โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บังคับเกษียณอายุ ล้าสมัยไปหรือยังในสังคมสูงวัย

The Momentum

อัพเดต 27 ม.ค. 2563 เวลา 06.15 น. • เผยแพร่ 27 ม.ค. 2563 เวลา 06.15 น. • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

In focus

  • การบังคับเกษียณอายุผิดกฎหมายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย โดยผู้สูงอายุในประเทศเหล่านี้มักจะอ้างอิงอายุในการรับบำนาญจากภาครัฐเป็นอายุขั้นต่ำในการเกษียณ โดยหลายประเทศเลือกสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุทำงานต่อผ่านการใช้มาตรการเพิ่มเงินบำนาญตามอายุงานที่มากขึ้น 
  • ตัวเลขอายุเกษียณมาตรฐานปรับตัวขึ้นช้ามากหากเทียบกับตัวเลขอายุขัยเฉลี่ย เช่นในประเทศไทย อายุขัยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในชั่วระยะเวลาราว 35 ปีที่ผ่านมาจาก 55 ปีสำหรับผู้ชาย และ 62 ปีสำหรับผู้หญิงเป็น 76 และ 83 ปี ตามลำดับ นับว่าแตกต่างจากการเพิ่มอายุเกษียณมาตรฐานในกลุ่มแรงงานสำคัญของไทยอย่างข้าราชการที่แรกเริ่มเดิมทีเกษียณอายุที่ 55 ปีก่อนจะเพิ่มเป็น 60 ปีใน พ.ศ. 2494 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก่อนจะขยับขึ้นอีกครั้งเป็น 63 ในปีที่ผ่านมา
  • การตีค่าความแก่ชราโดยขีดเส้นอายุนำไปสู่ปัญหาการเหยียดอายุ (Ageism) ในที่ทำงานจากเพื่อนร่วมงานหรือนายจ้าง โดยผู้สูงอายุมักเผชิญกับอคติว่าพวกเขาหรือเธอทำงานไม่เก่ง เรียนหนังสือไม่สูง และสุขภาพไม่ดี หากเทียบกับคนที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าเราสามารถบรรเทาความคิดเหมารวมหรืออคติเหล่านั้นได้ โดยให้คนหลากหลายวัยทำงานร่วมกันเพื่อทลายมายาคติในแง่ลบดังกล่าว

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเด็นสังคมสูงอายุเป็นที่กล่าวถึงกันมาก โดยเทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีอัตราการเกิดน้อยลง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) คาดว่าประชากรอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี 

ในปี พ.ศ. 2560 ประชากรสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) มีจำนวน 963 ล้านคน หรือคิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด โดดเด่นในสหภาพยุโรปที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุนำลิ่วที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า คว้าตำแหน่งที่สามของภูมิภาคเอเชียโดยคาดว่าจะมีประชากรสูงอายุราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดภายในอีก 10 ปีข้างหน้า

หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้ามีประชากรสูงอายุมากขึ้นแล้วจะเกิดผลอย่างไร?

ผู้เขียนตอบได้ทันทีว่ามีปัญหาแน่นอนครับ เพราะประชากรที่เกษียณอายุแล้วย่อมจ่ายภาษีเข้ากระเป๋าภาครัฐน้อยลง ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องจ่ายเงินดังกล่าวเป็นค่าสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นเบี้ยคนชราหรือเงินบำนาญจากภาครัฐ เช่น กองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล หากโครงสร้างประชากรยังคงเดิมนาวารัฐก็อาจยังคงแล่นต่อไปได้ แต่หากผู้สูงอายุมากขึ้นแต่คนทำงานน้อยลง คงพอจะเดาได้นะครับว่ารัฐบาลจะเจอกับอะไร

หากใครนึกภาพไม่ออกให้ลองดูประเทศญี่ปุ่น แชมป์สังคมผู้สูงอายุของโลก ที่นอกจากจะเผชิญภาวะเงินฝืดต่อเนื่องยาวนาน เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้ตามเป้าเพราะคนไม่ใช้จ่าย รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ต้องเจอกับภาระหนี้สินมหาศาลที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ 

สถานการณ์ดังกล่าวชวนให้ตั้งคำถามว่า นโยบายบังคับเกษียณอายุล้าสมัยไปหรือยัง? แล้วหลากประเทศทั่วโลกปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับภาวะสังคมสูงอายุ

มายาคติว่าด้วยผู้สูงอายุ

การเกษียณอายุกลายเป็นช่วงวัยหนึ่งของมนุษย์หลังจากทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งชีวิต แนวคิดดังกล่าวเกิดพร้อมกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยความคิดที่ว่า เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้นศักยภาพในการทำงานก็จะลดลงเป็นเงาตามตัว การทำงานต่ออาจไม่มีประสิทธิภาพหรือก่อให้เกิดอันตรายได้ ในศตวรรษที่ 21 แต่ละประเทศมีอายุเกษียณ ‘มาตรฐาน’ ตั้งแต่ 50 ถึง 70 ปี

