โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บล็อกเชนตั้งแต่ปี 2008 ตอนนี้ทำงานอย่างไร พัฒนาไปมากแค่ไหน?

Marketing Oops

อัพเดต 16 ก.ค. 2561 เวลา 05.59 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2561 เวลา 00.08 น. • Oops Hardcore
บล็อกเชนตั้งแต่ปี 2008 ตอนนี้ทำงานอย่างไร พัฒนาไปมากแค่ไหน?

บล็อกเชนจะมาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมและการทำธุรกิจ แต่ความจริงคือมันไม่ได้จะมาเปลี่ยนแปลงภายในข้ามคืน เหตุผลคือด้วยตัวลักษณะของบล็อกเชน ยังต้องการคนจำนวนมากมาใช้ร่วมกันเป็นเครือข่าย และกลายเป็นโจทย์สำคัญว่าทำอย่างไรคนถึงจะรู้จักบล็อกเชนและร่วมกันใช้มัน

 

ตกลงแล้วบล็อกเชนทำงานอย่างไร?

1. ผู้ใช้งานทุกฝ่ายในระบบบล็อกเชน เข้าถึงและรับรองความถูกต้องของข้อมูลได้หมดโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุมข้อมูลได้

2. มีระบบที่อนุญาตให้ผู้ใช้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันผ่านระบบเครือข่าย (Peer to Peer) ที่น่าสนใจคือผู้ใช้สามารถส่งสัญญาณหากันในบล็อกเชนเพื่อสื่อความหมายได้ เช่นสื่อว่าได้รับสินค้าหรือบริการแล้ว

3. ธุรกรรมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้เพราะทุกฝ่ายจะได้เห็นธุรกรรมที่อยู่ในระบบหมด โดยผู้ทำธุรกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ (แต่บล็อกเชนจะกำหนดตัวอักษร 30 ตัวระบุผู้ใช้ให้แทน) หรือจะยืนยันพิสูจน์ตัวตนในบล็อกเชนก็สามารถทำได้

4. เมื่อธุรกรรมถูกบันทึกในฐานข้อมูล “ข้อมูลนั้นจะแก้ไขไม่ได้” เพราะข้อมูลที่เพิ่งถูกบันทึกจะเชื่อมต่อกับข้อมูลที่ถูกบันทึกก่อนหน้าลักษณะคล้ายโซ่ (ถึงเรียกว่า Blockchain) อัลกอริธึ่มคอมพิวเตอร์จะถูกตั้งค่าป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขข้อมูล แต่จะจัดการเรียงข้อมูลตามลำดับเวลา และให้คนอื่นในเครือข่ายได้เห็น

5. ธุรกรรมในบล็อกเชนสามารถเข้าใจได้ด้วยตรรกะคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานจะตั้งค่าอัลกอริธึ่มและกฏเกณฑ์ที่กระตุ้นธุรกรรมระหว่างผู้ใช้งานได้

 

1
1

 

บล็อกเชนตอนนี้ถูกพัฒนาไปไกลแค่ไหน?

เราจะเข้าใจการพัฒนาของบล็อกเชนได้ ต้องดูว่ามันใหม่ขนาดไหน และมีคนใช้มากน้อยแค่ไหน ถ้าใช้สองเกณฑ์นี้ก็พอจำแนกการพัฒนาบล็อกเชนออกเป็น 4 แบบ

 

1. Single Use

เทคโนโลยีที่อยู่ในประเภทนี้เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีความใหม่อะไร การใช้งานก็ไม่ได้ซับซ้อนเช่นอีเมล โทรศัพท์ แฟกซ์ ซึ่งมีต้นทุนถูก แม้แต่บิทคอย์ก็ถูกจัดให้อยู่ในประเภทนี้ เพราะมันคือทางเลือกในการใช้จับจ่ายสินค้าและบริการ

 

2. Localization

เทคโนโลยีที่เข้าประเภทนี้จะมีความใหม่กว่า Single Use และมีต้นทุนถูก มีคนใช้งานน้อย เช่นเครือข่ายอีเมลภายในองค์กร บล็อกเชนประเภทนี้จะถูกใช้ในพื้นที่เล็กๆ เป็นส่วนตัวไม่ให้คนภายนอกใช้ ซึ่งมีให้เห็นในภาคการเงินและธุรกิจที่มีจำนวนไม่มาก ไว้ทดแทนธุรกรรมที่แต่ก่อนทำด้วยกระดาษหรือใช้คนทำ

