โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"บึงกาฬ" ฟันธง ทำได้จริง ลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2561 เวลา 13.01 น.
010

“ ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีช่วงการเปิดกรีดนาน 25-30 ปี ซึ่งแต่ละปี จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับบำรุงรักษาต้นยางค่อนข้างมาก ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา เจ้าของสวนยางพาราส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มักประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน เพราะมีรายได้จากการขายยางน้อยลง สวนทางกับปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบำรุงรักษาต้นยางได้ไม่เต็มที่

องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดบึงกาฬ  ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้เชิญ คุณประสงค์ หลวงทำเม ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “  ทำได้จริง  ลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์  ” บนเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2561

ลดต้นทุนในสวนยางด้วย “ ปุ๋ยอินทรีย์ ”

คุณประสงค์ หลวงทำเม ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ได้แนะนำให้เกษตรกรชาวบึงกาฬลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์  “ สูตรวิศวกรรมแม่โจ้1 ” ของ  ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ ใช้เศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีปริมาณมากครั้งละ 10 – 100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสีย

ขั้นตอนการผลิตใช้เพียงฟางข้าว เศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยไม่ต้องเหยียบ โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำทำแบบนี้เป็นชั้นบางๆ  15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น  กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงประมาณ 1.50 เมตร  เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ธาตุคาร์บอนและธาตุไนโตรเจน เจริญเติบโตและย่อยสลายวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว

การกองปุ๋ยวิธีนี้จะมีความร้อนจัดใน 5 วันแรก จะสังเกตเห็นไอร้อนลอยออกมาจากกองปุ๋ยเลยทีเดียว  ส่งผลให้อากาศเย็นกว่าที่อยู่ด้านนอกไหลเวียนเข้าไปแทนที่ จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจึงได้รับออกซิเจนไว้ใช้ในกิจกรรมการย่อยสลายโดยไม่ต้องพลิกกลับกองเลย

ภายในเวลา 2 เดือน เกษตรกรต้องคอยดูแลน้ำอย่างปราณีต โดยรดน้ำวันละครั้ง ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำไหลนองออกมามากเกินไป และทุก 10 วัน ต้องเอาไม้เจาะกองปุ๋ยถึงพื้นดิน กรอกน้ำลงไปในปริมาณพอเหมาะ ที่ทำให้ภายในกองปุ๋ยชื้นพอดี ๆ ไม่มีน้ำไหลนองออกมามาก เสร็จแล้วปิดรู  เจาะรวม 5 ครั้ง พอครบสองเดือน กองปุ๋ยก็จะยุบเหลือแค่ 1 เมตร ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการหมักปุ๋ย โดยไม่ต้องพลิกกองเลย ปล่อยให้กองปุ๋ยแห้งก่อน จึงค่อยนำไปปุ๋ยอินทรีย์ใช้งานหรือเก็บใส่กระสอบ การผลิตปุ๋ยวิธีนี้สามารถเก็บปุ๋ย ไว้ในร่มได้นาน 3-4 ปี

ข้อห้ามสำคัญในการผลิตปุ๋ยสูตรนี้คือ ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท คอยดูแลให้กองปุ๋ยมีความชื้นตามคำแนะนำ หากปล่อยให้กองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ยเพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และเกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

คุณประสงค์แนะนำให้ตั้งกองหมักปุ๋ยอินทรีย์ ระหว่างแถวต้นยาง เพราะสะดวกในการกระจายปุ๋ยหลังทำเสร็จแล้ว ผลการศึกษาพบว่า  ต้นยางที่อยู่ใกล้บริเวณกองปุ๋ยหมักอินทรีย์จะ มีใบเขียวมัน แสดงว่า  ความร้อนจากกองปุ๋ยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการเติบโตของต้นยาง  ปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ มีราคาต้นทุนการผลิตต่ำ เพียงแค่ 5-7 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น  ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนยางพาราได้อย่างดี