คำถามชวนคิดในสังคมผู้สูงอายุเช่นปัจจุบัน คือ เมื่อเราเดินทางถึงตัวเลขอายุเกษียณมาตรฐานนั่นหมายความว่าเราจะกลายเป็นผู้สูงอายุ หมดศักยภาพในการทำงาน และควรเก็บกระเป๋ากลับบ้านเพื่อใช้เวลาว่างเลี้ยงหลาน ปลูกต้นไม้ นอนดูโทรทัศน์อย่างนั้นหรือ? ความคิดดังกล่าวดูจะขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ผู้สูงอายุหลายคนยังทำงานได้ดีแม้ว่าจะอายุมากกว่า 60 ปี

ผู้สูงอายุขวัญใจของผมคือเดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (David Attenborough)นักโทรทัศน์ชั้นยอดผู้ให้เสียงพากย์สารคดีธรรมชาติที่กล่าวได้ว่าเป็นมรดกของอารยธรรมมนุษย์อย่าง Planet Earth I & II รวมถึงซีรีส์สารคดีที่มียอดผู้ชมสูงที่สุดทางเน็ตฟลิกซ์ Our Planet ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเขาอายุ 93 ปี และมีคิวงานพากย์สารคดี Planet Earth III ตอนอายุ 96 ปี คงน่าเสียดายไม่น้อยหากเขาถูก ‘บังคับให้เลิกทำงาน’ เมื่ออายุถึงเกณฑ์เกษียณ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า เมื่ออายุก้าวย่างเข้าสู่วัยชรา ศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานอาจเสื่อมถอยไปพร้อมกับสภาพร่างกาย แต่การ ‘บังคับเกษียณ’ โดยอิงจากอายุอาจไม่เหมาะสมนักซึ่งเราควรมีตัวชี้วัดอื่นๆ ที่จะบอกให้ใครสักคนหยุดทำงาน มากกว่าบอกว่าเขาหรือเธอควรหยุดทำงานเพราะอายุเกิน

การตีค่าความแก่ชราโดยขีดเส้นอายุยังนำไปสู่ปัญหาการเหยียดอายุ (Ageism) ในที่ทำงานจากเพื่อนร่วมงานหรือนายจ้าง โดยผู้สูงอายุมักเผชิญกับอคติว่าพวกเขาหรือเธอทำงานไม่เก่ง เรียนหนังสือไม่สูง และสุขภาพไม่ดี หากเทียบกับคนที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าเราสามารถบรรเทาความคิดเหมารวมหรืออคติเหล่านั้นได้ โดยให้คนหลากหลายวัยทำงานร่วมกันเพื่อทลายมายาคติในแง่ลบดังกล่าว

ในบางประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติจากอายุ (Age Discrimination) เช่น กฎหมายการเลือกปฏิบัติจากอายุในการจ้างงาน ค.ศ. 1967 (Age Discrimination in Employment Act) ในสหรัฐอเมริกาที่ห้ามเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงาน เลื่อนตำแหน่ง ค่าตอบแทน และการเลิกจ้าง ต่อผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่จะมีการสุ่มกลั่นกรองประกาศรับสมัครงานเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ

สำหรับในไทย เราจะเห็นการเหยียดผู้สูงอายุอย่างสนุกปากในโลกออนไลน์ซึ่งสะท้อนมายาคติและความคิดแบบเหมารวมต่อผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี การเลือกปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวอาจไม่เป็นที่พูดถึงมากนักหากเทียบกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง หรือกลุ่มเพศทางเลือก นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญของไทยจะระบุกว้างๆ ว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุเป็นเรื่องกระทำไม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

เราควรมีการบังคับเกษียณอายุหรือไม่?

ตัวเลขมาตรฐานสำหรับการเกษียณอายุแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันออกไป ในประเทศไทย เราอาจคุ้นเคยกับการกำหนดที่ชัดเจน เช่น ข้าราชการอายุถึง 60 – 63 ปีก็จะถูก ‘บังคับเกษียณอายุ’ ส่วนภาคเอกชนถึงแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่หลายบริษัทขนาดใหญ่ก็ยึดเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับสิทธิประกันสังคมที่ 55 ปีโดยระบุไว้ในสัญญาจ้างงานว่าเป็นอายุสำหรับการเกษียณ ส่วนจะว่าจ้างต่อหรือไม่อาจพิจารณาเป็นรายกรณี

