โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรงเรียน "บุญวาทย์ ยุพราช ปรินซ์รอยแยลส์" กับการศึกษาในหัวเมืองสยามจากลิลิตพายัพ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 07 ธ.ค. 2563 เวลา 08.24 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2563 เวลา 07.34 น.
รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

การศึกษาเป็นหนึ่งในพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญมาทุกรัชกาล การศึกษาเป็นแบบแผนมากขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญด้านการศึกษาอันเนื่องมาจากพระราชประสงค์ที่ต้องการปรับปรุงสยามให้ทัดเทียมชาติตะวันตก

รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่าการปฏิรูประบบราชการซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2420 เป็นต้นมานั้นจะทำให้เกิดความต้องการ “คน” เข้ามาทำงานในระบบราชการแบบใหม่ ฉะนั้นการให้การศึกษาแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างมาก นำไปสู่การตั้งกระทรวงธรรมการ ใน พ.ศ. 2435 ซึ่งมีหน้าที่จัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ มีกรมในสังกัด 5 กรมคือ กรมธรรมการกลาง กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑ์ และกรมสังฆการี

ไม่นานหลังการก่อตั้งกระทรวงธรรมการ การศึกษาก็แพร่หลายไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ ในสยาม ในบทความนี้จึงขอยกโรงเรียนสำคัญ 3 แห่งในมณฑลพายัพ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาสยามในหัวเมืองมณฑลพายัพ

ลิลิตพายัพเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร แต่ทรงใช้พระนามแฝงว่า “หนานแก้วเมืองบูรพ์” (“หนาน” ในภาษาพื้นเมืองเหนือหมายถึงผู้ที่เคยอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว “แก้ว” หมายถึง วชิราวุธ และ “เมืองบูรพ์” หมายถึงพระอิสริยยศ กรมเทพทวารวดี)

โรงเรียนแรกที่ถูกกล่าวถึงในลิลิตพายัพคือ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ เสด็จพระดำเนินไปเปิดโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 ดังความว่า

วันที่ซาวหกนั้น           เสด็จไป

ทรงเปิดโรงเรียนไทย     ฤกษ์เช้า

บุญวาทย์วิทยาลัย        ขนานชื่อ ประทานนอ

เป็นเกียรติยศแด่เจ้า      ปกแคว้นลำปางฯ

 

ครั้นถึงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448 เสด็จฯโรงเรียนหลวงประจำมณฑลพายัพที่จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏในลิลิต ความว่า “ครั้นรุ่งขึ้นพระองค์ ทรงรัถยานขับรี่ สู่ที่ตั้งโรงเรียน อ่านเขียนหนังสือสยาม เล่าบ่นตามกำหนด หมดทั้งเลขวิทยา” ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย”

“…ที่สองวาระเช้า หน่อพุทธเจ้าทรงรถ แสนงามงดม้าเรียบ สองคู่เหยียบดินสนั่น รถหลายคันขับตาม ข้ามฝากทางสะพานดลถึงตำบลจะสร้าง โรงเรียนกว้างควรดู อันเหล่าครูผู้เพียร สอนคฤสเตียนลัทธิ อะเมริกะชาติ ฉลาดจัดทำขึ้นไว้ ปางรถไผทขับถึง จึงอาจารย์แฮริส เชิญพระอิศรธำรง ทรงดำเนินสู่บัลลังก์ ฟังครูแมคกิลเวรี่ กล่าววาทีอ่านอ้อน…”

“…ครั้นผองจบอาจารย์ แฮร์ริสอ่านสารเปรื่อง อธิบายเรื่องปรารภ จบแล้วเชิญยุพราช ให้ยุรยาตรตรงทรงวาง ศิลากลางสนามใหญ่ ให้เป็นฤกษ์เหลือดี ครั้นภูมีตรัสตอบ ขอบใจเสร็จเสด็จลง ทรงจับเกรียงถือปูน แล้วศิลาศูนย์ทรงวาง กลางที่ตามกำหนด ประทับรถบ่มิช้า สารถีขับสี่ม้า กลับเข้าคืนที่ประทับนาฯ…”

จากข้อความเบื้องต้นกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนเด็กชาย หรือ Chiengmai Boys’ School (อ้างอิงการสะกดตามหน้าเว็บไซต์ประวัติโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) หรือเป็นที่รู้จักกันในนามโรงเรียนชายวังสิงคำ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า “The Prince Royal’s College”

โดยทั้งสามโรงเรียนต่างก็ได้สะท้อนแนวคิดเรื่องพัฒนาการการศึกษาออกเป็น 3 รูปแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ 1. โรงเรียนอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 5 2. โรงเรียนของคณะมิชชันนารี 3. โรงเรียนของเจ้านายฝ่ายเหนือ

โรงเรียนอันเนื่องมาจากพระราโชบายของรัชกาลที่ 5 คือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งราว พ.ศ. 2442 ตามพระราโชบายของรัชกาลที่ 5 ในการขยายการศึกษาออกสู่หัวเมือง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และความต้องการจัดการศึกษาตาม “ประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง พ.ศ. 2441”

โรงเรียนของคณะมิชชันนารี คือโรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์วิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2428 สะท้อนให้เห็นถึงคณะมิชชันนารีที่ต้องการเผยแผ่ศาสนาตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยใช้การศึกษาที่เน้นด้านภาษาต่างประเทศในการดึงดูดในบรรดาผู้มีอันจะกินส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนคริสต์

โรงเรียนของเจ้านายฝ่ายเหนือ คือโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ซึ่งดำเนินการเรียนการสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 โดยได้รับความอุปถัมภ์จากเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเจ้านายฝ่ายเหนือก็ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเพื่อสนองแนวพระบรมราโชบายของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม

 

โปรโมชั่นพิเศษ ส่งท้ายปีซื้อนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 1 ปี (12 ฉบับ) ลด 15% พร้อมจัดส่งลงทะเบียนทุกฉบับ แถมฟรีอีก 1 เดือน (1 ฉบับ) เฉพาะวันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 คลิกดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่

อ้างอิง:

มงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ, พระบาทสมเด็จพระ.  (2511).  ลิลิตพายัพ.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: ประเสริฐการพิมพ์.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว.  (2559).  เปิดแผนยึดล้านนา.  นนทบุรี: มติชน.

อาวุธ ธีระเอก.  (2560). ภาษาเจ้าภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5.  กรุงเทพฯ: มติชน.

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย.  (2562). ประวัติการก่อตั้ง, จาก http://www.bwc.ac.th/index.php?modules=boss&file=show_history

โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย.  (2562). ประวัติความเป็นมา, จาก https://www.prc.ac.th/about.php?id=1&page=history

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย. (2562).  ประวัติโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, จาก http://www.yupparaj.ac.th/pages/about_yrc.php

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 21 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0