โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บีบธุรกิจตัดท่อ นํ้าเลี้ยง'มารค์'อัดคสช.เล่น การเมืองแบบเก่าใช้เก้าอี้ล่อส่อขัดรธน.

ไทยโพสต์

อัพเดต 23 เม.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    “วิษณุ” โวหากเดือนมิถุนายนพรรคการเมืองไม่มาร่วมถกแล้วจะเสียใจที่ตกขบวน “อภิสิทธิ์” มาแรงปูดหนัก เผยนอกจากใช้พลังดูดแล้ว ยังส่งซิกให้ภาคธุรกิจอย่าต่อท่อน้ำเลี้ยง พร้อมใช้เก้าอี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีล่อใจ “วัชระ” โอ่เคยแจงแล้วใช้ทุน 4 หมื่นล้านตั้งพรรคทหาร “ท็อป” มองเป็นเรื่องดีรัฐบาลจะได้เข้าถึงรากหญ้า “อนุทิน” เชื่อไม่มีใครกล้าดูดคนภูมิใจไทย พร้อมรีบปัด “ครม.” ลงบุรีรัมย์ไม่เอี่ยวการเมือง  เมื่อวันจันทร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญพรรคการเมืองมาหารือในเดือนมิถุนายนว่ายังอีกนานกว่าจะถึงเดือน มิ.ย. จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคุยเรื่องอะไรบ้าง และพรรคการเมืองยังไม่ต้องรู้หรอก รู้เร็วก็ปฏิเสธเร็ว ด่าทอกันเร็ว จะทำให้เสียบรรยากาศเปล่าๆ เมื่อถึงเวลาตอนนั้นจะเห็นเองว่าตัวเองจำเป็นต้องมา ไม่เช่นนั้นจะตกขบวน ขอให้รอดูตอนนั้นดีกว่า แล้วจะรู้ว่าประโยชน์มันมี     ซักถามว่าการพูดคุยกับพรรคการเมืองก่อนเดือน มิ.ย.ที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้จะยังมีหรือไม่ นายวิษณุตอบว่าไม่ทราบ แต่ว่าเดือน มิ.ย.มีแน่ ประชุมแน่ พรรคการเมืองไม่มาเลยไม่เป็นไร แม่น้ำทุกสายที่มีอยู่ต้องประชุมกันอยู่ดี เพราะในคำสั่ง 53/2560 ใช้คำว่าอาจเชิญ หมายความว่าเชิญแล้วอาจมาหรือไม่มาก็ได้ ที่มีอยู่สามารถประชุมกันได้     เมื่อถามว่าหากพรรคการเมืองมาร่วมหารือแล้วมีความเห็นแตกกันจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่าไม่เป็นไร เพราะไม่มีการนับนิ้วหรือยกมือโหวตอะไร การประชุมอาจไม่จบในครั้งเดียว อาจมีครั้งต่อๆ  ไปหากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน     สำหรับกรณีการดูดนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในรายการต้องถามว่า นอกจากได้ยินเรื่องดึงพรรคพลังชลก่อนหน้านี้แล้ว ยังได้ยินเรื่องกระบวนการของรัฐ คนที่มีอำนาจรัฐจะมาเล่นการเมือง ซึ่งไม่จำเป็นต้องลง ส.ส. แต่อาจใช้สถานะตรงนั้นในการติดต่อภาคธุรกิจ ส่งสัญญาณว่าไม่ควรสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด  ซึ่งคิดว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากหลายระบอบที่เราต้องต่อสู้ในอดีต และคิดว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจขณะนี้ยุ่งกับการเมือง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งต่อไป     “ผมได้ยินมาอีกว่าตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรียังเสนอให้หลายคนหลายพรรค เสนอตำแหน่งไม่ใช่กับเพียงตระกูลสะสมทรัพย์ แต่ประชาธิปัตย์ก็เสนอเช่นกัน และคิดว่าเป้าหมายของพรรคนี้ต้องได้รับเสียงพอสมควร อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 25 เสียง” นายอภิสิทธิ์กล่าว     นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ปชป.