โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

บินไทยหั่นเงินเดือนอีก 10% - 50% สหภาพเชื่ออีก 2 ปี กลับมากำไร

MATICHON ONLINE

อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 02.02 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 02.02 น.
ภป-บริษัทการบินไทย

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ฝ่ายบริหารการบินไทยจะมีการพิจารณาปรับลดเงินเดือนพนักงานเพื่อพยุงฐานะของบริษัท นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ สร.กบท. กล่าวว่า เป็นการปรับลดเพิ่มเติมอีก 1 เดือน คือในเดือนมิถุนายน ต่อจากเดือนพฤษภาคมที่ปรับลดไปแล้ว โดยแต่ละคนจะถูกลดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอัตราเงินเดือน ได้แก่ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ปรับลด 10% เงินเดือนระหว่าง 20,000-40,000 บาท ปรับลด 25% เงินเดือนระหว่าง 40,000-60,000 บาท ปรับลด 30% เงินเดือน 60,000-100,000 บาท ปรับลด 40% และเงินเดือน 1 แสนบาทขึ้นไป ปรับลด 50%

“การลดเงินเดือนพนักงานจะกระทบต่อเนื่องไปถึงตอนลาออกจากบริษัท เพราะจะใช้เงินเดือนสุดท้ายในการคำนวณ ดังนั้น ที่ทำครั้งที่แล้วคือให้พนักงานทำหนังสือยินยอมไปยังบริษัทโดยตรง ใครทำก็เสียสิทธิไปตลอด แต่ในมุมมองของสหภาพจะไม่ดำเนินการอะไรที่สุ่มเสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ ที่ทำให้เสียสิทธิลดลงจากเดิมอยู่แล้ว” นายนเรศกล่าว

นายนเรศกล่าวถึงการปรับลดจำนวนพนักงานว่า เดิมบริษัททำแผนฟื้นฟูกิจการจะปรับลดประมาณ 10,000 คน ไม่ใช่ตัวเลข 6,000 คนที่เสนอในปัจจุบัน แต่ขณะนี้สหภาพก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร คณะกรรมการ (บอร์ด) เองก็ไม่รู้อนาคตตัวเอง เพราะเมื่อกระทรวงการคลังลดสัดส่วนหุ้นลงต่ำกว่า 50% ทำให้การบินไทยไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงคมนาคมก็ต้องยุติบทบาทตัวเองในการกำกับการบินไทยไปด้วย

“ในแง่กฎหมายเมื่อกระทรวงการคลังลดสัดส่วนหุ้นแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการบินไทยต้องยื่นแผนฟื้นฟูที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไปยังศาล แล้วศาลจะเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ทั้งในและต่างประเทศมาเจรจากัน อำนาจเต็มตอนนี้คือเจ้าหนี้ ศาลต้องเรียกเจ้าหนี้มาคุยว่ายอมให้ฟื้นฟูหรือไม่ ไม่ใช่กระทรวงคมนาคมจะมาสั่ง ถ้าศาลไม่รับฟื้นฟูก็ล้มละลาย เจ้าหนี้จะเอาไหม ถ้าเอาก็เดินหน้าไป” นายนเรศกล่าว

นายนเรศกล่าวว่า ขณะนี้ในเมื่อการบินไทยเป็นเอกชนแล้ว กระทรวงคมนาคมก็หมดอำนาจควบคุมแล้ว อำนาจจะตกไปอยู่ที่กระทรวงการคลังแทน ดังนั้น จึงไม่ใช่กระทรวงคมนาคมเป็นคนมากำหนดแผนฟื้นฟูกิจการ

“ส่วนเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเสนอลดพนักงาน 6,000 คน ที่จริงไม่ต้องทำอะไร ต้องถามเจ้าหนี้มากกว่าว่าจะยอมหรือไม่ ศาลจะรับหรือไม่ก็ยังไม่รู้ หากศาลรับ อำนาจเต็มจะอยู่ที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูจะสั่งการว่าให้ลดพนักงานอย่างไร ที่เสนอคนนั้นคนนี้เป็นบอร์ดหรือผู้บริหารแผน เป็นอำนาจศาลจะพิจารณา ไม่ใช่คมนาคม สิ่งที่ทำกับการบินไทยมากๆ นี่แหละจะทำให้การบินไทยล้มละลาย ในเมื่อจะไปศาลแล้วก็ต้องปล่อยให้ศาลพิจารณา เพราะการเมืองนี่แหล่ะมาวุ่นวาย มาสั่งการ ตั้งบอร์ด ฝ่ายบริหารมาสร้างหนี้ ซื้อเครื่องบิน ถ้าวันนี้ยุบสหภาพแล้ว ตัดการเมืองออกไป การบินไทยมีกำไรไม่เกิน 2 ปีแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมาวุ่นวาย” นายนเรศกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0