โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนกับช้างผ่านสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 09.48 น. • BLT Bangkok
บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนกับช้างผ่านสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำโครงการโลกของช้าง (Elephant World) เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายวัฒนธรรมระหว่างคนกับช้าง ณ หมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตคนกับช้างอาศัยอยู่ด้วยกันจำนวนมาก โดยได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio และเจ้าของรางวัล The Royal Academy Dorfman Award 2019, The Royal Academy of Arts, London และ ศิลปินศิลปาธร ประจำปี 2562 เข้ามารับหน้าที่ออกแบบโครงการ โดยใช้เวลากว่า 5 ปีกว่าจะสำเร็จลุล่วง และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

BLT จึงชวนพูดคุยกับผศ.บุญเสริมผู้ออกแบบโครงการฯนอกจากคุยถึงเรื่องการออกแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งสุดยิ่งใหญ่แล้วผศ.บุญเสริมยังถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตระหว่างคนกับช้างที่อาศัยอยู่ด้วยกันแบบที่ไม่เคยพบในโลกเป็นชีวิตที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองมากว่า 360 ปีผ่านงานสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์และช้าง

โครงการโลกของช้าง สร้างงาน สร้างโอกาส ให้ชุมชน

"โลกของช้างเป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งรัฐบาลให้งบประมาณมาสนันสนุนในการอนุรักษ์หมู่บ้านช้างหรือหมู่บ้านชาวกูยที่มีวิถีชีวิตคนกับช้างอยู่ด้วยกันซึ่งแตกต่างและไม่เหมือนที่ไหนในโลกถือเป็นลักษณะเด่นของหมู่บ้านช้างที่นี่" ผศ.บุญเสริมเริ่มเล่าถึงจุดประสงค์หลักในการสร้างโครงการโลกของช้าง

สาเหตุที่รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการนี้เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมามีปัญหาเกี่ยวกับช้างมากมายอย่างที่เรารับรู้คือช้างกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นกรุงเทพฯพัทยาเมื่อช้างมาอยู่ในเมืองก็เกิดปัญหามากมายทั้งการเจ็บป่วยตายการเกิดอุบัติเหตุและกีดขวางการจราจรรัฐบาลจึงมีนโยบายพาช้างกลับบ้านซึ่งช้างส่วนใหญ่ที่เข้ามาในเมืองนั้นเดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นแหล่งที่มีช้างมากที่สุดฉะนั้นโครงการโลกของช้างนอกจากจะเพื่อพาช้างกลับบ้านแล้วยังทำให้ช้างกลับมาสร้างงานสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้ชุมชนที่อยู่ในหมู่บ้านช้างด้วย

เมื่อถามถึงอุปสรรคในการเริ่มต้นทำโครงการฯผศ.บุญเสริมเล่าว่าชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดีเพราะเขารู้ว่าหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุนและรู้ว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นไม่ใช่ว่าเอาเงินไปให้หรือให้เงินเดือนเท่านั้นซึ่งโดยปกติช้างจะมีเงินเดือนรัฐบาลให้เงินเดือนช้างเพื่อให้คนนำเงินไปดูแลช้างความหมายคือช้างอยู่ได้คนก็อยู่ได้แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่พอเพราะการที่ให้เงินอย่างเดียวไม่ได้เกิดประโยชน์

"ผมถือว่าโครงการนี้ช่วยให้พื้นที่หนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดการรักษาวัฒนธรรมสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษนี่เป็นวิธีคิดที่ดีซึ่งโดยปกติแล้วงบประมาณต่างๆที่ออกมากว่าจะมาถึงสัตว์นั้นทีหลังเลยเพราะหลักๆก็จะคิดถึงคนก่อนแต่เมื่อคิดถึงสัตว์ก่อนก็ทำให้คนอยู่รอดได้เมื่อคนรอดธรรมชาติป่าแหล่งน้ำทุกอย่างก็อยู่รอดเพราะนี่คือวงจร"

การทำงานในแบบ Bangkok Project Studio

ผศ.บุญเสริมใช้เวลาในการออกแบบศึกษาข้อมูลทำวิจัยเพื่อเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่และอุปนิสัยของช้างเพื่อหาวิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

"ผมเริ่มวาดภาพในหัวก่อนว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นโครงการสูญเปล่าเพราะเงินเหล่านี้มาจากภาษีประชาชนสำคัญที่สุดคือทำแล้วต้องไม่ดูถูกคนดูไม่ดูถูกคนมาเที่ยวแปลว่าสิ่งต่างๆอาคารก่อสร้างทำแล้วต้องมีคุณค่ามีเรื่องราวบอกเล่าชีวิตของชุมชน"

