โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ปฏิบัติการ แก้วิกฤตซ้อนวิกฤต "การบินไทย"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 07.35 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2563 เวลา 07.35 น.
สุเมธ-ดีดีการบินไทย

เศรษฐกิจไทยสำลักพิษ “โควิด-19” กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักมาถึง 1 เดือนเต็ม ๆ แล้ว นับตั้งแต่ประเทศจีนประกาศมาตรการห้ามคนจีนเดินทางออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมากระทั่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดได้ลุกลามไปในหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชีย, อเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง ฯลฯ

ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขนนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง หลายสายการบินได้ประกาศปรับลดและยกเลิกเที่ยวบิน, ลดพนักงาน รวมถึงคุมเข้มค่าใช้จ่ายมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทย ไลอ้อนแอร์, ไทยสมายล์, นกสกู๊ต รวมถึงการบินไทย ทั้งข่าวลือ ข่าวจริง เต็มไปหมด โดยเฉพาะการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และยังอยู่เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์“สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ รวมถึงแผนการตั้งรับไวรัสโควิด-19 และการเอาตัวรอดในวิกฤตนี้ ไว้ดังนี้

“สุเมธ” กล่าวว่าต้องยอมรับผลจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนไม่เฉพาะธุรกิจสายการบินเท่านั้น บริษัทการบินไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะปริมาณผู้โดยสารในทุกตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการบินไทยนั้นได้เตรียมแผนรองรับไว้ตั้งแต่เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาด และมีวอร์รูมมอนิเตอร์สถานการณ์ช่วงเช้าของทุก ๆ วัน สำหรับประเมินสถานการณ์กันแบบวันต่อวัน เพื่อให้ปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ได้อย่าทันท่วงที

“ทุกสายการบินมีมาตรการที่ไม่เหมือนกัน เพราะเราอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างกัน บางประเทศอย่างญี่ปุ่นก็ไม่ได้กระทบทุกเมือง บางไฟลต์เราก็ยังมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ ดังนั้น ทุกอย่างไม่มีกฎตายตัว เพียงแต่ว่าแต่ละคนจะมีมาตรการอย่างไรในการับมือในแต่ละสถานการณ์”

และบอกว่า เวลามีคนถามว่าการบินไทยมีมาตรการอย่างไร ส่วนตัวก็จะตอบว่า ผมมีมาตรการของผมว่า เมื่อสถานการณ์ถึงจุดนี้ ผมจะทำอย่างนี้ สถานการณ์ถึงอีกจุดหนึ่ง ผมจะทำอย่างนั้น ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น ผมบอกไม่ได้ เพราะมันไม่มีสูตรสำเร็จ

“ที่สำคัญ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ ผมจะไม่ประกาศมาตรการออกไป เพราะถ้าประกาศไปแล้วก็ต้องทำ และก็จะทำให้คนตกใจไปด้วย ผมไม่อยากให้คนตื่นตระหนกจนเกินไป”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการบินไทยตัดสินใจใช้มาตรการปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินไปในหลายเส้นทาง ทั้งในจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, ดูไบ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณของผู้โดยสารที่ยังมีความต้องการเดินทาง และแน่นอนการปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินไปจำนวนหนึ่งนี้ส่งผลให้พนักงานบางส่วนได้รับผลกระทบด้านรายได้โดยตรงไปแล้ว

ส่วนของผู้บริหารบริษัทจะปรับลดเงินเดือนลงเฉลี่ย 15-25% ตั้งแต่ 1 มีนาคม-30 กันยายนนี้ รวม 6 เดือน โดยผู้บริหารระดับอีวีพี ปรับเงินเดือนลง 20% ค่าพาหนะ 30% ระดับวีพี ปรับลดลง 15% ค่าพาหนะ 20% ส่วนดีดีจะลดในอัตราสูงสุด ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจมีมาตรการเพิ่มเติมอีก

“ในแง่ของการบริหาร เราเองได้คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านด้วยมิติ ยกตัวอย่าง เช่น สายการบินคาเธ่ย์ฯที่โดนหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่เรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐ, ปัญหาฮ่องกง จนมาถึงโควิด-19 เขาก็ตัดสินใจหยุดหมดเลย เป็นต้น หรือสายการบินเอเชียน่าก็มีวิธีของเขา เรียกว่าทุกคนมีมาตรการของตัวเองหมด ส่วนที่แตกต่างกัน คือ สถานการณ์ที่ตัวเองประสบอยู่ ถามว่าการบินไทยจะทำเหมือนเขาหรือไม่ ก็ไม่สามารถตอบได้”

สำหรับ “การบินไทย” มาตรการการปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินที่ผ่านมานั้นเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจในบริบทของการบินไทยเอง ไม่ได้ตามใคร แค่ทฤษฎีง่าย ๆ ว่า “ไม่มีคนเดินทางเราก็หยุด” เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะบินเครื่องเปล่าโดยไม่มีผู้โดยสาร

