โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บทสัมภาษณ์พิเศษ "พี่อ้อย-พี่ฉอด" กับภาวะ "ซึมเศร้า" หรือ "เศร้าซึม"

Amarin TV

เผยแพร่ 23 มี.ค. 2562 เวลา 13.19 น.
บทสัมภาษณ์พิเศษ
ระยะหลังนี้ ต้องยอมรับว่าเราสูญเสียเพื่อนร่วมโลกเพราะ “โรคซึมเศร้า” ไปจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนดัง หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในบ้านเรา

ระยะหลังนี้ ต้องยอมรับว่าเราสูญเสียเพื่อนร่วมโลกเพราะ “โรคซึมเศร้า” ไปจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนดัง หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในบ้านเรา น่าตกใจเมื่อย้อนกลับไปตามข่าว พบว่าเป็นเยาวชนจำนวนมากเลยทีเดียว วันนี้ Amarintv.com ได้รับโอกาสพิเศษ ไปพูดคุยกับกูรูทางด้านที่ปรึกษาอย่าง “พี่ฉอด – สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” และ “พี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล” กับประเด็นที่น่าสนใจที่ว่า “ซึมเศร้า” หรือ “เศร้าซึม”

ต้องบอกว่าตอนนี้มีคนที่ฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าค่อนข้างเยอะมาก  และที่น่ากลัวคืออายุน้อยลงด้วย รู้สึกยังไงกับตรงนี้บ้างเหตุการณ์แบบนี้?

พี่ฉอด  : “ค่ะ คือช่วงนี้เราได้ยินข่าวกันเยอะมากนะคะ  เอาจริงๆ มันคงเริ่มต้นจากข่าวประเภทของคนที่เป็นโรค  พี่เรียกว่ามันป่วยทางใจดีกว่านะ สารพัดโรคแหละซึมเศร้า  ไบโพล่าห์ คือโรคอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ  มันจะมีผลกระทบกระเทือนต่อการแสดงออกของเขาที่กระทำต่อคนอื่น และสิ่งที่มันตามมา   ณ วันนี้มันก็คือว่า เมื่อมันมีคนป่วยทางใจเยอะๆ อ่ะค่ะ สิ่งที่เขาป่วยมันก็เลยกลายเป็นว่า  เขาก็จะไปกระทำอะไรใดๆ กับผู้คนมากมาย และมันก็เลยเกิดเป็นสถานการณ์อะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น การทำร้ายคนอื่น  จนกระทั่งถึงทำร้ายตัวเอง”

พี่อ้อย  : “หรือว่ารวมแม้กระทั่งการมีโลกโซเชียล  วันนี้โลกโซเชียลเราวิพากษ์วิจารณ์กันรุนแรงมาก  เราจะเอาชีวิตของเราเข้าไปอยู่ มันก็ต้องได้ใช้คำว่าออกสื่ออ่ะ  เพราะฉะนั้นเราจะห้ามคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์เราก็ไม่ได้ แต่เราเองก็อาจจะเปราะบางเกินกว่าที่จะรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น และก็อีกอันหนึ่งค่ะด้วยความที่วันนี้ชีวิตของเรา เป็นชีวิตที่มันดูง่ายไปหมด ทุกอย่างง่าย ใช้เวลารวดเร็ว และเราก็เลยเอาคำว่าเวลาอันรวดเร็วมาใช้กับทุกอย่าง เรารู้สึกว่าเรารอไม่เป็นล่ะ รู้สึกว่าเรารับมือความเจ็บปวดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เราเลยรู้สึกว่าความตายคือทางรอดแห่งการจบกับความเจ็บ หรือแม้แต่พฤติกรรมเลียนแบบ เราเห็นบ่อยขึ้น เราเห็นคนฆ่าตัวตายแล้วผลที่ได้รับคืออย่างนี้ เค้าจากไป คนรอบข้างเสียใจ แต่บางทีบางวันอารมณ์วูบนึงเรารู้สึกว่า  เราอยากให้คนรอบข้างได้รู้สึกถึงความสูญเสียเราบ้างอะไรอย่างนี้ มันก็เลยทำให้เกิดเหตุการณ์นี้”

พี่ฉอด : พี่ก็ยังวิเคราะห์อยู่ดีว่า เขาอาจจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความไม่สบายในจิตใจอยู่ เพราะว่าการที่พี่มีความมั่นใจหนึ่งว่า การที่คนเราจะทำร้ายใคร ไม่ว่าทำร้ายคนอื่นๆ  หรือทำร้ายตัวเองก็ตาม คนจะทำร้ายตัวเองเนี่ยมันไม่ใช่ตัดสินใจง่ายๆ นะคะ คิดดูว่าสิเรานั่งอยู่แล้วเราจะเอามีดมาแทงตัวเองเนี่ย เราต้องกลัวเจ็บ นึกออกใช่ป่ะ  งั้นคนที่จะทำอะไรแบบนี้ได้เนี่ย จิตใจเขาต้องๆ มีปัญหาอย่างรุนแรงมากๆ เค้าถึงจะใจแข็งพอ แข็งแรงพอที่จะทำร้ายตัวเองให้มันเจ็บปวดได้อะไรอย่างเงี้ยค่ะ

การทำความเข้าใจกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไร?

