โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธรรมะ

บทกรวดน้ำ

LINE TODAY

เผยแพร่ 05 ก.ย 2561 เวลา 07.05 น.

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “กรวดน้ำ” หมายถึง การแผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ เป็นความตั้งใจอุทิศบุญกุศล ให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง ซึ่งนิยมกรวดน้ำหลังจากทำบุญถวายทานเสร็จแล้ว เพื่อประสงค์จะทำเจตนาของตนให้บริสุทธิ์ทั้งก่อนทำบุญ ขณะทำบุญ และหลังทำบุญ 

ทั้งนี้ การกรวดน้ำถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากจะเป็นการักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความยินดีในการบำเพ็ญกุศลที่ได้ทำไว้แล้ว และเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น เพื่อแสดงเจตนาของผู้กรวดน้ำด้วย

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของประเพณีกรวดน้ำ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระเจ้าพิมพิสาร ผู้สร้างวัดแรกในพระพุทธศาสนา ให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติในอดีตชาติที่ละโลกแล้ว แต่ไปเกิดเป็นเปรต และมารอรับส่วนบุญอยู่นานเป็นพุทธันดร (ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นไป และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ)

แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารไม่ทรงทราบว่าญาติมารอรับส่วนบุญส่วนกุศลอยู่นานเป็นพุทธันดรแล้ว ทำให้เวลาพระองค์ทำบุญก็เลยไม่เคยอุทิศส่วนกุศลให้เลย ญาติที่เป็นเปรตก็ยังคงเป็นเปรตอยู่ต่อไป ญาติเหล่านั้นเป็นทุกข์หนัก ก็เลยปรากฏตัวให้เห็นว่า ตัวเองเป็นเปรต ส่งเสียงร้องโหยหวน อยู่ในวัง พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นเข้า ก็รีบเสด็จไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทำไมมีเปรตมาร้องลั่นอยู่เต็มวัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงเล่าเรื่องหนหลังให้ฟังว่า เปรตเหล่านี้คือญาติในอดีตชาติของพระเจ้าพิมพิสาร ในอดีตชาติพระเจ้าพิมพิสารทำบุญทำทาน ตั้งโรงทานเลี้ยงพระ เลี้ยงมหาชน แต่ว่าญาติเหล่านี้ไม่มีกุศลศรัทธา เลยยักยอกเอาของที่จะถวายสงฆ์ไปใช้ไปกินเป็นของตัว ละโลกไปแล้วเลยต้องไปเกิดเป็นเปรต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารทำบุญเลี้ยงพระ แล้วกรวดน้ำอุทิศบุญ ส่งให้กับเปรตเหล่านั้น พวกเปรตเหล่านั้นพอได้รับส่วนบุญส่วนกุศลก็กลายสภาพไปเป็นเทวดาด้วยอำนาจบุญ กลายเป็นที่มาของการกรวดน้ำมาจนถึงปัจจุบัน

ถามว่าถ้าทำบุญแล้วไม่อุทิศส่วนกุศล เรายังจะได้บุญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าตัวเราเองจะกรวดน้ำหรือไม่กรวดน้ำ เราซึ่งเป็นคนทำบุญย่อมได้บุญอยู่แล้ว แต่ถ้ากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น ก็จะทำให้เขาพลอยได้รับส่วนบุญส่วนกุศลไปด้วยนั่นเอง

ดังนั้น ทำบุญครั้งใด ก็ขอให้กรวดน้ำให้ได้ทุกครั้ง ถ้าหาน้ำไม่ได้ ก็ทำใจให้นิ่ง ให้ใส ถ้าทั้งใส ทั้งสว่าง จนกระทั่งเห็นสายบุญ อย่างนั้นไม่ต้องใช้น้ำเลย สายบุญนี้จะตรงดิ่งไปหาผู้ที่เราต้องการให้ถึง ต่อให้ไม่มีน้ำสักหยดเลยก็ตาม แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าบุญที่ทำนั้นจะหมด หรือจะโดนแจกจ่ายให้คนอื่นเสียหมด เพราะบุญก็เหมือนงานศิลปะดี ๆ สักชิ้น ต่อให้เรียกใครมาชื่นชม งานศิลปะชิ้นนั้นก็ไม่ได้ลดคุณค่าลงแต่อย่างใด มีแต่จะเพิ่มคุณค่ามากขึ้นไปอีก

บทกรวดน้ำ (อุทิศส่วนกุศล)

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

อิทัง เม ครุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ครุปัชฌายาจะริยา

อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา

อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา

อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี

ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า  

ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข

ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า  

ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข

ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า 

ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข

ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลาย 

ขอให้เทวดาทั้งหลาย จงมีความสุข

ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย 

ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข

ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย 

ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุข

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0