โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บริษัทจีน200แห่งจ่อเข้าตลาดหุ้นไทย แนะธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพ

Money2Know

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 06.12 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
บริษัทจีน200แห่งจ่อเข้าตลาดหุ้นไทย แนะธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพ

"ภากร" เผยตลาดทุนไทยแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องมากสุดในอาเซียนช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เตือนธุรกิจจีน 200 แห่งจ่อเข้าตลาด แนะธุรกิจเร่งดึงศักยภาพแข่งขัน ระบุความท้าทายตามกฎหมายใหม่ เปิดทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน IOD Special Event 1/2019 ในหัวข้อ “Board of the Year, Board of the Futureตลาดทุนไทยยุค 4.0 ว่า สถานการณ์ตลาดทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากเพราะโครงสร้างของแต่ละบริษัท จะมีผลกระทบในการดำเนินงานในหลายภาคส่วน

สำหรับปัจจุบันถ้าหากบริษัทในประเทศไทยต้องการจะระดมทุนเพื่อนำมาต่อยอดการดำเนินธุรกิจ หรือทำกิจกรรมใดก็แล้วแต่ จะสามารถทำได้ด้วยการระดมทุนหลักๆ 3 อย่างนั่นคือ

1.การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์

2.การออกตราสารหนี้

3.การออกหุ้น

ในอดีตนั้นบริษัทต่างๆที่ต้องการจะระดมทุน ทางเลือกอันดับแรกเลยคือการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และต่อมาการออกตราสารหนี้ก็ค่อยๆเข้ามาได้รับความนิยม และในที่สุดการออกหุ้น ก็เข้ามามีบทบาทตามลำดับด้วยเช่นกัน

ถ้าถามถึงสถานการณ์ของตลาดทุนไทยในยุคปัจจุบันนั้นต้องบอกว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการระดมทุนจากบริษัทภายในประเทศอย่างสม่ำเสมอ และถ้าเทียบตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน 5 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่มีการระดมทุนมากที่สุด โดยมีการระดมทุนไปแล้วกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การระดมทุนในตลาดทุนไทยนั้นไม่ได้มาจากการระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวแต่มีความหลากหลายในการระดมทุนไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดกลางหรือเล็กล้วนแล้วแต่มีการระดมทุนที่มากด้วยเช่นกัน ซึ่งการระดมทุนในไทยนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละปี ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศในอาเซียนที่มีการระดมทุนมากเป็นอันดับ 2 ด้วยเม็ดเงินรวม 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็มีคู่แข่งรายที่ 3 ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญอย่างเวียดนามที่หลายปีหลังตลาดทุนภายในประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาโดยตลอด

ขณะเดียวกัน Market Capitalization หรือมูลค่าราคาตามตลาดของตลาดทุนไทยขณะนี้อยู่ที่ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในตลาดทุนไทยมีการซื้อขายต่อวันไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นยอดซื้อขายที่เยอะที่สุดในอาเซียน แสดงให้เห็นว่ามีสภาพคล่องสูงเช่นกัน

ในอดีตการซื้อขายของตลาดทุนไทยส่วนใหญ่มักมาจากบุคคลในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเทรนด์มีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อขายเป็นต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นแบบนี้ทั่วอาเซียนเช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนของไทยขณะนี้ก็มีภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือที่ดีมาก

โดยได้รับการยอมรับจาก Asia Corporate Governance Association (ACGA) มากกว่า 30 บริษัทแล้ว นอกจากนั้นในระดับ Global Standard ซึ่งเป็นระดับโลกยังมีบริษัทจากไทยอีก 9 บริษัทได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องนำกลับมาคิดว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเป็นการต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการได้รับการยกย่องดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีบริษัทที่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของแต่ละอุตสาหกรรมธุรกิจระดับโลกจากการจัดอันดับดังกล่าวโดยมี AOT การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในภาคธุรกิจการบิน

ส่วน BDMS ก็ถูกใจให้เป็นบริษัทอันดับที่ 2 ของโลกในภาคธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งถ้าเรานำจุดแข็งของบริษัทเหล่านี้มายกระดับ และนำไปขายให้มีความกว้างมากขึ้นจะช่วยดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนกับบริษัทในประเทศไทยได้มากขึ้นอีกแน่นอน

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดึงศักยภาพของบริษัทในธุรกิจประเภทอื่นออกมาด้วย เพื่อป้องกันการเข้ามาของบริษัทจีนในอนาคต ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 200 บริษัท

จากที่ได้กล่าวไปสรุปได้ว่าตลาดทุนในไทยนั้นใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน มีการบริการครบวงจร แต่สิ่งสำคัญคือเราจะขยายการทำธุรกิจเล็กๆที่กำลังจะเติบโตให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายๆได้อย่างไร และจะขยายธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งในประเทศออกไปยังต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

ความท้าทายของตลาดทุนไทยที่จะต้องเผชิญในอนาคตนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง พระราชบัญญัติใหม่ เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการระบุว่าในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีตลาดหลักทรัพย์แค่ที่เดียว และไม่จำเป็นต้องซื้อขายเฉพาะหุ้นในประเทศไทยเท่านั้น

เป็นความท้าทายอย่างมากว่าเราจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายครั้งนี้อย่างไร ซึ่งในอนาคตนั้นเราต้องดีลกับไซเบอร์มากขึ้น คนจะค่อยๆถูกลดลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเรื่อง Cyber Security เข้ามามีบทบาทมากขึ้นมีการแฮคข้อมูลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันข้อมูลในเชิงธุรกิจของเราไม่ให้รั่วไหลออกไป และจะนำกฎหมายมาประยุกต์ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าสิ่งเหล่านี้คือการทำธุรกิจในอนาคตว่าจะทำอย่างไรให้ส่งผลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสเตกโฮลเดอร์จะมีการแข่งขันกันที่รุนแรงขึ้นจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่มีการพัฒนาแข่งกันมากในปัจจุบันและในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องใช้ข้อมูลเยอะขึ้นและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ Big Data ทำให้สามารถส่งเสริมการขายที่ตรงใจผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราเริ่มเล็งเห็นในยุคปัจจุบัน และต้องเริ่มปรับตัวเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว ซึ่งถ้าใครไม่ปรับหรือปรับไม่ทันก็มีสิทธิสูงที่จะต้องล้มหายไปจากอุตสาหกรรมโดยปริยาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0