 

3. Substitution

เทคโนโลยีที่เข้าประเภทนี้ ไม่ได้มีความใหม่ แถมมีความซับซ้อนในการใช้งาน และต้องการคนใช้งานเป็นจำนวนมาก เป็นเทคโนโลยีสำหรับสาธารณะเพื่อแทนที่การทำธุรกิจทั้งหมดเช่น Cryptocurrency ที่ไม่ใช่แค่การใช้บิทคอยน์ทำธุรกรรม แต่เงื่อนไขของ Cryptocurrency คือต้องมีทุกฝ่ายที่ทำธุรกรรมทางการเงินก่อน ถึงจะทำธุรกิจ Cryptocurrency ได้ มันยุ่งยากตรงที่ต้องรอให้ทุกฝ่ายถึงจะทำธุรกรรมได้ แต่ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะแก้ปัญหาธุรกรรมที่รัฐบาลหรือหน่วยงานทางเงินไม่สามารถตรวจสอบหรือมองข้ามไปได้

 

4. Transformation

เทคโนโลยีที่จัดอยู่ในประเภทนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ แต่ซับซ้อน ต้องมีคนใช้งานเยอะ ถ้าเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาจนประสบความสำเร็จ อาจถึงขึ้นสามารถเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ สังคมแม้แต่การเมือง การใช้เทคโนโลยีประเภทนี้ต้องต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันในสังคม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้าในระบบบล็อกเชน ทำให้ธุรกรรมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเข้าเงื่อนไขของสัญญาทันที สัญญาอัจฉริยะจะส่งเงินให้ซัพพลายเออร์ทันทีที่ของมาส่ง บริษัทสามารถส่งสัญญาณไปที่บล็อกเชนว่าของมาถึงแล้ว เพื่อรับเงินได้ทันที ไม่ต้องมานั่งแจ้งซัพพลายเออร์ หรือสถาบันตัวกลางอีก บล็อกเชนที่ทำให้หลายๆสถาบันอย่างภาคการเงิน ธุรกิจและกฏหมายต้องจับตากันเป็นพิเศษ ก็เป็นบล็อกเชนที่จัดอยู่ในประเภทนี้

 

2
2

 

ความเป็นไปได้ในการลงทุนในบล็อกเชนประเภทต่างๆ

ที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่เห็นจะเป็นบิทคอยน์ที่เป็นทางเลือกในการทำธุรกรรม พราะความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีประเภทอื่น มันไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ไม่ต้องการบุคคลที่สามเยอะ หากมีเงินหรือทรัพยากรมากขึ้น จะลงทุนในบล็อกเชนที่ไว้แก้ปัญหา ลดต้นทุนกันทำธุรกรรมกันภายในองค์กรที่เป็นแบบ Localization ก็ได้ ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ซับซ้อนมากนัก

ส่วนใครที่คิดจะลงทุนบล็อกเชนที่เป็นแบบ Substitution กับ Transformation ก็ต้องวางแผนกันให้รอบคอบ เพราะมีบุคคลที่สามเข้ามาใช้งานเยอะ ต้องมั่นใจว่าบล็อกเชนประเภทนี้จะถูกพัฒนาให้ดีกว่าการทำธุรกรรมแบบเดิม คนใช้เข้าใจง่าย ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้มากกว่าเดิม ปลอดภัยมากขึ้นด้วย

อย่าลืมว่าบิทคอยน์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีบล็อกเชน ยังมีบล็อกเชนอีก 3 ประเภทที่น่าสนใจลองศึกษา แถมล่าสุดมีเทคโนโลยีอย่าง Hashgraph ที่จัดการและเรียงธุรกรรมได้เร็วและปลอดภัยกว่า Blockchain ด้วย

เพราะบล็อกเชนจะมาปฏิรูปการทำธุรกิจจริง ช้าหน่อยแต่ก็มาแน่ ฉะนั้นไม่มีตอนไหนที่เราต้องเตรียมพร้อมเท่าตอนนี้อีกแล้ว

 

แหล่งที่มา: The Truth about Blockchain โดย Macro Iansiti และ Karim R. Lakhani จาก Harvard Business Review เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ปี 2017

อ่านบทความทั้งหมด ที่ MarketingOops.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0