โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"บาทแข็ง" ทุบส่งออกกุ้งไทยปี’62 ทรุด 5% เอกชนหวังรัฐกู้ค่าบาทฉุดปีหน้าพลิกกลับบวก 20%

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 12 ธ.ค. 2562 เวลา 09.44 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 08.38 น.
vgb

สมาคมกุ้งไทยมองบวกคาดปี’63 ยอดผลิต-ส่งออกกุ้งเพิ่ม 20% สวนทางยอดส่งออกปี’62 ปริมาณติดลบ 5% มูลค่าวูบ 11% วอนรัฐช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง เร่งเอฟทีเอไทย-อียู

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า การส่งออกกุ้งในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 160,000-165,000 ตัน ลดลง 5% จากปีก่อน และมีมูลค่า 50,000-55,000 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน โดยขณะการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 135,249 ตัน ลดลง 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่ส่งออกปริมาณ 143,129 ตัน ด้านมูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลง 12%จาก ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่ส่งออก มูลค่า 45,545 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องทำให้แข่งขันลำบาก และปริมาณการเลี้ยงที่สามารถทำได้เพียง 290,000-300,000 ตัน

อย่าไรก็ตาม เอกชนคาดการณ์ว่าปี 2563 ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 20% จากปีนี้สอดคล้องกับปริมาณการเลี้ยงที่จะเพิ่มขึ้น 20% เป็น 350,000-400,000 ตัน ผลจากไทยสามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรคกุ้งได้ และรัฐดูแลค่าบาท เจรจาการค้ากับอียู ขยายตลากส่งออกจีน

ส่วนราคาส่งออกปีหน้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการดูแลปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่าบาทแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน 10% จาก 33 เหลือ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ หากปีหน้ารัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 33 บาท ก็จะส่งผลดีกับราคาส่งออก และราคาซื้อกุ้งในประเทศไทยด้วย เช่น บาท 33 บาท จะทำให้ราคากุ้งในประเทศขนาด 100 ตัวต่อกก.เพิ่มขึ้นจาก 120 เป็น 140 บาท หรือเฉลี่ย กก.ละ 3 บาท

สำหรับผลผลิตกุ้งไทย ปี 2562 นี้ ที่คาดว่าจะผลิตได้ 290,000-300,000 ตัน ร้อยละ 34 เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 30 จากภาคตะวันออก ร้อยละ 25 จากภาคใต้ตอนบน และร้อยละ 12 จากภาคกลาง ตามลำดับ

“แม้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถรับมือ-จัดการกับสถานการณ์โรคได้ดีขึ้น และยังต้องเผชิญกับโรคต่างๆ แต่ด้วยสภาพอากาศแปรปรวน และราคากุ้งที่ไม่จูงใจ/ต่ำ ผลผลิตกุ้งจึงยังไม่เพิ่มขึ้นส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ5 ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศ เช่น เวียดนามอินเดีย ประเทศแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ฯลฯ ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย ปีนี้ที่ผลิตกุ้งได้เกือบ 600,000 ตัน ทั้งที่ประสบปัญหาการเลี้ยง โรคระบาด สภาพแวดล้อม และอื่นๆ นั้น เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ราคากุ้งทั่วโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากุ้งในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก”

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2562 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 99,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 4 จากปัญหาภาวะราคากุ้งผันผวน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งฝั่งอันดามันปรับตัวไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น นอกจากนี้พบปัญหาโรคอีเอ็มเอส อาการขี้ขาว และโรคตัวแดงดวงขาว

ค่าเงินบาทแข็ง ปัจจัยกระทบส่งออกกุ้งไทย
ค่าเงินบาทแข็ง ปัจจัยกระทบส่งออกกุ้งไทย

นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2562 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 85,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย พบปัญหาขี้ขาวตลอดทั้งปี รวมถึง EMS โดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี และพบตัวแดงค่อนข้างมากในช่วงปลายปี ส่งผลให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควรจากความเสียหายดังกล่าวประกอบกับทิศทางราคากุ้งไม่ค่อยดี เกษตรกรจึงลดความหนาแน่นลง ลดจำนวนกุ้ง จำนวนบ่อลง

