โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"บิ๊กตู่" เปิดทำเนียบรับเจ้าสัว ซี.พี.เซ็นไฮสปีดอีอีซี 24 ต.ค.นี้ "ศักดิ์สยาม" ยืดจ่ายหนี้โฮปเวลล์

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 10.14 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 10.14 น.
_DSC1921

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การยืนยันวันลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท เป็นวันที่ 24 ต.ค.นี้ เกิดจากการตอบกลับของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนผู้ได้รับการคัดเลือกว่า พร้อมจะลงนามในวันดังกล่าว ซึ่งได้เชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 13.30 น. เป็นไปตามหลักการปกติ

เมื่อลงนามแล้วเสร็จ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งมอบพื้นที่ จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ ยืนยันว่าจะใช้หลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการ และเมื่อลงนามเสร็จจะนำสัญญาและเอกสารแนบท้ายมาเผยแพร่กับสื่อมวลชน เพื่อช่วยดูว่ามีสิ่งใดที่ยังไม่ทำตาม เพราะมีความคลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง เช่น มีการกล่าวหามีการปรับร่างสัญญาหลัก หรือใส่เงื่อนไขเอื้อเอกชนเพิ่มเข้าไป ซึ่งไม่มีการทำแบบนั้นเลย

“ผมประหลาดใจ เพราะช่วงที่ประชุมเรื่องส่งมอบพื้นที่ตอนแรก ผมกับรองอนุทิน (อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม) ถูกกล่าวหาว่าเอาเปรียบเอกชน แต่พอกำหนดวันลงนามได้ก็หาว่าเราเอื้อเอกชนอีก ก็ไม่รู้ะว่ายังไง แต่ทั้งหมดนี้เอาความชัดเจนจากเอกสารแนบท้ายและสัญญาเป็นหลัก โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะต้องยึด RFP เป็นหลักในการดำเนินการ” นายศักดิ์สยามกล่าาว

ส่วนข่าวการปรับแก้เอกสารแนบท้ายสัญญาที่เปิดให้ยกเลิกสัญญาเมื่อส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ ไม่เป็นความจริง เพราะในที่ประชุมการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยได้ยืนยันกับเจ้าของหน่วยงานระบบสาธารณูปโภคทั้ง 8 แห่งแล้วว่า พร้อมดำเนินกันหมดก็จบ และการเขียนให้ “Exit” ในสัญญาถือว่าเป็นหลักปกติอยู่แล้ว แต่เราจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนั้น ตนในฐานะคณะอนุกรรมการอีอีซีและปลัดกระทรวงจะติดตามประเด็นนี้

ส่วนการจ่ายค่าอุดหนุน 117,227 ล้านบาท ที่มีข่าวว่าจะเบิกจ่ายเมื่อสร้างและเปิดเดินรถส่วนใดส่วนหนึ่งได้ก่อนนั้น ยืนยันว่าไม่มี ยึดตาม RFP คือต้องสร้างให้เสร็จทั้งเส้นทาง 100% และเปิดเดินรถทั้งเส้นทางจึงจะจ่ายค่าอุดหนุน ซึ่งมีกรอบดำเนินการอยู่คือ หลังสร้างเสร็จตามระยะเวลา 5 ปี

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าคดีโฮปเวลล์ นายศักดิ์สยามตอบว่า ได้ยื่นขอชะลอการบังคับคดีการจ่ายค่าชดเชย 25,000 ล้านบาท ในคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกระทรวงคมนาคมแพ้คดีในศาลปกครองสูงสุดต่อ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่ศาลจะให้เลื่อนอีกกี่วันก็ต้องรอการพิจารณาของศาลก่อน

ในตอนนี้ได้ตั้งคณะทำงานชุดใหม่มาดำเนินการเจรจากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเศไทย) จำกัดแล้ว ประกอบด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีนายชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), ตัวแทนจากร.ฟ.ท., ตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นกรรมการ

โดยจะเอาข้อมูลต่างๆ มาดู ซึ่งมีจำนวนมาก จริงๆ มีคณะทำงานเดิมอยู่แล้ว แต่ได้หยุดไปเมื่อรัฐมีแผนจะฟ้องร้องขอรื้อฟื้นคดี แต่เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดยื่นขอเจรจาเข้ามาใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ต.ค.) แต่ต้องรอการวิจิฉัยของศาลปกครองก่อนว่าจะให้ชะลอการจ่ายเงินหรือไม่ ถ้าให้ชะลอก็จะมีเวลาศึกษากระบวนการการประมูลทั้งหมด เพราะเอกสารมันเก่ามากตั้งแต่ปี 2533 แต่น่าจะใช้เวลาศึกษาไม่นาน ประมาณ 2 สัปดาห์ก็แล้วเสร็จ

“โฮปเวลล์ยังไม่ได้ยื่นประเด็นที่จะเจรจามา เราต้องกลับไปดูความถูกต้องและความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน ถ้ากระบวนการประมูลไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้นก็เป็นโมฆะ ถ้าพบว่าทำผิดกฎหมายก็แจ้งความดำเนินคดี ก็คือต้องดูทีโออาร์ สัญญา และการปฏิบัติตามสัญญา” นายศักดิ์สยามทิ้งท้าย

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0