กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในชุมชนที่ผลิตสินค้าหรือบริการได้รับคำสั่งซื้อ จะนำสินค้าบรรจุกล่องแล้วนำไปส่งมอบให้แก่ร้านค้าชุมชน เพื่อดำเนินการจัดทำฉลากจ่าหน้า ผนึกบนห่อซองและทำการจัดส่งเข้าสู่ระบบงานขนส่ง ส่วนการพิมพ์นั้นขั้นตอนการพิมพ์ฉลากจ่าหน้าจะได้รับเลขที่สิ่งของในการจัดส่งโดยอัตโนมัติ จะทำให้ผู้ซื้อสินค้าได้ทราบสถานะการดำเนินการและเลขที่สิ่งของเพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบมายังระบบการจัดส่งสินค้าได้ด้วยตนเอง สำหรับการนำสินค้ามาฝากส่งเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์จะมีการประสานงานกับร้านค้าชุมชนในการให้บริการรับฝาก เช่น กำหนดสถานที่ในการจัดส่ง กำหนดวิธีการรับสินค้าว่าจะให้เดินทางมาส่ง ณ จุดใด หรือให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ออกไปรับฝากนอกสถานที่ในกรณีที่มีปริมาณงานจำนวนมาก ซึ่งจะดำเนินการด้านการเตรียมการจัดส่งและการแสดงสถานะสิ่งของจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

***ตั้งเป้า POS หมื่นจุดทั่วประเทศปีหน้า

ไปรษณีย์ไทย ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ POS แล้ว 20 จุดในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดน่าน อาทิ ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต น่าน 103 (กองควาย) และร้านค้าชุมชนพันดวง โดยไปรษณีย์ไทยมีเป้าหมายในการติดตั้งระบบ POS จำนวนทั้งสิ้น 200 จุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนภายในสิ้นปีนี้ และจะติดตั้งได้ 10,000 จุดทั่วประเทศในปีหน้า คาดว่าจะมีสินค้าเข้าระบบจำนวนกว่า 50,000 รายการ เพื่อเป็นช่องทางการให้บริการผ่านระบบที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

เป้าหมายของโครงการ คือ มีร้านค้าชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลุ่มสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า10% ของจำนวนหมู่บ้านที่มีการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2561 หรือไม่ต่ำกว่า 2,470 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีสินค้าหรือบริการไม่ต่ำกว่า10 รายการ รวมเป็นสินค้า 24,700 รายการ และมีผู้เข้าเยี่ยมชมสินค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ (Visitor) ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 ล้านคน (Unique User) และมีอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อ (Sale) 1% หรือ คิดเป็นเดือนละ 100,000 รายการสั่งซื้อ ราคาเฉลี่ยสินค้า 250 บาทต่อรายการสั่งซื้อ คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาทต่อเดือน

'โครงการนี้เป็นโอกาสในการสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนจากการใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อขายสินค้าและบริการในรูปแบบออนไลน์ เป็นโครงการที่สร้างสรรค์ประโยชน์ เสริมสร้างศักยภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้และพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานไปยังรูปแบบอื่นๆ อันจะเป็นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างแท้จริง'

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น