กล่าวประเด็นนี้ว่า เคยแถลงไปก่อนหน้านี้แล้วว่ามีความพยายามระดมเงิน 4 หมื่นล้านบาทเพื่อจัดตั้งพรรคทหารสืบทอดอำนาจ และได้บอกผู้ใหญ่ในพรรคแต่ผู้ใหญ่ในพรรคไม่เชื่อ แต่ปัจจุบันข่าวก็ออกมาเป็นระยะว่ามีการระดมเงินจำนวนมากเพื่อดูด ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ให้ไปสนับสนุนพรรคการเมืองของทหาร ชทพ.ชี้ทำให้เข้าใจรากหญ้า     ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีนักการเมืองเข้าไปร่วมกับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สังคมได้เห็นแล้วว่าการบริหารงานของ คสช.อาจตรงแบบทหาร ทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหารากหญ้า การที่นายกฯ มีนักการเมืองเข้าไปช่วยให้คำปรึกษา รัฐบาลจะได้เข้าถึงประชาชนว่าต้องการหรือเดือดร้อนเช่นไร จะได้เห็นภาพจริงๆ มากกว่าคนอื่นมาเล่าให้ฟัง      เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการขายตัวให้ คสช. นายวราวุธกล่าวว่าแล้วแต่มุมมอง มองดีก็มองได้ มองไม่ดีก็ได้ วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวเรือใหญ่ที่นำเรือออกทะเลไปแล้ว เราไม่สามารถเปลี่ยนเรือได้ แต่สามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานของเรือลำนี้ได้ การปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะทำให้เรือไปถึงฝั่งด้วยความเข้มแข็ง ส่วนที่มองว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่นั้น  คิดว่าท้ายที่สุดตัวเลขหลังการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสินว่าการฟอร์มรัฐบาลจะเป็นอย่างไร วันนี้ได้แต่คาดการณ์ ยังไม่มีใครถามนายกฯ ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นคิดว่านาทีนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์ต่างตอบแทน แต่เป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานของรัฐบาลมากกว่า ส่วนเรื่องการดูด ส.ส.ก็เป็นเรื่องปกติของการเลือกตั้ง มีออกและมีเข้าอยู่ตลอด แต่ที่แน่ๆ ชทพ.จะปักธงบนแผนที่ของไทยทุกภาคหลังการเลือกตั้งอย่างแน่นอน      “ขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะมุ่งมั่นทำงานการเมืองไทยต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องมีหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ สมาชิกเป็นคนตัดสิน ผมไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้า เพราะถึงอย่างไรศิลปอาชาจะอยู่กับ ชทพ.ตลอดไป พวกเราทุกคนรวมไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา  จะมุ่งมั่นต่อสนามการเมืองเพื่อพัฒนาให้พรรคเป็นอีกหนึ่งเสาหลักและเป็นความหวังของสังคมไทยในการเมืองยุคใหม่” นายวราวุธกล่าว     ขณะเดียวกันที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมงานทำบุญครบรอบ 2 ปีการเสียชีวิตของนายบรรหาร ศิลปอาชา  อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ว่านายบรรหารถือเป็นอดีตนายกฯ ที่นักการเมืองทุกคนเคารพ ไม่มีนัยใดทางการเมือง เพราะพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนามีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาโดยตลอด ส่วนกรณีมีข่าวระบุว่าสมาชิกของพรรคชาติไทยพัฒนา อาทิ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.พิจิตรจะมาอยู่กับ ภท. ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนพูดคุย เพราะมีบุคคลที่นำรายละเอียดมาบอกให้ทราบว่านายศิริวัฒน์จะเข้ามาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ      "ผมไม่มีอะไรต้องเคลียร์ใจกับคุณวราวุธ เพราะที่คุยๆ กันไม่มีกรณีที่พรรคภูมิใจไทยไปดึงตัวคนของชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีคนที่รับผิดชอบไปคุยมา แต่ยังไม่มีอะไรมาก เพราะต้องรอวันเลือกตั้ง ส่วนภูมิใจไทยกับชาติไทยพัฒนาถือเป็นพรรคพี่พรรคน้องคุยกันรู้เรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฮั้วกัน" นายอนุทินกล่าว ภท.โอ่มีคนมาเสนอตัว     นายอนุทินยอมรับว่าที่ผ่านมามีคนนำรายชื่ออดีต ส.ส.มาให้พิจารณาสัปดาห์ละ 50-60 คน พร้อมระบุว่าได้คะแนนนิยมและเป็น ส.ส.ได้แน่ หากเชื่อพรรคภูมิใจไทยคงมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 2,000 คนแล้ว ดังนั้นทั้งหมดยังเป็นแค่การคาดการณ์ จนกว่ามีการเลือกตั้งและทราบผล ส่วนการดึงตัว ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น จากการลงพื้นที่พบปะกับอดีต ส.ส.และผู้สมัครหน้าใหม่ยังมั่นใจว่าจะอยู่กับพรรคต่อไป ทั้งนี้บุคคลที่ไม่ได้เข้ายืนยันเป็นสมาชิกพรรคภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่ได้แปลว่าอนาคตเขาจะไม่อยู่กับพรรค เพราะการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งปัจจัยสำคัญคือการเป็นสมาชิกพรรคก่อน 90 วันที่จะเลือกตั้งทั่วไป     เมื่อถามถึงข้อสังเกตการลงสนามเลือกตั้งของพรรคการเมืองขั้วผู้มีอำนาจ นายอนุทินตอบว่าไม่มีความกังวล เพราะหากไม่มีพรรคของ คสช.ก็ยังต้องแข่งขันกับอีกหลายพรรคการเมือง และพรรคการเมืองของจริงในระบบการเมืองไทย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ไม่มีพรรคไหนที่ไม่เคยเป็นพรรคฝ่ายค้าน และไม่มีพรรคไหนผ่านการเลือกตั้งโดยไม่แข่งขัน ที่ผ่านมาช่วงภูมิใจไทยเป็นฝั่งรัฐบาลรับผิดชอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม มีอำนาจรัฐเหมือนกัน แต่ยังไม่เข้าเป้า เพราะการแข่งขันขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของประชาชนและนโยบาย รวมถึงความขยันของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.     "ทุกพรรคการเมืองต้องแข่งขันในกติกา และเมื่อผลเลือกตั้งออกมาก็ต้องยอมรับ ต้องทำตามกติกาตามประเพณีมารยาทอันดีทางการเมือง ซึ่งการแข่งขันกันช่วงนี้ไม่มีพรรคไหนที่ได้เปรียบไปมากกว่ากัน หรืออยู่เหนือกันไปไม่เท่าไหร่ ที่ผ่านมาหากคนที่บอกว่าได้ ส.ส. 50 คนหรือ 80 คน ทำไมต้องวิ่งรวมกลุ่มกัน ไม่จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองไปเลย หากทำได้ง่ายผมก็จะขอไปลงสมัครด้วย" นายอนุทินกล่าว นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เตรียมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ที่ จ.บุรีรัมย์และสุรินทร์ช่วงต้นเดือน พ.ค.ว่าไม่มีนัยทางการเมือง เป็นการเตรียมการประชุมไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน และในฐานะที่เป็นคนพื้นเพ จ.บุรีรัมย์ พร้อมให้การต้อนรับ โดยไม่เกี่ยวและขออย่าให้โยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้กรณีที่ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์จะไปดูการเตรียมความพร้อมของการจัดแข่งขันโมโตจีพี ที่สนามบุรีรัมย์ อินเตอร์เนชั่นเนล เซอร์กิต ที่นายเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาโครงการสนามรถแข่งรับผิดชอบ ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนที่คาดการณ์ว่าอาจเป็นการพูดคุยเพื่อเตรียมดึงตัวไปร่วมงานรัฐบาลนั้น เชื่อว่านายเนวินคงทำหน้าที่ปัจจุบันมีความสุขและมีความมันอยู่แล้ว     "ในฐานะคนพื้นที่ต้องต้อนรับ ครม.