โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บาทแข็งดันนำเข้าฟุ่มเฟือย รองเท้า-เครื่องสำอางพุ่ง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ก.ค. 2562 เวลา 02.50 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 02.50 น.
บาทแข็งค่า-ศัลยาประชาชาติ-2030
“บาทแข็ง” ดันยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยโต 5 เดือนทะลุ 3.58 แสนล้าน “ของตกแต่งบ้าน-เสื้อผ้ารองเท้า-เครื่องสำอาง” โตพรวด “ทีเอ็มบี” เผยยอดรูดช็อปปิ้งออนไลน์สินค้าต่างประเทศพุ่ง สินค้าไอที-แบรนด์หรูรับอานิสงส์ต้นทุนนำเข้าลด แต่กำลังซื้อซบ ธปท.งัด 2 มาตรการสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากภาวะอัตราแลกเปลี่ยนของไทยปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจนทำลายสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การส่งออกติดลบ ขณะที่เป็นปัจจัยบวกต่อผู้นำเข้าที่มีต้นทุนถูกลง โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานข้อมูลยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.ค. 2562) มูลค่า 11,566 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.58 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่นำเข้าเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องใช้ตกแต่งบ้าน เพิ่มขึ้น 14.9% กลุ่มเสื้อผ้า
รองเท้าเพิ่มขึ้น 13.6% และกลุ่มเครื่องสำอางเพิ่มขึ้น 4%

บาทแข็งช็อปออนไลน์ ตปท.พุ่ง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นในปีนี้ประเมินว่า น่าจะทำให้ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เพื่อซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศยิ่งเติบโตมากขึ้น เพราะจากสถิติช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยอดรูดช็อปออนไลน์สินค้าจากต่างประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 ยอดรวม 35,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัตรเครดิต 32,359 ล้านบาท และบัตรเดบิต 3,236 ล้านบาท ปี 2560 ยอดรูดบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 46,755 ล้านบาท แบ่งเป็นบัตรเครดิต 37,002 ล้านบาท และบัตรเดบิต 9,753 ล้านบาท และปี 2561 ยอดรวม 54,912 ล้านบาท บัตรเครดิต 40,953 ล้านบาท และบัตรเดบิต 13,959 ล้านบาท

“ช่วงที่ผ่านมาเติบโตเยอะ โดยปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดรูดช็อปปิ้งออนไลน์ต่างประเทศโต 17% ในส่วนของบัตรเครดิตโต 11% และบัตรเดบิตโต 43% ซึ่งในส่วนของการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต ส่วนใหญ่จะเป็นพวกการซื้อบริการใน iTune, Play Store, แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมถึงการ iTem ในเกมออนไลน์ ปีที่ผ่าน ๆ มาอาจจะมองไม่ได้ว่าเกิดจากเงินบาทแข็งค่า แต่ปีนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก จะมีผลทำให้คนรูดบัตรเพื่อช็อปสินค้าต่างประเทศมากขึ้นแน่นอน เพราะซื้อสินค้าได้ถูกลงมาก โดยถ้าเทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ตอนนี้เงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 7% ถ้าเทียบจากต้นปีมาถึงปัจจุบัน (Y to D) เงินบาทจะแข็งค่าแล้ว 5.2%” นายนริศกล่าว

ไอทีต้นทุนลด แต่กำลังซื้อแย่

นายบรรพต วัฒนสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ทีบี เทคโนโลยี จำกัด ผู้นำเข้าอุปกรณ์แก็ดเจตระบุว่า เงินบาทแข็งค่า แน่นอนว่าส่งผลดีให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าถูกลง แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลเชิงลบในด้านกำลังซื้อจากชาวต่างชาติ จะเห็นได้ชัดว่านักท่องเที่ยวจีนหันไปเที่ยวประเทศเวียดนามมากขึ้น ต้นทุนนำเข้าที่ถูกลงเป็นปัจจัยบวกเล็กน้อย แต่ก็ต้องนำมาทำโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะปีนี้เศรษฐกิจซบเซาค่อนข้างหนัก ดังนั้น ผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่นอนเพราะได้สินค้าถูกลง

“ขณะที่กำลังซื้อส่วนหนึ่งของตลาดแก็ดเจตมาจากนักท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ตลาดยิ่งดรอป ดังนั้นแม้จะมีปัจจัยบวกที่ต้นทุนลดลง แต่ลูกค้าก็ลดน้อยลงเช่นกัน” นายบรรพตกล่าว

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทค้าส่งสินค้าไอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้สินค้านำเข้าทุกชนิดมีต้นทุนถูกลง ซึ่งสินค้าของบริษัทเป็นสินค้านำเข้ากว่า 50% ก็ส่งผลดีต่อต้นทุนของบริษัท อย่างไรก็ตาม ซินเนคไม่ได้ปรับลดราคาสินค้า เพราะตอนเงินบาทอ่อนก็ไม่สามารถปรับเพิ่มได้ ดังนั้น เงินบาทแข็งไม่กระทบกับราคาสินค้าเท่าไหร่ ส่วนสินค้าส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านไม่กระทบ เพราะมีสัดส่วนเพียง 10% ของพอร์ต

“ขณะที่ภาพรวมสินค้าไอทีปีนี้ค่อนข้างซบเซา คาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะเป็นซีซั่นที่มีสินค้าใหม่เปิดตัว ซึ่งสินค้าไอทีที่โดดเด่นในปีนี้จะเป็นสินค้าเกมมิ่งและไอโอที ขณะที่สมาร์ทโฟนค่อนข้างนิ่ง อาจจะต้องรอนวัตกรรมใหม่ ๆ”

แบรนด์หรูเมินลดราคา

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการนาฬิกาหรูรายหนึ่งกล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าทุกรายมีต้นทุนสินค้าที่ถูกลง แต่การบริหารต้นทุนก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละบริษัทว่าจะทำอย่างไร บางสินค้าบางแบรนด์อาจนำไปทำโปรโมชั่น ทำกิจการมากขึ้นเพื่อกระตุ้นผู้บริโภค แต่ปกติของกลุ่มสินค้าแฟชั่นลักเซอรี่จะไม่ทำโปรโมชั่นลดราคาที่หวือหวา เพราะจะกระทบกับภาพลักษณ์แบรนด์ รวมถึงไม่สามารถปรับราคาขายปลีกขึ้นหรือลงได้เอง เนื่องจากบริษัทแม่จะเป็นผู้กำหนด และควบคุมราคาของตลาดในแต่ละประเทศไม่ให้แตกต่างกันมากนัก แม้ว่าต้นทุนจะถูกลง แต่ธุรกิจนำเข้าก็ต้องเผชิญกับภาวะกำลังซื้อในประเทศที่ทรงตัว รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่มที่บินไปช็อปต่างประเทศ

ออก 2 มาตรการสกัดเก็งกำไร

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดและมีความกังวลกับค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว และแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ธปท.จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท 2 มาตรการ คือ 1) การปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (nonresident : NR) ให้เข้มขึ้น เนื่องจากบัญชีเงินบาทข้างต้นบางครั้งถูกใช้เป็นช่องทางพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ธปท.จึงปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อรายให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

2) ยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น

ขณะที่นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลังจาก ธปท.ประกาศปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็ง

กำไรค่าเงินบาทในการคุมบัญชี NR มีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงทันทีจากระดับ 30.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี นโยบายลักษณะนี้ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว และ ธปท.ก็เคยทำแบบนี้มาแล้วในปี 2560 หลังจากนั้นเงินบาทก็แข็งค่าต่อ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0