ในการทำงานของผศ.บุญเสริมและ Bangkok Project Studio เริ่มจากการทำวิจัยเพื่อให้ได้เห็นภาพกว้างและลึกเชื่อมโยงได้ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะแค่ในหมู่บ้านแต่มองไปถึงเรื่องเศรษฐกิจประชากรสิ่งแวดล้อมและช้าง

"ชีวิตชาวกูยและช้างเป็นเรื่องราวที่ไม่เคยพบในโลกเป็นชีวิตที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองในพื้นที่แห่งนี้มากว่า 360 ปีคนและช้างอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันมีความสัมพันธ์เสมือนลูกหลานมากกว่าที่จะเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไปอยู่อาศัยในพื้นที่ชนบทที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทยมีประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทางคชศาสตร์เกี่ยวกับช้างเป็นมรดกสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน"

ผศ.บุญเสริมเล่าถึงประสบการณ์ที่มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับชาวกูยให้ฟังว่า "อย่างคุณลุงคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของช้างช้างเกิดอาการตกมันไปแทงลูกของคุณลุงจนเสียชีวิตแต่คุณลุงก็ยังเลี้ยงช้างตัวนั้นไว้จนถึงปัจจุบันลุงไม่ได้โกรธเพราะเป็นธรรมชาติของช้างที่จะเกิดอาการตกมันจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นนี่คือเหตุสุดวิสัยจะไปยิงช้างทิ้งให้ได้อะไร"

"ชาวกูยเลี้ยงช้างเหมือนสมาชิกในครอบครัวเหมือนลูกหลานดุได้ว่าได้คนเลี้ยงเป็นอย่างไรช้างก็เป็นอย่างนั้นคนอารมณ์ดีช้างก็อารมณ์ดีหลักการเดียวกับพ่อแม่เป็นอย่างไรลูกเป็นอย่างนั้นแต่บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งเป็นธรรมชาติของช้างเมื่อช้างตกมันเขาก็จะจำใครไม่ได้คนเลี้ยงก็ต้องมีวิธีการป้องกันจัดการในแบบคนเลี้ยงช้าง"

"ผมว่านี่คือปรัชญาธรรมชาติที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้นคือได้เห็นถึงทัศนคติซึ่งเรื่องนี้สอนกันไม่ได้เป็นทัศนคติที่สืบทอดกันมาของชาวบ้านว่าเขาสามารถอยู่ร่วมกับช้างได้เมื่อผมลงไปสัมผัสถึงและได้เรียนรู้"

ลมหายใจชาวกูย ชีวิตระหว่างคนกับช้าง

ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์กูยนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไรแต่สันนิษฐานได้ว่าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์กูยถือว่าเป็นชนชาติกลุ่มแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยหนาแน่นที่สุดคือพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

"ชาวกูยกระจัดกระจายกันไปในหลายหมู่บ้านแต่ที่หมู่บ้านตากลางมีการรวมตัวชาวกูยผู้เลี้ยงช้างมากที่สุดชาวบ้านอยู่กับช้างกันอย่างราบรื่นจนมาถึงช่วงเศรษฐกิจเติบโตทุกคนหันมาทำพืชเศรษฐกิจเมื่อไม่มีพื้นที่ปลูกก็ต้องไปถางป่าทำให้ช้างไม่มีที่อยู่ไม่มีแหล่งอาหารแหล่งน้ำเกิดความยากลำบากชาวบ้านไม่มีอาชีพอื่นเพราะเขามีอาชีพเดียวคือเลี้ยงช้างทำให้เกิดปัญหาทั้งคนทั้งช้างเลยออกมาตายเอาดาบหน้า" ผศ.บุญเสริมเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงการพาช้างกลับบ้าน

"เรากำลังมุ่งแข่งขันด้านเศรษฐกิจพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่งแต่ชีวิตชาวชนบทกลับแย่ลงคนเลี้ยงช้างพาช้างไปขอทานแลกเงินซื้ออาหารทำเครื่องรางต่างๆนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นก็ถ่ายรูปออกไปกลายเป็นภาพจำว่าประเทศไทยมีการทรมานสัตว์ในลักษณะนี้แต่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่รู้ที่มาว่าเพราะอะไรถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา"

"การนำช้างกลับบ้านเพื่อพวกเขาจะได้มีคนดูแลที่ถูกต้องที่นี่มีโรงพยาบาลช้างสาธารณสุขโรงดูแลช้างชราและมีสุสานช้างมีพิธีประเพณีต่างๆเป็นศูนย์รวมจิตใจรวมไปถึงมีแหล่งปลูกพืชเพื่อให้ช้างกินอาหารได้อย่างเหมาะสมมียาสมุนไพรสำหรับช้างเรื่องเหล่านี้เกิดจากการสืบทอดต่อๆกันมาหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่ามีแบบนี้ด้วยต้องลงไปสัมผัสถึงจะทราบเรื่องราว "

"สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อช้างแต่ทำเพื่อให้คนอยู่รอดด้วยผมเชื่อว่าเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ทุกคนจะอยากเข้าไปเยี่ยมชมเมื่อถึงเวลานั้นก็เป็นหน้าที่ของคนในชุมชนว่าจะทำอะไรต่อไป"

ออกแบบโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

สำหรับโครงการโลกของช้างในส่วนที่ผศ.บุญเสริมรับหน้าที่ดูแลและออกแบบประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์หอชมวิวและลานแสดงวัฒนธรรมของช้าง

"ก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้คือที่โล่งผมต้องทำให้พื้นที่โล่งนี้มีเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ในความหมายของผมไม่ใช่แค่ตัวอาคารแต่คือทุกอย่างตั้งแต่อาคารหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ 300-400 ปีต้นไม้ภูมิทัศน์ดั้งเดิมสิ่งเหล่านี้คือพิพิธภัณฑ์"

"ผมต้องการเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้และให้มันค่อยๆเติบโตและฟื้นฟูด้วยธรรมชาติโดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวตั้งต้นปลูกทัศนคติของคนในการทำความเข้าใจระหว่างคนช้างและป่าจึงเป็นที่มาของเรื่องราวลมหายใจชาวกูยชีวิตระหว่างคนกับช้าง"

ผศ.บุญเสริมเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบว่า "เราทราบว่าช้างดื่มน้ำ 200 ลิตรต่อวันอาบน้ำวันละ 1,100 ลิตรรวมเป็น 1,300 ลิตรต่อวันมีช้าง 207 เชือกจะต้องใช้น้ำประมาณ 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนแต่สุรินทร์ไม่มีน้ำเพียงพอยิ่งช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำมูลแม่น้ำชีแห้งก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้น้ำคำตอบคือขุดดินเพื่อให้ได้น้ำมาส่วนดินที่ขุดขึ้นมานั้นก็นำไปถมทำเป็นอัฒจรรย์ที่นั่งเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ของทรัพยากร"'

"เรานำหินบะซอลต์ที่ได้จากเหมืองหินตำบลนาบัวมาทับหน้าเพื่อให้เกิดความแข็งแรงเมื่อขุดลึกได้ระดับหนึ่งแหล่งน้ำก็จะโผล่มาเหมืองหินจึงกลายเป็นพื้นที่เก็บน้ำดินส่วนหนึ่งที่ได้มาก็จะนำไปปั้นเป็นหินส่งเข้าโรงอิฐนี่คือเห็นผลว่าเมื่อคุณเดินเข้าไปยังโครงการโลกของช้างทำไมถึงเห็นแต่อิฐกับดินเพราะนี่คือการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้แค่น้ำแต่เมื่อได้น้ำมาแล้วเราจะสามารถปลูกป่าและปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารและยารักษาโรคของช้างได้ด้วย"

พิพิธภัณฑ์ในแบบของ บุญเสริม เปรมธาดา

หากมองเข้าไปในพื้นที่โครงการโลกของช้างจะเห็นว่าตัวอาคารพิพิธภัณฑ์นี้ทำด้วยอิฐสีแดงหลายคนขนานนามพิพิธภัณฑ์นี้ว่าอียิปต์สุรินทร์เมื่อเดินเข้าไปอาจมีเสียงพร่ำบ่นว่าร้อนแต่เมื่อคุณเดินเข้าไปในอาคารจะรู้สึกเย็นขึ้นมาทันทีด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจากฝีมือของผศ.บุญเสริมเปรมธาดาผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio

"อาคารพิพิธภัณฑ์นี้ไม่มีมัลติมีเดียใดๆใช้แค่แสงแดดแสดงให้เห็นชีวิตของช้างและคนเล่าถึงชีวิตของช้างตั้งแต่เกิดจนตายเล่าถึงชีวิตของชาวกูยความสุขความทุกข์ความยากลำบากการไปตายเอาดาบหน้าเล่าถึงข้อกล่าวหาจากคนภายนอกและสุดท้ายผมก็สรุปให้เห็นว่านี่คือวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่แท้จริง"

"ผมไม่มีวันเล่าได้ซาบซึ้งเท่ากับคนในพื้นที่เมื่อคุณเข้าไปคุณจะได้รับรู้เรื่องจริงเมื่อคุณออกไปกลางแจ้งคุณจะได้เห็นของจริงได้เห็นความคิดทั้งหมดของผมผ่านสถาปัตยกรรม" 

"พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ต้องใช้อะไรนอกจากแสงแดดและธรรมชาติในการเล่าเรื่องซึ่งในแต่ละวันแสงก็จะเปลี่ยนไปในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกันหากคุณมาไม่ตรงเวลาก็อาจไม่เห็นพรุ่งนี้คุณก็ต้องมาใหม่นี่คือกลยุทธ์ในการทำให้คนอยากมาเรื่อยๆพิพิธภัณฑ์ก็จะถ่ายทอดให้เห็นถึงชีวิตของชาวกูยและช้างเมื่อดูเสร็จแล้วก็กลับออกไปคุณอาจจะไม่เข้าใจก็ได้แต่อยากให้รู้ว่าเมื่อคุณออกไปแล้วที่นี่ก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้สิ่งที่จะเปลี่ยนเขาได้คือธรรมชาติ"

หอชมวิว ห้องรับแขกสำหรับผู้มาเยือน

อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ได้รับความสนใจและมีเรื่องราวมากมายคือหอชมวิวหรือที่ผศ.บุญเสริมเรียกว่า Brick Observation Tower ห้องรับแขกสำหรับผู้มาเยือน

"ภาพของอาคารสูงตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแถบชนบทของจังหวัดสุรินทร์ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากภาพอาคารสูงในเมืองความตั้งใจที่จะทำอาคารสูงให้เป็นภูมิทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านช้างอาคารสูงที่เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างผืนดินป่าและหมู่บ้านเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ในความพยายามรักษาวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติการนำดินขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อสัมผัสอากาศธรรมชาติคือหัวใจของการออกแบบและเป็นที่มาของ “เสาบ้านช้าง” ที่ไม่ใช่อาคารแต่เป็นส่วนหนึ่งภูมิทัศน์"

เสาบ้านช้างเป็นเสาที่ชาวบ้านใช้เป็นที่อยู่ของช้างในช่วงวันที่ช้างต้องอยู่กลางแจ้งนอกเหนือไปจากการอยู่ร่วมกับคนในบ้านหลังเดียวกัน

หอชมวิวมีความสูง 28 เมตรกว้าง 8 เมตรยาว 14 เมตรทำด้วยอิฐทั้งอาคารรูปทรงรีมุมแหลมหนึ่งด้านเพื่อลดแรงปะทะของลมไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งรับภาระการต้านลมมากเกินไปรวมถึงช่วยให้ลมค่อยไหลไปตามผิวของอาคารส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งค่อยๆถ่ายเทเข้าสู่ตัวอาคาร

"นอกจากสร้างหอชมวิวเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสอากาศธรรมชาติและเห็นบริบทความเป็นไปของชาวกูยและช้างจากมุมสูงแล้วหากคนขึ้นไปปล่อยลูกยางนาลงมาลูกยางเหล่านั้นก็จะเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณ 29-50 เมตรถ้าโชคดีลมแรงลูกยางก็ปลิวได้ถึง 100 เมตรเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่งต่อไป"

สถาปัตยกรรมกับคุณภาพชีวิตคนในสังคม

สำหรับโครงการโลกของช้างจังหวัดสุรินทร์เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

"ผมภูมิใจเพราะคนก่อสร้างทั้งหมดคือคนสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียงเงินไม่รั่วไหลไปไหนแสดงให้เห็นว่านี่คืิอฝีมือของคนในท้องถิ่นซึ่งนี่คือเจตนารมณ์ของผมที่ต้องการให้เป็นอย่างนั้นเราสามารถใช้ของที่เป็นวัตถุในท้องถิ่นทั้งอิฐดินต่างๆก็เป็นของในพื้นที่"

"ผมพูดเสมอว่างานของผมจะไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จักที่ไหนก็ไม่รู้เข้าถึงยากแต่ทำให้ทุกคนอยากไปฉะนั้นงานของผมควรไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีหรือสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีต่อไปนี่คือเป้าหมายในการทำโครงการโลกของช้าง" 

"ที่คุณถามผมว่าอาคารที่สร้างนั้นเสร็จหรือยังผมบอกเลยว่าผมออกแบบอาคาร 50% หน้าที่ผมจบแล้วส่วนอีก 50% คือธรรมชาติแสงแดดลมน้ำฝนและคนในพื้นที่จะเป็นผู้ออกแบบต่อไปผมไม่สามารถออกแบบดวงอาทิตย์ได้แต่เป็นดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างนำทางในการออกแบบให้แก่ผม"

"สถาปัตยกรรมของผมทำเพื่อส่วนรวมเป็นสมบัติของสาธารณชนและสาธารณชนทุกคนสามารถเข้าไปหาประโยชน์ได้ต่อจากนั้นคงเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนที่จะเข้าไปหาประโยชน์อย่างไรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น" ผศ.บุญเสริมผู้ออกแบบโครงการโลกของช้างกล่าวทิ้งท้าย

----------------------

ที่ตั้ง หมู่บ้านช้าง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 32000

โทร. 044511975

http://www.elephantworldsurin.com

----------------------

ขอบคุณภาพจาก Spaceshift Studio

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0