โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'บรรยง' ไขรหัสฟื้นการบินไทย เติมเงินสดแสนล้าน สู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 04 มิ.ย. 2563 เวลา 09.36 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 04.22 น.
บรรยง พงษ์พานิช
“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน

ท่ามกลางความตกต่ำของ“การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ถูกลอยแพไปขึ้นฝั่งคาอยู่ที่ “ศาลล้มละลาย”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน อดีตบอร์ดการบินไทย ซึ่งเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยื่นมือเข้าช่วยอดีตรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ด้วยหวังว่าจะเกิดการถอดบทเรียน นำไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ

แนะซ่อมสถานะการเงิน “การบินไทย”

“บรรยง” มองว่า การที่รัฐบาลเลือกใช้กระบวนการฟื้นฟูการบินไทยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย เป็น “ทางเลือกที่ถูกต้อง” ดีกว่าปล่อยให้ล้มละลายไปเฉย ๆ หรือใส่แต่เงินเข้าไป โดยไม่มีหลักประกันว่าจะกลับมาดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างกำไรได้อย่างไร

แต่ระหว่างนี้ รัฐบาลควรเร่งซ่อมสถานะทางการเงิน (balance sheet) การบินไทย ให้กลับมาอยู่ในสภาวะพร้อมเปิดดำเนินการ

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันที คือ 1.ลดหนี้สิน และ 2.เพิ่มทุน โดยควรให้กลับมามีหนี้สินต่อทุนราว 2 ต่อ 1 ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินประมาณ 3 แสนล้านบาท หมายความว่า รัฐบาลต้องลดหนี้สินให้เหลือ 2 แสนล้านบาท แล้วกันไว้เป็นทุน 1 แสนล้านบาท”

“บรรยง” แนะนำว่าในการเจรจากับเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนต้องทำให้เจ้าหนี้เห็นว่า การทำให้การบินไทยกลับมาดำเนินการได้ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการเอาทรัพย์สินไปขาย จากนั้นรัฐบาลค่อยใส่เงินสดเข้าไป

“ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะใช้อำนาจต่อรองในฐานะคนที่ใส่เงินใหม่เข้าไป ไปต่อรองกับเจ้าหนี้ว่า เขาจะต้องลดหนี้ลงบ้าง ต้องยอมเปลี่ยนหนี้เป็นทุนบ้าง เพื่อหวังว่าเมื่อการบินไทยกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ ก็จะมีมูลค่าขึ้นมา”

กรณี “เจแปนแอร์ไลน์” การฟื้นฟูประสบความสำเร็จมาก ลดหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันลงไปถึง 85% เหลือเพียง 15%

ส่วนเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน ข้อดีในภาวะนี้ คือ เขาไม่อยากได้เครื่องบินเท่าไหร่ เพราะในยามนี้เครื่องบินทั่วโลก 16,000 ลำ ถูกใช้งานเพียง 10% เพราะฉะนั้น ต้องเจรจาให้เขายืดหนี้ ลดหนี้ ลดดอกเบี้ย และเปลี่ยนหนี้เป็นทุน

เติม 1 แสนล้าน ต่อลมหายใจ 1 ปี

“บรรยง” ประเมินว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบินไทยกลับมาเปิดดำเนินการได้ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หากใส่เงินเข้าไปเฉย ๆ อาจเกิด “ภาวะทึ้งแล้ววิ่ง” คือ เจ้าหนี้ที่ถึงกำหนดรับเงิน ได้เงินแล้วก็รีบวิ่งหนีไป ไม่กลับมาให้กู้อีก ดังนั้น การใส่เงินเข้าไปครั้งนี้จึงต้องใส่หลังจากที่ตกลงกับเจ้าหนี้ได้แล้ว

“สายการบินอื่น ๆ เช่น ลุฟท์ฮันซ่า สิงคโปร์แอร์ไลน์ส ใช้วิธีการใส่เงินเข้าไปเหมือนกัน เป็นการใส่เงินเพื่อให้กลับมากำไรตามปกติ ขณะที่การบินไทยต้องพิสูจน์ว่าจะไม่กลับไปขาดทุน หลังจากขาดทุนมา 10 ปีต่อเนื่อง ต้องสามารถพลิกขึ้นมาให้ได้”

วางกลยุทธ์ใหม่-โละคนลดต้นทุน

อดีตกรรมการ บมจ.การบินไทยชี้ว่า สิ่งที่การบินไทยต้องทำ คือ การวางกลยุทธ์ใหม่ วางตำแหน่งทางการตลาดใหม่ ปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน ที่สำคัญ คือ การลดต้นทุน ทั้งต้นทุนการขายตั๋วโดยสาร ซึ่งเคยขายผ่านเอเย่นต์มากเกินไป รวมถึงต้นทุนการซื้อ ตั้งแต่เครื่องบิน เก้าอี้ กะปิ น้ำปลา มะนาว ฯลฯ

ตลอดจนการลด“คน” ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า การบินไทยมีคน “มากเกินไป” เทียบกับภารกิจที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย ลูกเรือ ฝ่ายช่าง และคนใน ฝ่ายสนับสนุนต่าง ๆ

“บรรยง” กล่าวว่า การบินไทยมีพนักงานรวมเอาต์ซอร์ซ ประมาณ 28,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรมีพนักงาน 16,000-17,000 คน น่าจะเพียงพอ ดังนั้น การวางแผนหลังจากนี้จะต้องกระทบพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“บรรยง” เผยด้วยว่า คนที่อยู่ในระดับบริหาร ระดับตัดสินใจในการบินไทย ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดมาก แต่เนื่องจากการบินไทยมีพนักงานเยอะ จึงมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าที่ควร แต่รายหัวไม่สูง หลายจุดต่ำกว่าตลาดมาก แน่นอนว่าพอต่ำกว่าตลาดก็ยากที่จะจัดจ้างคนเก่งมาทำงานได้