และนายกฯ ที่จะพบปะกับประชาชน และฐานะที่เคยเป็น ส.ส.ต้องให้ความร่วมมือเพื่อนำปัญหาของประชาชนไปนำเสนอ อย่าไปกังวลหรือโยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง ส่วนที่หลายคนคาดว่าคนของพรรคภูมิใจไทยอาจถูกทาบทามไปร่วมงานรัฐบาลนั้น ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครกล้าดึงคนของพรรคไปแน่" นายอนุทินกล่าว พรรคใหม่ขอเป็นฝ่ายค้าน     วันเดียวกันที่โรงเรียนอนุบาลเลิศนุวัตร แกนนำพรรคพลังพลเมืองไทย นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้แถลงข่าวว่า พรรคมีนโยบายหลักคือลดความขัดแย้ง ลดความเหลื่อมล้ำ และตั้งใจจะมาเป็นฝ่ายตรวจสอบ ถ้ามีโอกาสเลือกได้ต้องการเป็นฝ่ายค้านเพื่อทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรให้พี่น้องประชาชน ไม่สนใจเรื่องฝ่ายบริหารเพราะเสียงน้อย และขอเชิญชวนเพื่อนๆ ที่เริ่มก่อตั้งพรรค เริ่มจดทะเบียน แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต.และ คสช. ถ้าเห็นว่าธุรการด้านการตั้งพรรคนั้นยาก อยากเชิญชวนเพื่อนๆ มาร่วมกับพรรคพลังพลเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายไหนก็แล้วแต่ มีที่นั่งให้ มาใช้ความคิด มาต่อสู้ร่วมกัน ถ้าเป็นไปได้  “อยากเชิญชวนพรรคที่ก่อตั้งสำเร็จแล้ว ทั้งที่เป็นพรรคใหม่ พรรคเก่าแก่ ถ้ามีอุดมการณ์ตรงกัน อยากมาเป็นฝ่ายตรวจสอบ มาเป็นสหพรรคเพื่อต่อสู้กับพรรคการเมืองที่คิดว่าจะเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งฝ่ายที่กำลังล่า ส.ส.และฝ่ายที่กำลังตั้งพรรคใหม่ กลุ่มทุน เนื่องจากทุกวันนี้การตรวจสอบของเราอ่อนแอ  หน่วยงานตรวจสอบสูงสุดของประเทศ อาทิ ป.ป.ช.ยังไม่เป็นที่เชื่อถือของประชาชน” นายสัมพันธ์กล่าว     เมื่อถามว่าพรรคสนใจร่วมพูดคุยกับพรรคของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หรือไม่ นายสัมพันธ์กล่าวว่ายินดีพูดคุย เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการติดต่อแต่อย่างใด     ทั้งนี้ในการแถลงข่าว นายเอกพร รักความสุข อดีต รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม หนึ่งในแกนนำพรรคได้แจกจ่ายเอกสารการปรับโครงสร้างทางการเมืองไทย โดยมีหัวข้อความเป็นจริงของการเมืองไทยที่มีการไล่ลำดับปัญหาความขัดแย้งในอดีตจนเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในรอบห่างกันไม่ถึง 10 ปี รวมถึงนโยบายพรรคที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แบ่งออกเป็น 10 หัวข้อเช่นกัน      ในเอกสารยังระบุด้วยว่า พรรคพลังพลเมืองไทยจะเป็นพรรคการเมืองที่เปิดกว้างในการรักษาระบบรัฐสภา ด้วยการเป็นแกนกลางในการประสานทุกพรรคการเมือง เพื่อร่วมมือกันทำให้ระบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง เป็นระบบการเมืองที่พลเมืองไทยไว้วางใจได้ พรรคพลังพลเมืองไทยพร้อมร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองตั้งแต่เวลานี้ เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนาระบบรัฐสภาที่มีความเข้มแข็ง  