“ส่วนตัวมองว่าการปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินเป็นเรื่องปกติ การบินไทยเอง เรามีพอร์ตในยุโรปที่ใหญ่พอสมควร เวลานี้ผลกระทบยังไม่ค่อยมี และที่ยังถือว่าดี คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไม่ได้เกิดพร้อมกันทุกภูมิภาค ยังมีจังหวะให้ตั้งรับได้ คนเป็นผู้บริหารหรือทีมผู้บริหารต้องวิเคราะห์ทุกจุด เพื่อพิจารณามาตรการรับมือให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ครบในทุกมิติ”

ต่อคำถามที่ว่า การตัดสินใจยกระดับมาตรการของการบินไทยนั้นขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง “สุเมธ” บอกว่า ขึ้นกับหลายเรื่อง หลายปัจจัย เรื่องรายได้รายจ่ายนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้นเอง อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะประเมินสถานการณ์อย่างไร เพราะแต่ละเรื่องมีหลายมิติมากที่ต้องพิจารณา

“ผมยืนยันว่าหากวันไหนการบินไทยจะมีมาตรการเพิ่มเติม ผมจะทำในจังหวะที่เหมาะสม และจะบอกว่าเหตุผลที่ผมต้องทำคืออะไร เพราะเราต้องอยู่บนสภาพความเป็นจริง”

“สุเมธ” ยังบอกอีกว่า ไม่เพียงแต่การปรับลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรเท่านั้น ทางการบินไทยก็ได้พยายามเข้าไปขอเจรจากับทางพันธมิตร คู่ค้าในทุกภาคส่วนเพื่อขอปรับลดค่าใช้จ่าย เช่น ขอให้บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. พิจารณาปรับลดค่าแลนดิ้งฟี, ค่าปาร์กกิ้งฟี เป็นต้น

ใครที่เป็นคู่ค้าของการบินไทยและการบินไทยต้องจ่ายเงินให้ตอนนี้ บริษัทขอเจรจาหมดทุกรายการ เพราะต้องอย่าลืมว่าสถานะของการบินไทยในวันนี้มันเป็นสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤตอยู่ กล่าวคือ เดิมองค์กรการบินไทยก็วิกฤตอยู่แล้ว เพราะยังอยู่ในแผนฟื้นฟู การดำเนินการก็ต้องบริหารเพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ เมื่อเจอไวรัส โควิด-19 เข้ามาอีกหนึ่งปัจจัย ทำให้องค์กรยิ่งวิกฤต

“ตอนนี้เราต้องมาดูและแก้ปัญหาทีจะอย่าง และต้องถามว่าสถานการณ์ในวันนี้ คุณจะมุ่งเอากำไร หรือว่าคุณจะเอาแค่อยู่รอด ตอบเลยว่าท่ามกลางวิกฤตแบบนี้ ผมขอเอาชีวิตให้รอดก่อน และขอย้ำว่า หน้าที่ของผมในวันนี้ คือ เอาบริษัทให้รอด เมื่อองค์กรผ่านวิกฤตและอยู่รอดได้แล้ว ค่อยมาพุดถึงเรื่องของกำไรกันใหม่”

ดีดีการบินไทยยังทิ้งท้ายด้วยว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารการบินไทยเผชิญวิกฤตหนัก ๆ ทั้งนั้น แต่ก็คิดว่าตัวเองมาถูกเวลาแล้วเพราะการแก้วิกฤตเป็นสิ่งที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาผมอยู่ในที่วิกฤตและเจอวิกฤตมาตลอด แต่ก็ถือว่าตัวเองโชคดี เพราะว่ามันจะสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการแก้วิกฤตสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ผมว่าบริหารงานดี ไม่ดี มันต้องดูตอนจบ วันนี้มันเพิ่งเริ่มต้นระฆังยกแรก ที่ผ่านมาก็มีคนด่าผมเยอะว่า มาอยู่ตั้งปีกว่าแล้วไม่เห็นบริษัทรอดเลย ผมก็อยากบอกจังว่า รู้ไหมว่าตอนที่ผมเข้ามาบริหารงานนั้น สถานะของบริษัทอยู่ในจุดไหน ผมว่าทุกอย่างมันต้องค่อย ๆ ทำไป”

ดีดีการบินไทยยังย้ำในตอนท้ายว่า มาตรการปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินที่ประกาศไปแล้วนั้น เป็นเพียงแต่มาตรการขั้นเริ่มต้นเท่านั้น นั่นหมายความว่าเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายโดยรวมจะไม่ใช่เพียงเท่านี้แน่นอน สเต็ปต่อไป คือต้องมอนิเตอร์ในทุก ๆ จุดทุก ๆ บริบทอย่างละเอียดขึ้นแน่นอน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0