โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บทวิเคราะห์ : เกิดอะไรขึ้นกับการท่องเที่ยวลาว เมื่อตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 19 ต.ค. 2561 เวลา 03.38 น.
1560540_10153680871510352_1099161820_n

การท่องเที่ยวลาวกำลังมีปัญหา นักท่องเที่ยวลดลงมาตั้งแต่ปี 2016 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ระหว่างปี 2012 จนถึงปี 2015 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังลาวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักทุกปี

ปี 2015 คนต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในลาว 4.6 ล้านคน แต่ในปี 2016 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียง 4.23 ล้านคน

ถือเป็นตัวเลขที่ลดลงมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แถมตัวเลขต้นปีถัดมายังไม่กระเตื้องขึ้นกี่มากน้อย

ลงเอยด้วยการที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าลาวในปี 2017 ลดลงไปอีกเหลือเพียง 3.86 ล้านคนเท่านั้น

นั่นเป็นที่มาของการประกาศแผนส่งเสริม “ปีการท่องเที่ยวลาว 2018” ในงานไอทีบี เทรดโชว์ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม 2017 ซึ่งทางการลาวตั้งเป้าไว้ที่การดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน

ในช่วง 6 เดือนแรกแผนส่งเสริมใหม่มีทีท่าว่าจะได้ผล ตอนเดือนพฤษภาคมเจ้าหน้าที่ลาวอ้างว่ายอดนักท่องเที่ยวขยับเพิ่มขึ้น “เล็กน้อย”

 

แต่แล้วปัญหาใหญ่ก็ถล่มเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่โศกนาฏกรรมเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกที่แขวงอัตตะปือ และแขวงจำปาสัก ต่อด้วยฤดูกาลของพายุในหน้ามรสุม ที่หอบฝนตกหนักผิดปกติจนเกิดน้ำท่วมน้ำหลากเป็นวงกว้าง ซึ่งเอเย่นต์การท่องเที่ยวระบุว่า ส่งผลกระทบอย่างหนักกับการจองและการวางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า

และแน่นอนทำให้ยอดนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังลดลงอย่างช่วยไม่ได้

เมื่อผสมผสานกับการยอมรับของเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวว่า หลังตรวจสอบจริงๆ แล้ว ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก “ไม่ถึง 2 ล้านคน” ทำให้มีแนวโน้มสูงมากว่า ไม่เพียง “ปีการท่องเที่ยวลาว 2018” จะพลาดเป้าเท่านั้น จำนวนนักท่องเที่ยวอาจลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สามก็เป็นได้

เท่านั้นเอง ปรากฏการณ์ “โยนกลอง” ก็บังเกิด

ทางกระทรวงการท่องเที่ยวยืนยันว่าอนาคตระยะยาวของการท่องเที่ยวลาวนั้นสดใส “เนื้อหา” การท่องเที่ยวมีหลากหลาย

ความล้มเหลวเกิดจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวต่างหากที่บกพร่อง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

สิ่งที่ทางการเรียกร้องก็คือ การร่วมกันทำงานเป็น “ทีมเวิร์ก” เพื่อสร้างความประทับใจให้กับบรรดาผู้มาเยือนจากต่างประเทศ

 

ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเอกชนกลับยืนยันว่า ทางการต่างหากที่เป็นสาเหตุ แล้วก็ยกตัวอย่างกรณีที่จู่ๆ มีการประกาศเรียกเก็บ “ภาษีท่องเที่ยว” จากนักท่องเที่ยวที่ถือพาสปอร์ตต่างประเทศคนละ 1 ดอลลาร์ ขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์

สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวเงิน 1 ดอลลาร์ แต่ปัญหาอยู่ที่จังหวะเวลาและแนวทางปฏิบัติ

ภาษีดังกล่าวเรียกเก็บตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่เห็นได้ชัดว่าในบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายต่อหลายจุด เจ้าหน้าที่ยังไม่มีความพร้อมในการนี้

ทั้งๆ ที่รัฐบาลออกประกาศเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ยิ่งไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ของกระทรวงการท่องเที่ยว หรือแม้แต่เว็บไซต์อื่นใดของทางการ

รวมทั้งการท่องเที่ยวลาว ยิ่งทำให้ความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ไม่มี

 

ตัวอย่างเช่น จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียกเก็บเป็นดอลลาร์ สามารถใช้เงินสกุลอื่นได้หรือไม่ในอัตราแลกเปลี่ยนที่เท่ากัน? หรือผู้ที่เดินทางเข้า-ออกภายในวันเดียว จำเป็นต้องจ่ายด้วยหรือไม่

ผลก็คือ จุดตรวจหลายแห่งกลายเป็นคอขวด นักท่องเที่ยวเข้าคิวกันยาวเพื่อเคลียร์ปัญหาที่ว่านี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึง “ไฮ-ซีซั่น” ของการท่องเที่ยวลาว ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงมีนาคมด้วยซ้ำไป

แถมยังเป็นไตรมาสสุดท้ายของ “ปีการท่องเที่ยวลาว 2018” อีกด้วย

จะมาสร้างความยุ่งยากสับสนให้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำไมกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0