โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บทเรียนจากการเปลี่ยนงานบ่อยเกินไป - เพจเจ้าหญิงแห่งวงการHR

TALK TODAY

เผยแพร่ 26 ธ.ค. 2562 เวลา 04.57 น. • เพจเจ้าหญิงแห่งวงการHR

- อยากได้เงินเดือนเยอะๆ ก็ต้องเปลี่ยนงานบ่อยๆซิ

- ถ้าไม่เปลี่ยนงานตอนนี้ ไปเปลี่ยนตอนแก่ก็ไม่มีใครรับแล้วนะ

- งานแบบนี้ใครจะไปทนไหว ออกไปหางานใหม่ดีกว่า

- ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ที่ใหม่เค้าให้เงินเยอะกว่า

….. และอีกสารพัดเหตุผล ที่ทำให้คนอยากลาออก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่โบนัสออกล้าววววววว #ถึงเวลาของเราละ 555 ก็อย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่าการลาออกเป็นเรื่องธรรมชาติ การตัดสินใจเป็นของเรา และแน่นอนว่าชีวิตหลังจากการตัดสินใจลาออกก็เป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบตัวเองเช่นกัน

ไปได้ดีก็ดีใจด้วย

ไปแล้วไม่ใช่ ก็ต้องออกหาเส้นทางใหม่เรื่อยๆ

จากประสบการณ์ในการเคยสัมภาษณ์ผู้สมัครงาน และจากเพื่อนๆที่เคยเขียนมาถามในเพจ หนึ่งในความกังวลใจที่สุดของคนรุ่นใหม่ๆ คือ “เปลี่ยนงานบ่อยจะมีผลอะไรมั้ย” จะดูไม่ดีรึป่าว จะทำให้หางานยากมั้ย หรือจะมีผลเสียอะไรบ้าง ….

เรามาคุยกันเรื่องจากเปลี่ยนงานบ่อยๆ กันนะคะ (ไม่ใช่การลาออก เปลี่ยนงานปกตินะคะ)

มาค่ะ สำหรับคนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ มารวมกันตรงนี้เลยค่ะ 

ในฐานะที่เคยเป็นคนนึงที่เปลี่ยนงานบ่อย (มาก) รวมถึงได้มีโอกาสได้อยู่ในกระบวนการสรรหาพนักงานมามากกว่าสิบปี 

ขอสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเปลี่ยนงานบ่อยๆ มาให้อ่านกันนะคะ

• เปลี่ยนงานบ่อยๆเพื่ออัพเงินเดือน ใช้ได้จริง แต่ใช้ได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี แน่นอนว่าช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน เรายังสามารถตัดสินใจเลือกลักษณะงานและองค์กรที่คิดว่าจะเหมาะสมกับเรามากที่สุดได้ เราสามารถเปลี่ยนงานได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีแหละ โดยที่อาจจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นที่ละ “หลายพันบาท” เพราะเงินเดือนสอง สามหมื่นสำหรับคนที่มีประสบการณ์ทำงานนิดหน่อย ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับหลายๆ องค์กรเพื่อแลกกับคนที่ดูมีแนวโน้มว่าจะทำงานได้ดี

 …. แต่ !!! ถ้าคุณลาออก “บ่อยๆ” ในตอนอายุ 30 กว่าปี มีโอกาสมาที่คุณจะถูกมองว่ามีปัญหา อย่างน้อยที่สุดคือปัญหาในการตัดสินใจ สิ่งที่เราคาดหวังจากคนที่มีประสบการณ์ทำงานหลายๆปี คือการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในอดีตเพื่อไม่ให้เลือกผิดพลาดซ้ำๆ แต่หากแม้กระทั่งการตัดสินใจเลือกงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับชีวิตคุณ คุณยังเลือกได้ไม่ดี นั่นอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในวุฒิภาวะของคุณ กับตำแหน่งงานและเงินเดือนระดับของคนที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่าเด็กจบใหม่ได้นะคะ

