โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บ้านสร้างเองไม่ง้อแบงก์ขนเงินออมสร้างบ้าน

Manager Online

เผยแพร่ 27 ม.ค. 2563 เวลา 01.37 น. • MGR Online

การชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ตลอดปี 2562 และยังคงมีทิศทางต่อเนื่องในปี 2563 ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือ LTV ขณะเดียวกัน แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อตลาดส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในปี 2563 นี้ ภาพรวมของธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม จะยังคงชะลอตัวต่อจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดอสังหาฯ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปีนี้ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น เชื่อว่ายังมีงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจ็ต์ขนาดใหญ่เข้ามาที่ต่อเนื่อง แต่ในส่วนของ โครงการภาคเอกชนจะมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทำให้ตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการหดตัวตามตลาดอสังหาฯ

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ ธุรกิจที่อยู่อาศัยในแวดวงของการก่อสร้าง และอสังหาฯ ต่างถูกคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับตลาดอสังหาและธุรกิจก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบ จากการชะลอตัว ของทั้งสองตลาดไปด้วย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความเป็นจริงในตลาด ได้สะท้อนออกมาให้เห็นแล้วว่า ตลาดรับสร้างบ้าน หรือตลาดบ้านสร้างเอง ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่า เป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ของตลาดอสังหาฯ กลับมีทิศทางที่แตกต่างจากตลาดอสังหาฯ โดยสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจรับสร้างบ้าน จะเป็นธุรกิจที่พัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยกันทั้งคู่ แต่ความต่างของธุรกิจนี้ คือ ธุรกิจอสังหาฯ คือการพัฒนาโครงการ ที่อยู่อาศัยบนที่ดินจัดสรร พร้อมสาธารณูปโภค ซึ่งเอกชนดำเนินการอย่างครบวงจร

ขณะที่ธุรกิจรับสร้างบ้าน คือการ ก่อสร้างบ้านบนที่ดินของผู้บริโภค โดยบริษัทรับสร้างบ้าน จะทำหน้าที่ ขออนุญาตก่อสร้างพร้อมแบบแปลน และบริหารจัดการงานก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญาที่ตกลงร่วมกับผู้บริโภค ซึ่งลูกค้าบริษัทรับสร้างบ้านนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือกลุ่มที่ใช้เงินออมในการสร้างบ้าน และกลุ่มที่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในการสร้างบ้าน และโดยมากแล้ว ลูกค้าบริษัทรับสร้างบ้านนั้นจะใช้เงินออม ของตนเองในการสร้างบ้าน ทำให้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่กระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค มากเท่ากับ การซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการ คอนโดมิเนียมหรือโครงการจัดสรร ซึ่งพัฒนาโดยผู้ประกอบการอสังหาฯ

ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้สินเชื่อในการก่อสร้างบ้าน ถือว่ามีจำนวนน้อย แต่มีข้อได้เปรียบ จากการขอสินเชื่อในวงเงินที่ต่ำ ขณะเดียว กันก็มีสินทรัพย์ประเภทที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้โอกาสถูกปฏิเสธสินเชื่อมีต่ำกว่ากลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านจัดสรรหรือโครงการคอนโดมิเนียม ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่างๆจึงเริ่มให้ความสนใจตลาดรับสร้างบ้านและทยอยในการเพิ่มสัดส่วนให้สินเชื่อในตลาดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศมาตรการ LTV ส่งผลให้สถาบันการเงินตื่นตัวและเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสียหรือ NPL กลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้สถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯและบ้านจัดสรร คือ กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ กลุ่มผู้บริโภคที่สร้างบ้านเอง ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ แต่ความกังวลของสถาบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มการออกมาตรการ LTV รวมไปถึงกระแสข่าวแนวคิดการออกมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR limit) ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สถาบันการเงินหลายแห่ง เริ่มเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มบ้านสร้างเองมากยิ่งขึ้น โดยมีสถาบันการเงินบางแห่งมีนโยบายชะลอการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มตลาดบ้านสร้างเอง จนส่งผลกระทบต่อตลาดรับสร้างบ้านหลังบังคับใช้ LTV

แหล่งข่าวจากบริษัทรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า การเข้มงวดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ส่งผลกระทบต่อ กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในตลาดรับสร้างบ้าน โดยเฉพาะในตลาดระดับล่าง ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมีการปรับตัวขยับขึ้นไปจับกลุ่มลูกค้าตลาดกลางบนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ บริษัทรับสร้างบ้านที่จับกลุ่มตลาดล่างมาโดยตลอด บางรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ต้องมีการปิดตัว และยุติการดำเนินธุรกิจไป

จากแนวโน้ม ธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดรับสร้างบ้านจะมีอัตราการหดตัวสูงและจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปี 2563 ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน กังวลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้าน กลับเริ่มฟื้นและ ขยายตัวได้ในช่วง ปลายปี 2562

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่าในช่วงต้นปีผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดอย่างมากเนื่องจากการชะลอการตัดสินใจก่อสร้างบ้านในกลุ่มลูกค้า สะท้อนทิศทางตลาดในปี 2562 ค่อนข้างชัดเจน แต่ในช่วงปลายปี demand กับพื้นตัว มีการขยายตัวให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งจากข้อมูล กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการพบว่าในช่วงต้นปี 2562 กลุ่มผู้บริโภคมีความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและ ระมัดระวังในการเลือกใช้บริการ สร้างบ้านกับผู้ประกอบการ มากกว่าปกติ ส่งผลให้ ระยะเวลาในการตัดสินใจ ยืดออกไป เนื่องจากลูกค้า มีการศึกษาข้อมูลของผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน และใช้ระยะเวลาในการ พิจารณาเลือกสรรผู้ให้บริการ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการความ เชื่อมั่นทำให้ผู้ประกอบการ ที่มีประวัติ และแบรนด์ที่น่าเชื่อถือได้รับการพิจารณาเลือกใช้บริการ