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 73,000 ตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ต้นปี จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ประสบปัญหาการเลี้ยงจากโรคขี้ขาวค่อนข้างรุนแรง ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา พบปัญหา EHP และโรคหัวเหลือง และปัจจุบันก็ยังคงพบขี้ขาวอยู่แต่เบาบางลง แต่มีปัญหา WSSV เข้ามาแทนในช่วงปลายปี ทำให้การเลี้ยงยังคงประสบกับความเสียหายทำให้ผลผลิตออกมาได้ไม่ดีนัก ส่วนภาคกลางผลผลิตกุ้งปี 2562 ในพื้นที่ภาคกลางประมาณ 33,000 ตัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมการเลี้ยงกุ้งของไทย เกษตรกรยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคตัวแดงดวงขาว อาการขี้ขาว ที่ยังคงสร้างความเสียหายกระจายในพื้นที่เลี้ยงหลักๆ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถสร้างผลการเลี้ยงที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีต้นทุนแฝงจากความเสียหายและกุ้งที่โตได้ไม่เต็มศักยภาพ ในปีนี้หลายๆ ฟาร์มจึงปรับลดความหนาแน่นในการเลี้ยงลงมาประมาณร้อยละ 20-30 เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดโรค EMS อย่างต่อเนื่องในปีนี้เช่นกัน แต่มั่นใจว่าปีหน้าปัญหาดังกล่าว จะดีขึ้น ด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงเองมีความรู้ความเข้าใจในปัญหา มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง ผนึกกำลังเป็นหนึ่ง ที่สำคัญทุกภาคส่วนได้หันมาช่วยกันอย่างเต็มที่

ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวว่า อนาคตกุ้งไทย ก็ยังสามารถกลับมาได้แน่นอน เพราะความต้องการกุ้งในตลาดโลกยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสามารถในการผลิตกุ้ง ที่สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดโลก ทั้งปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนที่ไม่สูงมาก

ทั้งนี้ จากการประชุมนานาชาติ Shrimp 2019 หรือ กุ้ง 2019 ซึ่งสมาคมกุ้งไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน กับ FAO กรมประมง เมื่อเร็วๆนี้ ที่กรุงเทพฯ นั้น สินค้ากุ้งจากการเลี้ยง ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก ในปริมาณที่สูงขึ้น ด้วยเป็นอาหารโปรตีนเนื้อขาวที่มีโภชนาการดี ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับจากทะเลมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แม้มีหลายประเทศหันมาเลี้ยงกุ้งกันมากขึ้นก็ตาม เชื่อว่า ในฐานะที่ประเทศไทย เคยเป็นแชมป์ผลิตกุ้งและส่งออกกุ้งมากที่สุดในโลกในหลายปีติดต่อกันมา กอปรกับตลาดนำเข้ากุ้งสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ก็ยังให้เครดิต และเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทยว่าคุณภาพดี ปลอดภัยที่สุด ขอให้เราผลิตได้มากพอและสม่ำเสมอ ในราคาที่สามารถแข่งขันได้เท่านั้น

ที่สำคัญด้วยประเทศไทยมี ลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก จากสายพันธุ์ที่โตเร็ว แข็งแรง ปลอดโรค ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะผลิตกุ้งไซส์ใหญ่ ทิศทางการผลิตกุ้งไทย จะไม่เน้นปริมาณ แต่มุ่งเน้นผลิตกุ้งคุณภาพ ดี ปลอดภัย ปลอดสารตกค้าง ผลิตกุ้งไซส์ใหญ่ โปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มีจรรยาบรรณทางการค้า ให้ดียิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมาทวงแชมป์คืนเป็นไปได้สูง และหากทุกปัจจัยเอื้ออำนวย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้เรายังเผชิญปัญหาการเลี้ยงและอุปสรรคต่างๆ ที่พี่น้องเกษตรกร และส่วนที่เกี่ยวข้องต้องไปช่วยกันปรับปรุงแก้ไขพัฒนาร่วมกัน ส่วนเรื่องที่ต้องให้รัฐดำเนินการให้ ได้แก่ แก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป ทำให้ไม่สามารถส่งออกและแข่งขันได้ ภาครัฐควรมีการสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการเจรจากับตลาดคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ยั่งยืน และที่สำคัญต้องเจรจาเรื่อง FTA เพื่อเปิดตลาด EU ให้กุ้งจากไทยสามารถกลับมาแข่งขันได้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งของประเทศอยู่รอด ได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0