ส่วนขั้นตอนและรายละเอียดในการทำกิจกรรมร่วมกันของทุกพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งการรวมตัวในรูปแบบสหพรรค ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของทุกพรรคการเมืองเป็นหลัก เป้าหมายสำคัญวันนี้อยู่ที่การดับไฟการเมืองด้วยระบบรัฐสภา ซึ่งพรรคพลังพลเมืองไทยจะได้ประสานกับทุกพรรคการเมืองต่อไป     สำหรับการความเคลื่อนไหวเรื่องการยืนยันสมาชิกพรรคนั้น นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า หลังจากได้ไปตรวจสอบการขึ้นทะเบียนยืนยันสมาชิกเดิมของพรรคหลายจังหวัด พบว่าสมาชิกต่างเสียดายโอกาสที่มีเวลาน้อยในการยืนยันการเป็นสมาชิก เพราะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงอยากเสนอประธาน คสช.เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้มีเวลาพบปะกับตัวแทนของพรรคเพื่อจะได้ยืนยันสมาชิกอย่างสบายใจ     "ไหนๆ เวลานี้ก็ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์มีนายสมคิดเป็นเถ้าแก่เตรียมตั้งพรรคการเมืองรองรับ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินสร้างความนิยมไปพลางๆ พร้อมเดินสายดูดกลุ่มการเมืองพื้นที่เจ้าพ่อเจ้าแม่เข้าสังกัด ยังไม่นับงบประมาณโครงการต่างๆ ที่ลงในจังหวัดเหล่านั้น จุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะก็ได้เปรียบหรือเอาเปรียบไปหลายขุมแล้ว ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยืดเวลาการยืนยันสมาชิกเดิมของสถาบันการเมืองอื่นน่าจะเป็นการโชว์สปิริตในฐานะลูกผู้ชาย” นางมัลลิกากล่าว      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค ปชป.กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งคำชี้แจงเพิ่มเติมให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าทีมกฎหมายได้หารือกันเพื่อจัดทำข้อสรุปเนื้อหาคำชี้แจง ก่อนนำไปชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 เม.ย.นี้ โดยมีประเด็นสำคัญที่มั่นใจว่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ศาลเข้าใจถึงเหตุผลการยื่นคำร้องของพรรค  และเข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริง คือการยืนยันสมาชิกพรรคซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงขณะนี้พบว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ การมีวันหยุดราชการจำนวนมากในเดือน เม.ย. ทำให้เหลือเวลาเปิดทำการได้เพียง 20 วัน ประชาชนไม่อยู่ในภูมิลำเนา ซึ่งส่งผลต่อการยืนยันตัวเองของสมาชิกพรรค เพราะพรรคมีสมาชิกมากกว่า 3 ล้านคน การใช้ระยะเวลายืนยันสมาชิกเพียงแค่ 30 วันถือว่าไม่มากพอ      นายวิรัตน์กล่าวต่อว่า นายอภิสิทธิ์จะเรียกประชุมทีมกฎหมายของพรรคในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 14.00 น.เพื่อตรวจสอบคำชี้แจง รวมถึงประเด็นที่อาจแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งหารือกันถึงข้อสรุปว่านายอภิสิทธิ์จะเดินทางไปชี้แจงต่อศาลด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ทีมกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการแทน แต่มั่นใจว่าศาลจะวินิจฉัยโดยเร็วเพื่อจะไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้ง.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0