โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

บินไทย สั่งลดเงินเดือนผู้บริหาร-เบรกโอที หั่นงบเดินทาง 30% ลุยเลิกจ้างเอาต์ซอร์ส 20%

Khaosod

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 15.14 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2563 เวลา 15.09 น.
บินไทยรัดเข็มขัด

บินไทย สั่งลดเงินเดือนผู้บริหาร-เบรกโอที  - รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในคำสั่งบริษัท ที่ 031/2563 เรื่องมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ระบุว่า "เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ประกาศห้าม หรือเตือนประชาชนของตนเองงดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์

และมีความเป็นไปได้มากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้วการเดินทางทางอากาศเป็นวงกว้าง และกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างรุนแรงโดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ จะเห็นได้จาก ณ ขณะนี้บริษัทต้องยกเลิกเที่ยวบินไปยังประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่ความต้องการเดินทางลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง บริษัทมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการรองรับวิกฤตการณ์นี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

1. ปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร ประกอบด้วย ปรับลดเงินเดือนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดีในอัตรา 25% , ปรับลดเงินเดือนรองกรรมการผู้จัดการผู้อำนวยการใหญ่ (อีวีพี) ในอัตรา 20% ปรับลดเงินเดือนผู้อำนวยการใหญ่ (วีพี) หรือ กรรมการผู้จัดการ (เอ็มดี) ระดับผู้อำนวยการใหญ่ในอัตรา 15%

2. ปรับลดค่าพาหนะเหมาจ่ายของผู้บริหารตามตำแหน่งดังนี้ ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ปรับลดเหมาจ่ายในอัตรา 30% , ระดับผู้อำนวยการใหญ่ (วีพี) หรือ กรรมการผู้จัดการ (เอ็มดี) ระดับผู้อำนวยการใหญ่ ปรับลดในอัตรา 20%

3. ปรับลดงบประมาณสำหรับการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานลง 30% ยกเว้นพนักงานที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน โดยให้รองกรรมการผู้จัดการผู้อำนวยการใหญ่ (อีวีพี) หรือ กรรมการผู้จัดการ (เอ็มดี) ต้นสังกัด ควบคุมการส่งพนักงานไปปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นต่อบริษัทเท่านั้น รวมถึงปรับลดจำนวนพนักงานที่จะส่งไปปฏิบัติหน้าที่และจำนวนวันในการปฏิบัติหน้าที่

4. ให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการกำลังพลไม่ให้เกิดการทำงานล่วงเวลา หากมีข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานให้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต้นสังกัดเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป

5. ปรับลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานภายนอก (เอาต์ซอส) ให้เหลือเท่าที่จำเป็น โดยให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่ลดลง ทั้งนี้ ในภาพรวมของแต่ละหน่วยต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานภายนอกลงไม่น้อยกว่า 20%

6. ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ และความปลอดภัยให้เหลือเท่าที่จำเป็นเช่น ชอะลอการจ้างบุคลากร ชะลอการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ลดวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลือง ชะลอการแจกเครื่องแบบพนักงาน และลดการเบิกครุภัณฑ์ ฯลฯ

7. ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ระดับผู้อำนวยการไหญ่ (วีพี/เอ็มดี) ของพนักงานที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย. 2563 ตกลงกับพนักงานที่อยูภายใต้การบังคับบัญชา เพื่อร่วมกันกำหนดการใช้วันลาหยุดพักผ่อนสะสมที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนวันเกษียอายุ

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2563 และให้สายทรัพยากรบุคคลจัดทำรายละเอียดของแต่ละมาตรการต่อไป ในกรณีสถานการณ์กลี่คลาย บริษัทๆ อาจพิจารณายกเลิกมาตรการข้างต้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ยืดเยื้อหรือรุนแรงเพิ่มขึ้น บริษัทฯ อาจมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการเพิ่มเติม โดยจะประกาศให้ทราบต่อไป"

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของนักบินและลูกเรือการบินไทยนั้น ยังมีคำสั่งห้ามทำการแลกตารางบิน แล้วทำให้เกิดผลลัพธ์ของชั่วโมงบินและค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังสามารถแลกตารางบินได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยให้มีผลทันทีจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไม่ให้นักบินและลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ในเส้นทางประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ห้ามนอนค้างคืนในประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดการติดเชื้อ โดยการบินไทยจะมีการจัดลูกเรือเพิ่มเป็น 2 ชุด เพื่อสลับกันทำงานช่วงขากลับที่จะต้องเดินทางกลับทันทีโดยไม่นอนพักค้างคืน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0