โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"บีบีเอส" ชนะ "ซีพี" ยึดสนามบินอู่ตะเภา ให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว คุ้มหรือเจ็บ

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 06.39 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 06.34 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

*เป็นอันว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส คว้าชัยชนะประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่ามหาศาล 2.9 แสนล้านบาท ด้วยการเสนอราคาให้ผลตอบแทนรัฐ 50 ปี สูงสุด 3.01 แสนล้านบาท *

ภายหลังเปิดข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคาของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี และพันธมิตร เสนอให้ผลตอบแทนรัฐ 1 แสนกว่าล้านบาท หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้สิทธิ์กลุ่มซีพี ประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แม้ยื่นเอกสารล่าช้าเกินเวลาไป 9 นาที

ส่วนข้อเสนอของกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน), บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ได้ทําการเปิดเอกสารซองที่ 3 ไปแล้วก่อนหน้าพร้อมกับกลุ่มบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 1 แสนล้านบาท และขั้นตอนต่อไปกลุ่มบีบีเอส ซึ่งเสนอราคาสูงสุดจะเข้าสู่การเจรจาก่อนการลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับกองทัพเรือ โดยต้องให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ก่อนจะประกาศผลอย่างเป็นทางการคาดในเดือน มี.ค.นี้

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วยบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้น 45% บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชาญวีระกุล ถือหุ้น 20% โดยมีสนามบินนานาชาตินาริตะ ผู้บริหารสนามบินอันดับใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก เป็นพันธมิตร

ก่อนหน้ากลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี และพันธมิตร ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท โอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเดิมคว้างานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไปแล้วมูลค่า 2.25 แสนล้านบาท โดยยอมให้รัฐอุดหนุนแค่ 117,227 ล้านบาท พร้อมกับคาดหวังว่าต้องคว้าชัยชนะในการประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อมาต่อยอดรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเดินหน้าก่อสร้าง แต่กลับเป็นรองกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส

แต่คงต้องลุ้น ระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอด้านราคาของผู้ยื่นข้อเสนอ จากข้อสมมติฐานต่างๆ และการประมาณการณ์ทางการเงิน เทียบกับระยะเวลาลงทุน 50 ปี ทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งตัวเลขห่างจากผู้เสนอราคาอันดับ 2 กว่า 2 แสนล้านบาท หรือหากกองทัพเรือเจรจากับกลุ่มบีบีเอสไม่ได้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ สามารถเลือกเจรจากับรายที่ 2 คือกลุ่มของซีพี ก็อาจเป็นไปได้ ทำให้การลงนามสัญญาร่วมลงทุน อาจยืดเยื้อออกไปอีก

ส่วนโครงการนี้จะส้มหล่นตกไปที่กลุ่มใดหรือไม่? เพราะการเสนอราคาผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด อาจตกม้าตายไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไปก็ได้ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" พูดคุยกับ "ดร.สุเมธ องกิตติกุล" ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติสก์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งมองว่า กลุ่มบีบีเอสของ "หมอเสริฐ" มีแนวโน้มน่าจะทำจริงอยู่แล้ว เนื่องจากการลงทุนพัฒนาสนามบินมีความเสี่ยงน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสาร อีกทั้งไม่มีความเสี่ยงเรื่องพื้นที่ที่จะต้องไปเวนคืนโดยกองทัพเรือดูแลได้อยู่แล้วไม่มีปัญหา ขณะที่การลงทุนรถไฟความเร็วสูง มีความเสี่ยงทั้งจากปริมาณผู้โดยสารและต้องใช้เวลาเวนคืนที่ดิน อาจทำให้โครงการล่าช้า

ข้อเสนอรายได้ให้กับรัฐเท่าที่ทราบยังไม่เสนอรายละเอียดอย่างชัดเจน คาดอีกหลายเดือนจะทำสัญญา ซึ่งอาจใช้เวลา 5-6 เดือน อีกทั้งการเสนอผลตอบแทนสูงมากเกินกว่าการประเมิน ดูแล้วมีความเสี่ยงหากเทียบกับระยะเวลาลงทุน 50 ปี ซึ่งแน่ใจหรือไม่จะเป็นไปตามเป้า แต่ส่วนใหญ่รัฐไม่น่าผิดพลาดเรื่องการพิจารณาก่อนการทำสัญญา คงไม่ให้เหมือนกรณี "แจส โมบาย" ทิ้งใบอุญาต 4G ยอมให้กสทช. ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาทไป หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาทได้

กรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐมากสูงสุด 3 แสนกว่าล้านบาท ต้องติดตามจะสะดุดขาตัวเองหรือไม่ อาจส้มหล่นตกไปที่กลุ่มซีพีก็ได้ แม้ว่าก่อนหน้าหวุดหวิดเกือบไม่ได้ประมูลก็ตาม.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0