โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บันทึกจากน้องสาวที่แสนดี ดูแล'พี่ป่วยมะเร็ง'สู้จนรอด

เดลินิวส์

อัพเดต 23 พ.ย. 2562 เวลา 15.57 น. • เผยแพร่ 23 พ.ย. 2562 เวลา 15.09 น. • Dailynews
บันทึกจากน้องสาวที่แสนดี ดูแล'พี่ป่วยมะเร็ง'สู้จนรอด
เปิดบันทึก “น้องสาว” แสนดีพยาบาลชีวิตจริง แชร์ประสบการณ์ “พี่สาว” อดีตผู้ป่วยมะเร็งกระดูกกัดกินปอด วัย 70 ปี ถ่ายทอดถอดบทเรียนเป็นหนังสือ ส่งกำลังใจช่วยกระตุกคิด “เป็นมะเร็งรอดตายรักษาได้”

นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นได้ เมื่อพูดถึง…โรคมะเร็ง โดยเฉพาะตัวผู้ป่วยเองที่อาจจะเพิ่งทราบว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เราจะทำอย่างไรให้ความกลัวนั้น กลับกลายเป็นพลังที่เข็มแข็ง เป็นเรื่องที่ท้าทายจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

 

ผช.ศ.ดร.กมลมาลย์ วิรัตน์เศรษฐสิน อดีตอาจารย์คณะพลศึกษา สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลีดูแลผู้ป่วยมะเร็งในครอบครัวมากถึง 4 คน ทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งลำไส้ มะเร็งโพรงจมูก และมะเร็งกระดูก ซึ่งในวันนี้จะมาถ่ายทอดประสบการณ์เปลี่ยนความกลัวของผู้ป่วยมะเร็งให้เป็นพลังที่เข้มแข็ง

 

โดยนำหนึ่งในเรื่องราวจากพี่สาว“ภาณุมาศ วิรัตน์เศรษฐสิน” ในวัย 70 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ที่มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เพียงแค่อุบัติเหตุเดินหกล้ม แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำมาสู่โรคที่ทุกคนหวาดกลัว ไม่มีใครอยากพบเจอ และสิ่งที่ร้ายลึกไปกว่านั้นมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กำลังลุกลามอย่างไม่รู้ตัว กลายเป็นโรคที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ย้อนกลับไปปี 61 โรคที่คนในครอบครัวไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ได้เข้ามาใกล้ตัวพี่สาวของเธอทุกขณะ โดยก่อนที่จะรู้ว่าพี่สาวป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ น้องสาวคนนี้พาพี่สาวไปตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แพทย์วินิจฉัยว่า อุบัติเหตุหกล้มทำให้มีอาการเคล็ดขัดยอก ข้อยึด หรือข้อติด จึงสั่งจ่ายยาบรรเทาอาการปวด เพื่อรักษาอาการที่ไม่สามารถเดินทิ้งน้ำหนักลงขาทั้ง 2 ข้างได้ ซึ่งมักจะรู้สึกเจ็บที่บริเวณสะโพกตลอดเวลา แต่ด้วยอายุ รูปร่างเล็ก และเป็นคนที่มวลกระดูกน้อยจึงไม่ได้สังหรณ์ใจว่าจะมีโรคภัยร้ายใดเข้ามาในชีวิต

 

กระทั่งอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น พี่สาวของเธอแทบจะเดินไม่ไหว สุดท้ายตัดสินใจทำ MRI ตรวจจนแพทย์ยอมรับว่า “ผมน่าจะ…วินิจฉัยผิดพลาด” เพราะผลการตรวจปรากฏว่าพี่สาวของเธอป่วยเป็น“โรคมะเร็งกระดูก” ซึ่งถ้าได้ฟังแบบนั้น เป็นคุณจะรู้สึกอย่างไรและแย่แค่ไหน?

