โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บทเรียนรับเงินบริจาค ถูกฟ้องล้มละลาย "ใช้บัญชีส่วนตัว" เสียภาษีหรือไม่?

Manager Online

เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 22.18 น. • MGR Online

บทเรียนบัญชีส่วนตัวไม่เหมาะรับบริจาค กรณี "สมหวัง อัสราษี" แกนนำ นปช. ถูกฟ้องล้มละลาย เพราะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากการรับเงินบริจาค 572 ล้าน กังวลไปถึง "บิณฑ์ บันลือฤทธิ์" เปิดรับบริจาคน้ำท่วม พบสาเหตุไม่ได้อยู่ในรูปแบบของมูลนิธิ ถือเป็นเงินได้ต้องเสียภาษี แนะทางออกคุยกับสรรพากรไปตรงๆ

… รายงาน

จากกรณีที่นายสมหวัง อัสราษี เจ้าของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อมิตซูชิต้า และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ระบุว่า แกนนำ นปช. ได้แก่ วีระกานต์ มุสิกพงษ์, จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ใช้ให้ตนเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินบริจาค และกิจกรรมอื่นๆ ปรากฎว่าถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากเงินเหล่านี้เป็นจำนวน 572 ล้านบาท แต่เมื่อไม่มีจ่ายจึงถูกฟ้องล้มละลาย และขณะนี้ถูกอายัดทรัพย์ และอายัดบัญชีทั้งหมด

ทำให้ชาวเน็ตส่วนหนึ่งกังวลไปถึงกรณีที่ นายบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ นักแสดงชื่อดัง ประเดิมเงินส่วนตัว 1 ล้านบาท เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ปรากฎว่าหลังจากปิดบัญชีไปเมื่อวันที่ 2 ต.ต. ที่ผ่านมา มียอดเงินบริจาคเข้าบัญชีธนาคาร 422,496,062 บาท ไม่นับรวมคนนำเงินสดมามอบให้อีกจำนวน 4,008,002 บาท ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่ากังวล แต่ได้ถามกรมสรรพากรแล้ว ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า สรรพากรมองว่าประชาชนฝากเงินให้เอาไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไม่ใช่เงินส่วนตัว เพราะรับมาเท่าไร จ่ายไปเท่านั้น เหมือนเป็นตัวแทน เพียงแต่ว่าถ้าสรรพากรสงสัย ก็อาจจะขอดูหลักฐาน

ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่กลุ่มบุคคลร่วมทำโครงการเพื่อการกุศล เช่น โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร ที่ดำเนินโครงการกว่า 11 ปี ถูกกรมสรรพากรแจ้งว่า จะต้องชำระภาษีที่มีเงินหมุนเวียนผ่านบัญชีในชื่อของบุคคล ที่โครงการได้เปิดรับบริจาคในการรักษาแมวทั่วประเทศ เพราะถือเป็นรายได้ส่วนบุคคลต้องมีการเสียภาษีย้อนหลัง ซึ่งการมีเงินเข้าบัญชีทำให้โครงการต้องมีรายจ่ายค่าภาษี รวมถึงค่าปรับเนื่องจากไม่ได้ชำระภาษี น่าจะเป็นยอดรายจ่ายที่สูงมาก ภายหลังโครงการนี้ได้จดทะเบียนเป็น "มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร" เพื่อความโปร่งใสและถูกต้องในการดำเนินงานทุกกรณี โดยการรับเงินบริจาคจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิ ไม่ใช่บัญชีบุคคลธรรมดาอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก TaxBugnoms ซึ่งให้ความรู้เรื่องภาษี เคยอธิบายแนวทางโดยรวมว่า การเปิดรับบริจาคโดยใช้บัญชีบุคคลธรรมดานั้น ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของมูลนิธิ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากเงินบริจาค ถือเป็นรายได้ หรือ เงินได้ทางภาษี และการรับบริจาค ทำสินค้าที่ระลึก หรือซื้อขายสินค้า ประมูลต่างๆ รวมถึงระดมทุน น่าจะเข้าข่ายเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ต้องมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการรับเงินผ่านบัญชีส่วนตัว สำหรับแนวทางหากถูกสรรพากรเรียกไปชำระภาษีก็คือ การไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงว่า ส่วนไหนควรจะเป็นรายได้ และส่วนไหนไม่ควรถือเป็นรายได้ และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้รับทราบ สิ่งที่ควรมี คือ บัญชีรายรับรายจ่ายและหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ให้ชัดว่านำไปทำอะไรส่วนไหนยังไงบ้าง และต้องแยกประเภทเงินเข้าบัญชีออกมาว่า แบบไหนเป็นอย่างไร

แบ่งออกเป็น 1. ส่วนที่เป็นเงินบริจาค อาจจะถือเป็นเงินได้โดยเสน่หา ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (28) หรือ (29) แห่งประมวลรัษฏากร แต่ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ถ้าหากให้เงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี อาจจะต้องเสียภาษีจากการรับให้ในอัตรา 5% ของส่วนที่เกิน และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2. ส่วนที่เป็นเงินได้จากการขายสินค้า ประมูล หรือของที่ระลึก น่าจะเข้าข่ายเป็นเงินได้ประเภทที่ (8) โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือเหมา และนำส่วนที่เหลือมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ หากรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการจัดการและกระทำการบริจาคจริง และมีหลักฐานครบถ้วน น่าจะพอพูดคุยกันได้ และถ้าหลังจากนี้จะทำต่อ อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการจดมูลนิธิ เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้มีปัญหาซ้ำซ้อน

สำหรับขั้นตอนการจดมูลนิธิ เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จากการตรวจสอบพบว่า มีอยู่ 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ 1. การจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ โดยต้องมีทุนทรัพย์เริ่มแรกไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท แต่ถ้าเป็นมูลนิธิเพื่อสังคมสงเคราะห์ จะได้รับการผ่อนผันให้มีทุนทรัพย์เริ่มแรกไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท และต้องมีบุคคลอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิ โดยจะเสนอให้นายทะเบียนมูลนิธิ ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา 2. การประกาศกำหนดให้มูลนิธิเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ต้องให้มูลนิธิจัดตั้งขึ้นครบ 1 ปีขึ้นไป โดยยื่นคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงการคลัง ซึ่งกรมสรรพากรจะตรวจสอบย้อนหลัง 1 รอบระยะเวลาบัญชี ปัจจุบันมีมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล 973 แห่งทั่วประเทศ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0