ขณะที่ในช่วงต้นปี 2563 นี้ดีมานที่เข้าสู่ตลาดรับสร้างบ้านยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดีมานด์ในตลาดจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ก็ยัง คง มีความระมัดระวังค่อนข้างสูงในการทำตลาด เนื่องจากปัจจัยลบรอบด้าน ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจากปี 2562 โดยในปีนี้ มีปัจจัยบวก ให้เห็นเพียง 3 ปัจจัยคือ ต้นทุนการก่อสร้างที่ยังคงไม่มีการปรับตัวขึ้น และการเดินหน้าบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการผ่อนปรนมาตรการ LTV ซึ่งน่าจะมีผลต่อการพิจรณาสินเชื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความเข้มงวดลดลงได้บ้าง

โดยในส่วนของต้นทุนก่อสร้างนั้นแน่นอนว่าส่งผลดีต่อ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้ในปีนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีที่ดิน แต่ยังไม่ได้ก่อสร้างบ้านเริ่มพิจารณา หรือมีแผนในการก่อสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองมากขึ้น และยังมีแนวโน้มการตัดสินใจ เร็วขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยบวกทั้ง 2 ตัวดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อ ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2563 ให้มีการขยาย ตัวและเติบโตสวนทางกับตลาดอสังหาฯ ที่แม้ว่าจะมีการออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง ให้เหลือ 0.01% แถมยังมีมาตรการ คืนเงินดาวน์ให้กับ ผู้บริโภคที่ซื้อบ้าน ภายในโครงการบ้านดีมีดาว และล่าสุด ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนมาตรการ LTV จากรัฐบาล แต่ทิศทางตลาดก็ยังไม่มีทีท่าว่า จะฝืน ตัวและกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้

นายพิสิษฐ์ เจียราภิรมย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซมพ์ บิลเดอร์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วง 7-8 ปีที่ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวที่ดี ซึ่งสวนทางกับตลาดอสังหาฯ เนื่องจากกลุ่มลูกค้า บ้านสร้างเองส่วนใหญ่ใช้เงินออมในการก่อสร้างบ้านกว่า65% ส่วนที่เหลืออีก 35% เป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในการก่อสร้าง ประกอบกับบ้านสร้างเอง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ได้มากกว่าโครงการจัดสรร ขณะเดียวกันลูกค้ายังสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบ บ้านได้ตามความต้องการ ทำให้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ชะลอตัวไม่กระทบกับตลาดรับสร้างบ้านมากนัก ทั้งนี้แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในปี 2563 นี้คาดการณ์ว่าตลาดรวมจะมีมูลค่าประมาณ 13,000 - 13,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 5-7 % โดยกลุ่มระดับ ราคา 3 - 10 ล้านบาทเป็นกลุ่มบ้านที่มีความต้องการสร้างมากที่สุด

"ผมเชื่อว่าธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องแม้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของเศรษฐกิจไทย โอกาสของรับสร้างบ้านที่เห็นได้ชัดเจนคือการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ในทางกลับกันต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นก็เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ"

ด้านนายพิศาล ธรรมวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ภายใต้แบรนด์ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2562 ที่มีการชะลอตัว รวมถึงปัญหาจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำท่วม ได้ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ภาครัฐออกมาตรการลดภาระเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอน แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากนัก เพราะเป็นแค่มาตรการในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ทั้งนี้บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้านก็ตาม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากำลังซื้อผู้บริโภคยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

“สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน แต่พีดีเฮ้าส์เองก็สามารถทำยอดขายได้เติบโตสวนทางเศรษฐกิจ จากการปรับกลยุทธ์และวางแผนรองรับไว้หลายด้าน อาทิเช่น การลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การเปิดตัวแบบบ้านใหม่ ๆ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างหรือสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ช่วยลดต้นทุนค่าก่อสร้าง รวมถึงการจัดโปรโมชั่นในทุกไตรมาส กระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจสร้างบ้านเร็วขึ้น ที่กล่าวมาทำให้ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถทำยอดขายรวมทุกสาขาได้ใกล้เคียงเป้าที่ตั้งไว้ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ” นายพิศาล กล่าว

อย่างไรก็ตามในปี 2563 นี้ถือเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากอีกปีหนึ่ง ด้วยเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่น่ากังวลและยังมองไม่เห็นปัจจัยบวก ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ แนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มมองเห็นวิกฤตจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลในวงกว้างขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงและมีหนี้สินเพิ่ม การหมุนเวียนของเศรษฐกิจระดับล่างฝืดเคือง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจเอกชน รวมไปถึงปัญหาความมั่นคงทางการเมือง ทั้งนี้คาดการณ์ว่าตลาดรับสร้างบ้านในปีหนูทองนี้ คงมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นในส่วนของบริษัทฯ จึงต้องวางกลยุทธ์การตลาด เพื่อเร่งกระตุ้นยอดขายในช่วงต้นปีให้ได้มากที่สุดก่อน รวมทั้งเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เชื่อว่าจะรุนแรงมากที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0