• เรามีโอกาสได้เงินเดือนน้อยลงจากการเปลี่ยนงานบ่อยๆในตอนอายุเยอะ เมื่อก่อนตอนอ่านใบสมัครที่ได้รับ เคยสงสัยว่าทำไมบางคนที่เรียนจบมาเก่งพอๆกัน ถึงมีเงินเดือนต่างกันมากๆ เลยหาคำตอบทั้งจากการอ่านใบสมัคร และมีโอกาสได้สัมภาษณ์คนเหล่านั้น พบว่าคนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆในตอนอายุเยอะ มีโอกาสที่จะยอมลดเงินเดือนตัวเองเพื่อให้ได้งาน เพราะในวันที่เรามีภาระเพิ่มขึ้น เราจะยอมแลกบางอย่างเพื่อให้ยังมีรายได้ คือยอมได้เงินน้อยลงดีกว่าตกงานนานๆ หรือต้องทนทำงานที่ไม่อยากทำในที่เดิมนั่นเอง 

เรามีโอกาสติดกับดักเงินเดือนของตัวเองด้วยนะ จากการที่เราใช้การเปลี่ยนงานบ่อยๆ เพื่อเพิ่มเงินเดือน มันก็ธรรมดาแหละที่เมื่อเรามีตำแหน่งสูงขึ้น รายได้มากขึ้นแล้วจะเปลี่ยนให้ตัวเองมีอะไรๆ น้อยลง ก็อาจจะทำใจยากนิดนึง เลยอาจจะทำให้การตัดสินใจในเรื่องงานเป็นไปได้ยากแล้ว อยู่ที่เดิมก็ไม่ไหว จะหาที่ใหม่ก็ได้เงินน้อยลง อะไรทำนองนี้

• การเพิ่มเงินเดือนแบบก้าวกระโดดอีกวิธีคือการได้ปรับตำแหน่งในบริษัทเดิม ถ้าเราใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองในองค์กรที่ถูกต้อง คุณมีโอกาสได้รับการปรับเงินเดือนที่มีอัตราเฉลี่ยสูงกว่าการลาออกเพื่อเปลี่ยนงานแน่นอน และที่สำคัญคือมั่นคงกว่าด้วยนะ เพราะเปลี่ยนงานใหม่ก็ต้องไปเริ่มเรียนรู้อะไรใหม่ๆอีก จะปรับตัวได้มั้ยก็ไม่รู้ แต่ถ้าทำงานที่เดิมให้ประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสที่เราจะได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แบบออแกนิกส์อ่ะนะ คือไม่ได้เร่งดอกเร่งผลแต่เติบโตอย่างมั่นคงและสบายใจ 

• โอกาสไม่มากที่เราจะได้รับการยกระดับจากลูกน้องเป็นหัวหน้าจากการเปลี่ยนงาน พูดถึงกรณีว่าเราไม่เคยเป็นหัวหน้ามาก่อน แล้วอยากเป็นหัวหน้าเลยลาออกจากที่เดิม เพื่อไปเป็นหัวหน้าในที่ใหม่อะไรทำนองนี้อ่ะนะคะ การเป็นหัวหน้าเป็นทักษะที่ท้าทายค่ะ หมายถึงการเป็นหัวหน้าที่ดีนะคะ ><” ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณอยากจะก้าวไปสู่อีกระดับ โอกาสที่ดีที่สุดคือการแสดงฝีมือในที่ทำงานเดิมจนมีโอกาสได้ปรับตำแหน่ง แต่ถ้าคุณเลือกแล้วที่จะเป็นลูกน้องไปเรื่อยๆก็ข้ามข้อนี้ไปค่ะ 

• ยิ่งเปลี่ยนงานบ่อย ยิ่งหางานยาก อันนี้ไม่เสมอไปนะ แต่ที่จะทำให้หางานยากก็อาจจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1. ผู้บริหารส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดคือคนที่ก้าวหน้าได้จากการทุ่มเททำงานและได้รับการปรับตำแหน่ง จึงทำให้เค้ามีความเชื่อว่าต้องเป็นคนแบบเดียวกับเค้า จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่ายากมากที่คนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆจะผ่านความเชื่อเหล่านั้นไปได้ และ 2.ในการสัมภาษณ์ผู้สมัครในตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินเดือนมากขึ้น สิ่งที่เค้าคาดหวังคือการนำความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานที่เดิม มาใช้กับที่ใหม่ ซึ่งหากเราทำงานที่เดิมได้ไม่นานแล้วลาออก ถึงแม้ว่าจะเป็นตำแหน่งงานเดียวกัน แต่เราก็ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่กับที่ใหม่ แต่ตำแหน่งที่สูงขึ้นอาจจะต้องเริ่มที่นับ 7 หรือ 8 ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจจะยังไม่เคยไปถึงจุดนั้น เพราะมัวแต่กลับไปนับ 1 ใหม่อยู่เรื่อยๆ คำตอบในการสัมภาษณ์ของเราก็อาจจะไม่ตรงประเด็น หรืออาจจะฟังดูตื้นไปเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานนั้นมาอย่างช่ำชอง