แต่ทราบไหมครับว่าการบังคับเกษียณอายุในลักษณะดังกล่าวผิดกฎหมายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย โดยผู้สูงอายุในประเทศเหล่านี้มักจะอ้างอิงอายุในการรับบำนาญจากภาครัฐเป็นอายุขั้นต่ำในการเกษียณ โดยหลายประเทศเลือกสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุทำงานต่อผ่านการใช้มาตรการเพิ่มเงินบำนาญตามอายุงานที่มากขึ้น ไม่ต่างจากโบนัสคืนกำไรให้กับคนชรา

ในขณะที่บางประเทศแม้จะอนุญาตให้มีการบังคับเกษียณอายุ แต่ก็มีการกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ในกฎหมาย เช่น ญี่ปุ่น (อย่างน้อย 60 ปี) ฝรั่งเศส (อย่างน้อย 62 ปี แต่หากต้องการรับสวัสดิการเต็มต้องทำงานถึงอายุอย่างน้อย 65 ปี และจะเพิ่มเป็น 67 ปี) และเยอรมนี (อย่างน้อย 65 ปีและจะเพิ่มเป็น 67 ปี)

ตัวเลขอายุเกษียณมาตรฐานปรับตัวขึ้นช้ามากหากเทียบกับตัวเลขอายุขัยเฉลี่ย โดยใน พ.ศ. 2493 มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 46 ปีเท่านั้น หากเทียบกับล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2558 มนุษย์ทั่วโลกมีอายุขัยเฉลี่ยสูงถึง 71 ปี และในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป อายุขัยเฉลี่ยอาจแตะเลขแปด จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศเริ่มขยับตัวเลขการเกษียณอายุ หรือตัวเลขอายุรับสิทธิเงินบำนาญจากการเกษียณให้เพิ่มมากขึ้น

ในประเทศไทย อายุขัยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในชั่วระยะเวลาราว 35 ปีที่ผ่านมาจาก 55 ปีสำหรับผู้ชาย และ 62 ปีสำหรับผู้หญิงเป็น 76 และ 83 ปี ตามลำดับ ถือว่าแตกต่างจากการเพิ่มอายุเกษียณมาตรฐานในกลุ่มแรงงานสำคัญของไทยอย่างข้าราชการที่แรกเริ่มเดิมที่เกษียณอายุที่ 55 ปีก่อนจะเพิ่มเป็น 60 ปีใน พ.ศ. 2494 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก่อนจะขยับขึ้นอีกครั้งเป็น 63 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังนับว่าน้อยมากหากเทียบกับอายุขัยเฉลี่ย

อินโฟกราฟฟิกอายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกเปรียบเทียบระหว่าง พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2558 ภาพจาก ourworldindata.org

ในโลกที่อายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแพทย์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสารพัดเทคโนโลยีที่บรรเทาอุปสรรคการทำงานของผู้สูงอายุ ภาวะดังกล่าวชวนให้ตั้งคำถามว่าการกำหนดอายุสำหรับการเกษียณกำลังกลายเป็นเรื่องที่หมุนทันโลกหรือไม่ และถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะทบทวนนโยบายเกษียณอายุดังกล่าวก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่กับดักเช่นเดียวกับญี่ปุ่น

อีกประเด็นที่ผู้เขียนเริ่มเห็นการขยับบ้างคืออายุขั้นต่ำในการรับสิทธิเงินบำนาญจากประกันสังคมไทย ที่จะค่อยๆ ขยับขยายจาก 55 ปีเป็น 60 ปี อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังมองว่าตัวเลขดังกล่าวยังต่ำเกินไปและตัดโอกาสสร้างสรรค์งานของผู้สูงอายุสุขภาพดีที่ถูกจูงใจให้เกษียณก่อนวัยอันควร จากสถิติล่าสุดที่อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดีในไทยอยู่ที่ 63 ปีสำหรับผู้ชาย และ 69 ปีสำหรับผู้หญิง

แน่นอนว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวควรค่อยเป็นค่อยไปและให้เวลาประชาชนปรับตัว แต่เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสซ้ำซ้อนจากกระบวนการแก้กฎหมายที่ล่าช้า ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เตรียมออกกฎหมายอายุขั้นต่ำในการรับสิทธิเงินบำนาญจากภาครัฐแบบยืดหยุ่นโดยผูกติดกับตัวเลขอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไปเลยไม่ต้องมาแก้กฎหมายหลายรอบ

นอกจากการขยายอายุการทำงานแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการทลายมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุในที่ทำงาน เพื่อป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติจากอายุ ลบอคติแบบเหมารวม เพื่อบรรยากาศที่เอื้อให้ผู้สูงวัยก้าวออกจากบ้านมาทำงานอย่างมีความสุขและเต็มศักยภาพ

เอกสารประกอบการเขียน

Is It Time To Abolish Mandatory Retirement?

Why the World Needs to Rethink Retirement

What ‘Retirement’ Means Now

A comparative review of international approaches to mandatory retirement

Did the Elimination of Mandatory Retirement Affect Faculty Retirement Flows?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0