สำหรับต้นยางที่เปิดกรีดแล้ว มักมีปัญหาเรื่องโรคเส้นดำหรือโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า คุณประสงค์แนะนำให้แก้ปัญหาโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า โดยนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าที่ทำการเพาะเลี้ยงเชื้อแล้วในข้าวเจ้าจำนวน 1 ถุง( 250 กรัม) มาผสมน้ำ 5 ลิตร ทิ้งไว้ 10 นาทีกรองเอาเศษข้าวออก แล้วผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นบริเวณหน้ายางที่เปิดกรีดแล้วจะสามารถควบคุมการเกิดโรคเส้นดำในหน้ายางได้

หรือนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าจำนวน 1 ถุง ( 250 กรัม) มาผสมน้ำ 1 ลิตรแล้วนำมาป้ายหน้ายางโดยใช้พู่กันก็สามารถควบคุมโรคดังกล่าวได้ ช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในดูแลสวนยางพารา โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีราคาแพง และช่วยให้ต้นยางพารามีผลผลิตที่ดีขึ้นอีกต่างหาก

ปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตสูง  

ในวันเดียวกันนี้ คณะผู้จัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ได้เชิญคุณชัชวาล ท้าวมะลิ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2561  มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ “  ทำนาข้าว รายได้ดี ด้วยระบบอินทรีย์  ”

กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ตำบลเชียงเพ็ง ภายใต้การนำของคุณชัชวาล ท้าวมะลิ นับเป็นกลุ่มชาวนาต้นแบบที่มีความเข้มแข็งแห่งหนึ่ง ของจังหวัดอุดรธานี เพราะมีสมาชิกมากถึง 200 ราย  มีเนื้อที่ปลูกข้าวรวมกัน  3,170 ไร่  พวกเขาแบ่งปันความรู้เรื่องการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว วางแผนการปลูก  การเก็บเกี่ยว และพัฒนาตลาดร่วมกันอย่างเป็นระบบ จนได้สินค้าข้าวของพวกเขาผ่านการรับรองมาตรฐาน GAPจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ตำบลเชียงเพ็ง สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้ลดลงจากเดิม 3,650 บาทต่อไร่ เหลือแค่ 2,683 บาทต่อไร่  พร้อมเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้นจากเดิม 500 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่  การขายข้าวเปลือกเสี่ยงต่อการถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อ พวกเขาจึงนำข้าวเปลือกมาแปรรูปเป็นข้าวสาร ขายในชื่อการค้า “ข้าวทุ่งทอง ” และปลูกพืชอายุสั้นเช่น ถั่วลิสง พืชผัก เพื่อเป็นรายได้เสริมหลังนา

ปัจจุบัน คุณชัชวาลย์ ยังเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) บ้านโนนทอง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี  มีเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจจากทั่วประเทศแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

กว่าคุณชัชวาลย์จะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะ อาชีพทำนา เป็นงานหนักและเหนื่อย เขาขยัน ทำงานด้วยความอดทน เพื่อสร้างฐานะ ส่งลูก 2 คนจนเรียนจบ ปริญญาตรี

คุณชัชวาลย้อนอดีตให้ฟังว่า เขาเคยตัดสินใจผิดพลาด คิดว่า ทำนาไม่รวย สู้ไปขายแรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นดีกว่า ปรากฏว่า ถูกโกง เสียเงินฟรี ไม่ได้ไปทำงานญี่ปุ่น แถมต้องขายที่นาใช้หนี้ 2 แสน ท้ายสุดต้องไปกู้เงินธกส.มาซื้อที่นาคืนมา ต่อมา เขามีโอกาสเข้าอบรมเรื่องเกษตรแนวใหม่ ตามหลักปรัชญาเกษตรพอเพียง ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร จึงหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกข้าวระบบเกษตรอินทรีย์ ปลูกปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ทำปุ๋ยหมัก เชื้อโตรโคเดอร์ขึ้นใช้เอง ทำให้สภาพดินดีขึ้น  ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

จากเดิมที่เคยข้าวเปลือก ก็หันมาขายข้าวสารและแปรรูปข้าวฮางเป็นเครื่องดื่มชนิดผง เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถซื้อที่ดินเพิ่มอีก 10 ไร่  ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมชมกิจการ  ศพก.บ้านโนนทอง ของ คุณชัชวาลย์ ท้าวมะลิ ได้ที่บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 7 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โทรศัพท์ (086) 221-4393

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0