 

ใช่แล้ว…ทางครอบครัวเลือกที่จะไม่พูดถึงคำว่า “มะเร็ง” ให้ผู้ป่วยได้ยิน แม้จะถูกถามว่า “พี่ป่วยเป็นมะเร็งใช่ไหม” ซึ่งคำตอบก็มีเพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แต่คนในครอบครัวก็ไม่มีใครยอมปริปากพูด กลั้นความรู้สึกอันแสนเจ็บปวดเอาไว้ข้างใน บอกไปเพียงว่า…“พี่เป็นหนักนะ ต้องรักษากับแพทย์หลายสาขา”

 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา โรงพยาบาลได้เตรียมแพทย์อยากหลายสาขามาก และสำรองเลือดไว้ 15 ถุง เพราะสิ่งที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ…มะเร็งลุกลามกัดกินไปที่ปอดเรียบร้อยแล้ว แพทย์แจ้งว่า …อาจจะต้องตัดขาทิ้งนะครับ” เพื่อรักษาชีวิตคนไข้ แต่จะพยายามให้เป็นทางเลือกสุดท้าย

 

“เรารู้ดีเพราะตัวเราจบพยาบาล การรักษาไม่จบที่การผ่าตัด ยังต้องดูแลหลังจากนั้นอีกมาก ในเมื่อรู้ว่าสุดท้ายแล้วไม่มีวิธีไหนรักษาคนที่เรารักได้ เราก็เลยตัดสินใจไม่บอก เพราะอยากให้พี่สาวมีความสุข อีกอย่างธรรมชาติของมะเร็ง ถ้าลุกลามไปจนถึงอวัยวะอื่น ก็คือเป็นระยะสุดท้าย ระยะที่ 4 ซ้ำโอกาสหายขาดก็มีน้อยลงทุกที” ผช.ศ.ดร.กมลมาลย์ กล่าวให้ฟัง

 

ในขณะนั้นในหัวของเธอกลัวว่าพี่สาวจะเสียชีวิต แต่เธอก็รับไม่ได้ที่จะต้องเห็นพี่สาวทนทุกข์ทรมานจากการรักษาจนถึงวาระสุดท้าย วิธีใดที่คิดว่าดีและสามารรักษาชีวิตเอาไว้ได้ หนึ่งวิธีคือ การหยดสารบางอย่างใต้ลิ้นวันละ 10 หยด แต่ผ่านไปได้ไม่นาน หลานคนหนึ่งนำข้อมูลของโรงพยาบาลจีนมาเล่าให้ฟัง จึงทราบว่าเป็นโรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจวสแตมฟอร์ด และในวันรุ่งขึ้นแพทย์ได้นัดเข้ามาพบพี่สาวเพื่อดูอาการเบื้องต้นที่บ้าน และขอประวัติการรักษากลับไป จากนั้นไม่นานตอบรับพี่สาวเธอเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล

 

เธอบันทึกไว้ว่า วันที่ 30 ก.ย. 61 เป็นวันที่พี่สาวเดินทางไปรักษาที่ประเทศจีนโดยมีหลาน 3 คนเดินทางไปดูแลในเบื้องต้น เพราะขณะนั้นเธอยังไม่เกษียณอายุงาน ทั้งนี้การรักษาในระยะแรกภายใน 1 เดือน แบ่งออกเป็น 2 วิธี 1.การผ่าตัดด้วยเทคนิคความเย็น คือ การผ่าตัดด้วยมีดฮีเลียมอาร์กอนบาดแผลเล็ก และ 2.เคมีบำบัดเฉพาะจุด ผ่านทางหลอดเลือดแดง จากนั้นพักฟื้นร่างกายจึงกลับไปมารักษาต่อด้วยวิธีเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดงซ้ำอีกรอบ

ผช.ศ.ดร.กมลมาลย์ พูดกับตัวเองว่า …เราเลือกถูกทางแล้วใช่ไหม ที่พาเขามารักษาที่นี่ นึกไปจนถึงหากพี่สาวเสียชีวิตก็จะจัดงานศพที่นี่ และตอนนั้นผลการรักษาในช่วงแรกยังไม่ออกมา ครอบครัวจึงยึดติดกับคำตอบของหมอที่เมืองไทย”

