โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'บลูมเบิร์ก'ตีข่าว'รัฐบาลร้าว-เศรษฐกิจทรุด' วิกฤติ'โควิด'สุมไฟการเมืองขัดแย้งรอปะทุ

แนวหน้า

เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 03.50 น.

25 พ.ค. 2563 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เสนอข่าว “Pandemic May Split Thailand’s Ruling Coalition, Says Opposition” ว่าด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-Ocha) ซึ่งแม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ได้เผยให้เห็นปัญหาทางการเมืองทั้งในพรรคฝ่ายรัฐบาลเอง รวมถึงความไม่พอใจจากผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการของรัฐ

รายงานข่าวเริ่มต้นด้วยการอ้างความเห็นของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (Sompong Amornvivat) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อันเป็นพรรคการเมืองแกนนำของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่กล่าวเมื่อ 22 พ.ค. 2563 ว่า ตนมองเห็นรอยร้าวในการรวมตัวกันของฝ่ายรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองมากกว่า 10 พรรค ดังนั้นเสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดจนการเคลื่อนไหวของประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง 

รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลได้กลายเป็นคำถามว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตั้งขึ้นในเดือน ก.ค. 2562 จากการเลือกตั้งที่ยุ่งเหยิง ณ เวลานั้น จะอยู่รอดไปได้ถึงปี 2566 หรือครบ 4 ปีหรือไม่ เพราะไม่เพียงความวุ่นวายทางการเมืองเท่านั้น แต่ไทยยังต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจหดตัวในระดับเลวร้ายที่สุดเป็นครั้งแรก หากนับตั้งแต่วิกฤติการเงินเอเชียเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน (วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540-ผู้แปล)
พรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองแกนนำของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ปฏิเสธกระแสข่าวความแตกแยกภายในพรรค รวมถึงข่าวลือที่ว่า อุตตม สาวนายน (Uttama Savanayana) หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ขณะที่ ธนกร วังบุญคงชนะ (Thanakorn Wangboonkongchana) โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ในทันที

รายงานข่าวกล่าวต่อไปถึงการคาดการณ์ของ ธนาคารโลก (World Bank) ว่า รัฐบาลไทยใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่ร้อยละ 15 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ในปี 2563 ต้องเผชิญการหดตัวทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6 และอาจมีคนตกงานมากถึง 10 ล้านคน นั่นหมายถึงความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น 

มาตรการแจกเงินเยียวยาคนละ 155 เหรียญสหรัฐ หรือ 5,000 ต่อเดือน มีผู้ขอรับความช่วยเหลือถึง 29 ล้านคน แต่มีเพียงครึ่งเดียวที่ได้รับการอนุมัติ นับไปสู่ข้อเรียกร้องว่ารัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือประชาชนมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 พร้อมกับเริ่มให้กิจการต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดทำการ

พล.อ.ประยุทธ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 และปกครองแบบเผด็จการเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งจากเลือกตั้งภายใต้กฎกติกาที่สร้างขึ้นระหว่างยุคสมัยรัฐบาลทหาร ซึ่งก่อนจะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดาผุ้สนับสนุน ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างต่อเนื่องจากประเด็นความยุติธรรมในการเลือกตั้ง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (Pita Limjaroenrat) หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคฝ่ายค้านอันดับ 2 ของกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า การขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมถึงการล็อกดาวน์ยิ่งขยายความไม่พอใจให้เพิ่มสูงขึ้น ย้อนกลับไปในเดือน ม.ค. 2563 นักศึกษาเริ่มชุมนุมประท้วง แต่ตอนนี้ไม่ว่าผู้ใช้แรงงาน เจ้าของธุรกิจและชนชั้นกลางต่างก็รู้สึกไม่มั่นคงเช่นกัน 

รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ (Punchada Sirivunnabood) นักวิชาการด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีรวมถึงนโยบายในอนาคตอันใกล้ ส่วนขบวนการประท้วงที่ดำเนินอยู่บนโลกออนไลน์ระหว่างช่วงล็อกดาวน์ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ที่มา bnnbloomberg

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0