สุดท้ายเมื่อผ่านการพลิกฟื้นกระบวนการใหญ่ “บรรยง” มั่นใจว่า

การบินไทยจะมีศักยภาพแข่งขันในธุรกิจการบิน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับธุรกิจการบิน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีคนเดินทางเข้า-ออก

จำนวนมาก โดยมีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน ที่สำคัญ ประเทศไทยยังมีค่าครองชีพไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นสายการบินพรีเมี่ยม

ชนวนสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอื่น “บรรยง” ฉายภาพว่า รัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชนด้วยระบบและกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น “ไม่เวิร์ก”

“โลกพิสูจน์แล้วว่าการบริหารแบบรัฐในกิจการที่ต้องแข่งขัน ต้องมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพ ไม่ให้มีการรั่วไหล รัฐทำได้ไม่ดี ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทุกแห่งในโลก จึงเกิดกระบวนการที่เรียกว่า ลดรัฐ (privatization) ขึ้น”

แต่การจะไปยุบหรือขายทิ้งรัฐวิสาหกิจที่ประเทศไทยมีอยู่ 56 แห่ง สินทรัพย์รวมกว่า 1.6 แสนล้านบาทนั้น “เป็นไปไม่ได้”

ต้องใช้วิธีเปลี่ยนระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ลดการรั่วไหล เน้นผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ ซึ่งมีหลายโมเดลที่ต่างประเทศใช้กัน

ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เช่น การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ “เทมาเส็ก” ซึ่งเริ่มต้นมีเงินทุน 12 ล้านเหรียญปัจจุบันมีทรัพย์สิน 5 แสนล้านเหรียญ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใส่เงินลงไป แถมเทมาเส็กยังส่งเงินให้รัฐบาลจำนวนมาก และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทมาเส็ก เช่น สิงคโปร์เทเลคอม สิงคโปร์แอร์ไลน์ส ดีบีเอสแบงก์ ฯลฯ ยังกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ไม่ใช่เฉพาะในสิงคโปร์

ใคร ๆ ก็ไม่ปลื้มปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

แต่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งองคาพยพไม่ถูกใจสิ่งนี้

“บรรยง” กล่าวว่า นักการเมืองไม่ชอบการปฏิรูป เพราะอำนาจที่เคยมีจะหมดไป ข้าราชการประจำก็ไม่ชอบ เพราะอำนาจของหน่วยงานที่ตัวเองดูแลอยู่ก็จะไม่มี และข้าราชการก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเก้าอี้กรรมการอีกต่อไป ขณะที่ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเองก็ไม่ชอบ เพราะหมายถึงการถูกบีบให้กระโดดเข้าสู่สนามแข่งขัน พนักงานก็ไม่ชอบเพราะต้องทำงานมากขึ้น จะเช้าชามเย็นชามเหมือนเดิมไม่ได้ สุดท้าย คือ คู่ค้าของรัฐวิสาหกิจ ที่เคยทำการค้าแล้วได้ผลกำไรดีก็จะเกิดการต่อต้าน

นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคมที่มักจะยกเรื่องความรักชาติ สมบัติชาติ ขึ้นมาโจมตี หลายคนบอกว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะทำให้เกิดการกินรวบ แต่ “บรรยง” ตั้งคำถามให้คิดว่า ระหว่าง “กินแบ่ง” กับ “กินรวบ” อะไรจะกินน้อยกว่ากัน

ประธานธนาคารเกียรตินาคินกล่าวด้วยว่า ข้อดีของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คือ ความโปร่งใส ทุกอย่างต้องเปิดเผย มีกระบวนการ และเปิดให้เกิดการตรวจสอบเต็มที่

“สุดท้ายผมเชื่อในประชาชน ตราบใดที่ประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ มันจะเกิด ตอนนี้อยู่ที่ประชาชนว่าจะสนับสนุนแค่ไหน ถ้ารัฐบาลนี้ยังไม่เห็นควร มีพรรคการเมืองไหนเห็นว่าดีจะเอาไปเป็นนโยบายก็เชิญตามสะดวก ผมมั่นใจว่ามันดีกว่าสถานะปัจจุบันแน่นอน” บรรยงกล่าวและว่า

เวลามีการตั้งรัฐบาล คนจะแย่งกระทรวงที่มีงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุดอยู่ 2-3 แห่ง หากเราจัดการรัฐวิสาหกิจได้ดี กระทรวงซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเกรดเอบวกจะกลายเป็นเกรดซีในมุมของนักการเมืองทันที คราวนี้ก็ช่วยท่านนายกฯไม่ให้ปวดหัว จะได้ไม่ต้องมาแย่งทึ้งกระทรวงนี้กัน

 

ขุดรากเหง้าปัญหาประเทศ

“บรรยง” ฉายภาพปัญหาประเทศในภาพใหญ่ระบุว่า เกิดจากเศรษฐกิจไม่โตและไม่กระจาย ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ

“การลดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด คือ ทำให้ข้างล่างโตมากกว่าข้างบน แต่ของเราข้างล่างโตน้อย แถมข้างบนเอาไปหมด เลยยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ๆ”

สาเหตุของโครงสร้างนี้มาจาก “รัฐมีขนาดใหญ่เกินไป” และ “ขยายตัวไม่หยุดยั้ง” นำไปสู่การคอร์รัปชั่นใหญ่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0