• ประสบการณ์ในธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาจึงไม่สนใจว่างานที่จะไปสมัครเป็นธุรกิจอะไร ขอให้เป็นตัวเลือกที่ดีก็จะตัดสินใจไปทำ แต่ในความเป็นจริงคือ ถ้าเรามีอายุงานที่เท่ากัน คนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเดียวกันจะมีโอกาสได้งานนั้นมากกว่า รวมทั้งมีโอกาสในการได้เงินเดือนเยอะกว่าด้วย เพราะอะไร เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งอะไร สายงานไหน แต่ในปัจจุบันทุกคนในองค์กรมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกำไร ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละธุรกิจจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน การมาจากธุรกิจเดิม เราแค่มาเรียนรู้องค์กรใหม่ ใขณะที่สามารถเอาประสบการณ์บางอย่างจากที่เดิมมาต่อยอดกับที่ใหม่ได้อีกด้วย สำหรับคนทั่วๆไปแบบเรา นอกจากประสบการณ์ในสายงานแล้ว ประสบการณ์ในสายธุรกิจก็มีมูลค่าเช่นกันนะคะ

• อายุงานที่ยังไม่ควรลาออก คือน้อยกว่า 4 เดือน เพราะคำถามแรกที่เกิดขึ้นในหัวของคนที่อ่านใบสมัครคือ ไม่ผ่านทดลองงานรึเปล่าวะ ? ใช่ค่ะ ต่อให้เราลาออกด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการลบความคิดนี้ออกไปจากหัวผู้สัมภาษณ์ให้ได้ แต่นั่นก็ยังดีกว่าอีกหลายคนที่จะไม่มีแม้โอกาสถูกเรียกมาสัมภาษณ์เพราะการถูกตัดสินไปแล้วว่าคนนี้มีประวัติไม่ผ่านทดลองงานไปอี๊กกกกก

ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่แบบเราจะคิดว่า ก็คน Generation เราเค้าก็เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าคนที่ตัดสินใจเลือกเรามาทำงาน เค้าไม่ได้อยู่ใน Gen นี้ หรืออาจจะมีความเชื่อว่าความอดทนเป็นหนึ่งในตัววัดความพยายามเพื่อให้งานสำเร็จ 

และในอีกมุมนึง การทำงานในที่ใดที่หนึ่งเพื่อสร้างผลงานชิ้นสำคัญให้ตัวเอง เรียนรู้จนมีความเชี่ยวชาญในอาชีพ ซึ่งในท่ามกลางตัวเลือกที่เหมือนๆกัน เราจะเป็นตัวเลือกที่มีความโดดเด่น เราก็จะมีโอกาสได้รับสิ่งที่ดีกว่านะคะ เพราะนอกจากเราจะเก่งแล้ว เรายังมีความอดทน ความพยายามด้วยนะ และอีกหนึ่งเรื่องที่ปฏิเสธไมได้คือนายจ้างหลายคนยังให้น้ำหนักกับความไว้วางใจได้อ่ะแหละ คือเค้าก็อยากได้คนที่จะสามารถไว้วางใจให้ทำงานใหญ่ๆที่อาจจะใช้ความพยายามและระยะเวลานึงเพื่อให้สำเร็จ เค้าก็คงไม่อยากเปลี่ยนคนระหว่างทางบ่อยๆ เพราะนอกจากจะต้องสอนงานใหม่แล้วก็ยังอาจจะทำให้งานล่าช้าไปอีก

มาถึงตรงนี้ก็ย้ำว่าการลาออกไม่ใช่เรื่องผิดนะคะ 

แต่จะไม่ดีเท่าไหร่ถ้าเราต้องลาออกแล้วทำให้ชีวิตมันลำบากไปอีก

หางานที่รัก หาบริษัทที่ดี หาหัวหน้าที่เก่ง แล้วทำเส้นทางชีวิตของเราให้ดีไปด้วยกัน

#รักนะคะ

#เจ้าหญิงแห่งวงการHR 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0