พี่อ้อย : สิ่งหนึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าเขาป่วยนะ  แต่มากไปกว่านั้นคือตัวเขาเองต้องเข้าใจก่อนนะว่า  ตัวเขาเองต้องรีบเยียวยาและรักษา วันนี้เรามาคิดว่า  ไม่ใช่มั้งเราไม่ได้ป่วย เราแค่รู้สึกว่าก็แค่เราเศร้า  แล้วทำไมทุกคนถึงไม่เอาใจเราล่ะ เพราะเราเศร้าอยู่นะ เพราะฉะนั้นพี่ว่าวันนี้มันต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจกัน  พี่มักจะบอกเสมอว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าต้องเข้าใจก่อนนะคะ ว่าการไปหาหมอไม่ใช่ความผิดปกติ ปวดหัวยังอยากรู้ว่าทำไมปวดหัว  ปวดใจก็ยังอยากรู้ว่าทำไมเราปวดใจ การทานยาตามที่คุณหมอสั่งก็สำคัญ การพยายามดูแลตัวเองและวิธีคิดที่จะเอามาเยียวยาหัวใจก็สำคัญ เพราะฉะนั้นการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในวันนี้  เอาจริงๆ คนเดียวเอาไม่อยู่ ต้องช่วยกันทั้งคนในครอบครัว และคนรอบๆ ข้าง

พี่ฉอด : คนรอบๆ  ตัวสำคัญมากนะคะ  ที่จะมีส่วนที่ทำให้ไม่ว่าจะในแง่มุมของการช่วยเหลือ  ในแง่มุมของการกระหน่ำซ้ำเติมทำให้เขาอาการหนักขึ้น วันนี้เราจะพูดกันอยู่เสมอว่า  ให้คิดไปเลยค่ะว่ามันมีโรคนี้อยู่ มันมีปัญหาเรื่องจิตใจของคนรอบๆ ตัวเราอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสอะไรที่เราสามารถจะช่วยดูแลคนที่อยู่รอบตัวเราได้ต้องทำทันที  เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นเขาซึมเศร้า เขาเสียใจ เขามีอาการผิดปกติไปอะไรก็ตามแต่ เราต้องยื่นมือเข้าไปทำอะไรก็ได้เท่าที่พอจะทำได้ และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามรู้สึกหนักหนาต้องพบแพทย์  ต้องพาเขาไปหาหมอให้ได้ 

พี่อ้อย  : มันมีคนเยอะมากนะที่อาจจะอยากถามตัวเองว่า  แล้วแบบเราเนี่ยเข้าซึมเศร้าหรือเปล่า พี่เชื่อว่าหลายคนสงสัย เราก็เลยต้องใช้จิตแพทย์ค่ะ  ก็เลยชวนน้อง “หมอเอิ้น พิยะดา” เราทำคลาสชื่อว่า “สำรวจใจ ซึมเศร้า หรือแค่ เศร้าซึม”  ซึ่งบางคนอาจจะแค่เศร้าซึมเองนะ แล้วชอบบอกว่า เห้ยแกฉันต้องเป็นโรคซึมเศร้าแน่เลย  เดี๋ยวก่อนใจเย็น โรคซึมเศร้ามันไม่ได้เบาๆ เหมือนที่เราคิด เพราะฉะนั้นคลาสนี้จะเป็นคลาสที่เปิดโอกาสให้หลายๆ  คน สมัครเข้ามาฟรีนะคะ นั่งคุยกับจิตแพทย์ น้องเอิ้นเองจะมีคลาสของเขาอยู่แล้ว แล้วเขาก็จะมาเพิ่มขึ้นว่ามันจะเป็นการรีเช็คตัวเองว่าตกลงอันเนี้ยต้องหาหมอนะ  อันเนี้ยเยียวยาด้วยใจ เราจะได้เข้าใจเขามากขึ้น และเราจะได้รับมือกับคนข้างๆ ถ้าเกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น  ที่สำคัญไม่ใช่คนบ้านะคะ อย่าพึ่งคิดว่าพบจิตแพทย์ต้องเป็นคนบ้าเท่านั้น เราต้องเลิกล้มความคิดนี้สักทีในคนไทย

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า และสนใจอยากที่จะเข้าร่วมคลาส “สำรวจใจ ซึมเศร้า หรือแค่ เศร้าซึม”  กับ “พี่อ้อย-พี่ฉอด” และ “หมอเอิ้น” สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค Club Friday The Series ตั้งแต่วันนี้ – 26 มี.ค.62

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0