 

เมื่อผลการรักษาในรอบแรกออกมา ปรากฏว่ามะเร็งได้หยุดลุกลามและผลเป็นที่น่าพอใจของแพทย์ และเป็นสัญญาณทำให้ทุกคนในครอบครัวที่ทราบข่าวมีรอยยิ้มขึ้นมาอีกครั้ง สีหน้าของคนไข้ก็กลับมาสดใส แต่แพทย์ก็ได้แจ้งว่า…อย่าได้เบาใจไป เพราะเซลล์มะเร็งยังอยู่รอบเส้นประสาทบริเวณกระดูกสะโพก

 

 

จากนั้นแพทย์ลงความเห็นแล้วว่า จะรักษาด้วยวิธีผสมผสานแบบแพทย์แผนปัจจุบันจำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะต้องพักฟื้นที่ประเทศจีนนาน 2 สัปดาห์ และสามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้ราว 2 เดือน กระทั่งรักษาครบระยะเวลา 6 เดือน ผลการตรวจหาค่ามะเร็งครั้งล่าสุดในวันที่ 18 พ.ค.62 แพทย์แจ้งว่าเซลล์มะเร็งไม่มีเหลือแล้ว โรคได้สงบลง ซึ่งจะครบกำหนดพบแพทย์อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 28 ธ.ค.62

 

อย่างไรก็ตามเรื่องราวทั้งหมด ตลอดจนวิธีการดูแลผู้ป่วย นับเป็นแรงบันดาลใจให้ ผช.ศ.ดร.กมลมาลย์ นำมาร้อยเรียงเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “เทคโนโลยีใหม่ อาหาร ความเข้มแข็ง และมะเร็ง” ซึ่งอาศัยความรู้พื้นฐานศิษย์เก่าจากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประสบการณ์การทำงานจนเกษียณอายุงาน แบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นครอบครัวของเธอ

 

น้องสาวผู้นี้ได้สอดแทรกความรู้ด้านอาหารอินทรีย์และสมุนไพรต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง อาทิ “เปลือกต้นคัดเค้า” ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงต่อสู้กับเชื้อโรค หรือจะเป็น“งาขี้ม้อน” พืชตระกูลสะระแหน่ที่มีโอเมก้าสูงกว่าปลาแซลมอน และอีกชนิดคือ “งวงตาล” เป็นตาลตัวผู้ มีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร ส่วนสมุนไพรทางภาคเหนือชื่อว่า “พลูคาว” เป็นผักพื้นเมืองกินแกล้มกับลาบทางเหนือ มีสรรคุณช่วยป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรียและไวรัสได้

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากคือ…การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ป่วยได้มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป ด้วยการมองชีวิตอย่างรู้คุณค่าในตัวเอง เพราะหากความเข้มแข็งเกิดขึ้นได้จากตัว “ผู้ป่วย” มองเห็นคุณค่าในตัวเอง ถึงแม้ความรักจากคนรอบข้างจะมีมากเพียงใด แต่ถ้าผู้ป่วยยังไม่เข้มแข็งออกมาจากหัวใจตัวเอง กำลังใจจากคนรอบข้างก็จะเป็นเพียงแรงสนับสนุนเท่านั้น สุดท้ายไม่อาจทำให้คนไข้เชื่อได้ว่า…จะหายจากโรคได้จริง

 

ฉะนั้นอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับตัวของผู้ป่วยเอง เพราะพื้นฐานความเข้มแข็งเริ่มต้นด้วยความเข้าใจในตัวเอง.

………………………………………..

คอลัมน์ : นิยายชีวิตอาทิตย์สไตล์

โดย “ทวีลาภ บวกทอง”

คลิกติดตามอ่านคอลัมน์นิยายได้ทั้งหมดที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0