โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บทบาทสตรีในสังคมมุสลิมอุษาคเนย์ จาก "ราณี" บนบัลลังก์ถึง "โสเภณี" ในตลาด

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 ต.ค. 2564 เวลา 17.37 น. • เผยแพร่ 30 ต.ค. 2564 เวลา 17.35 น.
สตรีราณีอุษาคเนย์2
สี่ราตูผู้ครองบัลลังก์นครรัฐปตานียาวนานถึง 104 ปี (พ.ศ. 2127-2231) : ราตูฮิเจา-ราตูบีรู-ราตูอุงงู-ราตูกูนิง (ภาพวาดโดย ประดิษฐ์ พูลสาริกิจ)

ความนำ

ตำนานของนครอาเจะห์ อ้างถึงฟัตวาผู้นำประกาศิตจากนครเมกกะมาถึงนครอาเจะห์ ดารุสซาลาม ในปีพุทธศักราช2242 (ค.ศ. 1699) ประกาศว่าสตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ปกครองดินแดนใดในรัฐอิสลาม เพราะขัดกับพระโองการขององค์อัลเลาะห์

ปีนั้น เป็นปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของ ราตูกัมมาลัต(Sri Ratu Kamalat Syah Zinat al_Din) สตรีคนสุดท้ายที่ขึ้นครองบัลลังก์นครอาเจะห์ ดารุสซาลาม พระนางถูกขับจากบัลลังก์ด้วยประกาศิตจากนครเมกกะ กว่า3 ศตวรรษนับจากนั้น พุทธศักราช2544 (ค.ศ. 2001) นางเมกะวาตี ซูการ์โนบุตรี(Megawati Soekarnoputri) ชนะการเลือกตั้งเพื่อเข้ารับตำแหน่งประมุขหญิงคนแรกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชาชนมุสลิมมากที่สุดในโลก

เรื่องราวแต่โบราณของอดีตผู้ปกครองหญิงในดินแดนภาคพื้นสมุทรของอุษาคเนย์นั้น ปรากฏอยู่ในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินทางชาวตะวันตกจำนวนมาก ด้วยบุรุษนักแสวงโชคเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องผูกสัมพันธ์ สยบยอมต่อสตรีที่มีอำนาจอยู่เหนือดินแดนที่พวกเขาดั้นด้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงโชค

บันทึกของพวกเขายังสะท้อนภาพและบทบาทอันมีพลังของสตรีต่างชนชั้นที่พวกเขาพบเจอในนครรัฐต่าง ๆ บนเส้นทางการเดินเรือ…จากท่าเรือ ตลาดร้านค้า จนถึงพระราชวัง เรื่องราวของสตรีเหล่านี้ที่ถูกบันทึกไว้เต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลายและชวนติดตาม ทั้งเรื่องราวของสี่ราตูผู้ครองนครรัฐปตานียาวนานกว่า1 ศตวรรษ; เรื่องของสุลต่านหญิง(sultanah) คนแรกของอุษาคเนย์; เรื่องของราชินีม่ายผู้ทรงอิทธิพลแห่งนครจัมบี; เรื่องของหญิงสามัญที่ขึ้นครองบัลลังก์นครบันเต็น; เรื่องของสตรีใน “สวนรัก” และชายาสุลต่านผู้ถูกเรียกว่า “นางโสเภณีบูกิส”; เรื่องของ “มิดะ” ในสังคมมุสลิม และเรื่องราวของ “เมียชั่วคราว” ในสังคมท่าเรือที่นครปตานี ฯลฯ

บทบาทของสตรีอีกหลายคนในสังคมมุสลิมถูกบันทึกชื่อไว้ในพงศาวดารราชวงศ์ ตำนานพื้นถิ่น บ้างก็ถูกสะท้อนผ่านบทกวี เฉกเช่นเรื่องราวของ “นางโสเภณีผู้ต้องคำสาป” แห่งอาเจะห์

เรื่องที่ถูกเล่าขานผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปีเหล่านี้ บางเรื่องอาจถูกกร่อนเซาะไปพร้อมกาลเวลา หลายเรื่องยังคงปรากฏเป็นหลักฐานให้เล่าขานสืบต่อ 

งานเขียนเรื่องนี้ ผู้เขียนได้พยายามตามรอยข้อมูลของผู้หญิงในสังคมมุสลิมที่ปรากฏอยู่ในเอกสารวิชาการต่าง ๆ และสืบค้นต่อไปที่เอกสารโบราณ ทั้งในพงศาวดารราชวงศ์ ตำนานพื้นถิ่น และบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามาสัมผัสกับสังคมบนคาบสมุทรมลายูในช่วงเวลานั้น ๆ เรื่องที่ถูกบันทึกไว้ของสตรีเหล่านี้มีทั้งที่สอดคล้องและแตกต่างกันไปในเอกสารแต่ละชิ้น หนังสือแต่ละเล่ม ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างหลากหลายของผู้บันทึก แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ชวนให้สืบค้นต่ออย่างมิรู้จบ

**ราตูมาศ:

พระชนนีผู้ทรงอิทธิพลเหนือสองนครา**

เจ้าหญิงแห่งปาเล็มบัง(Palembang) นามว่า ราตูมาศ(Ratu Mas) ซึ่งต่อมาได้เป็นราชินีของนครจัมบี(Jambi) และกลายเป็นพระชนนีหลวงผู้ทรงอิทธิพลภายหลังที่พระสวามีสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2173 (ค.ศ. 1630)

ช่วงต้นของศตวรรษที่17 นครจัมบีได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งแห่งเกาะสุมาตราที่เป็นรองเพียงนครอาเจะห์เท่านั้น ปีพุทธศักราช2179 (ค.ศ. 1636) มีบันทึกว่าผู้ปกครองของปาเล็มบังได้ตกลงกับผู้แทนการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(Dutch East India Company/Vereenigde Oost-Indische Compagnie – VOC) ว่า จัมบีและปาเล็มบังนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน

ช่วงนั้นเป็นยุคทองของการค้าขายพริกไทย ขณะที่เจ้านครผู้เป็นโอรสของราตูมาศทรงมีภาระกับราชการแผ่นดินด้านการเมืองการทหาร ราตูมาศดำรงบทบาทเป็นองค์อุปถัมภ์ของพ่อค้าดัตช์และอังกฤษ และทรงมีอิทธิพลในกิจการต่าง ๆ ของทั้งจัมบีและปาเล็มบัง ตราบจนสวรรคตในปี พ.ศ. 2208 (ค.ศ. 1665)

บันทึกของพ่อค้าชาวตะวันตกเล่าว่า ราตูมาศใช้อำนาจควบคุมการส่งออกสินค้าและราคาสินค้าต่าง ๆ และพระนางยังดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศอย่างชาญฉลาดกับพ่อค้าชาวตะวันตก แบบที่ทำให้พ่อค้าเหล่านั้นต้องยื่นอุทธรณ์ร้องทุกข์ เช่น กรณีที่พ่อค้าชาวอังกฤษอุทธรณ์ว่าการที่พวกเขาเสียเปรียบพ่อค้าท้องถิ่นชาวมุสลิม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครดิตในการซื้อขายพริกไทยได้

ที่เมืองมะตะรัม(Mataram) มีบันทึกพ่อค้านักเดินทางและตำนานเมืองที่กล่าวถึงพระชนนีหลวง2 พระองค์ คือ ราตูปากูบูวานา พระชนนีของสุลต่านอามังกุรัตที่4 และราตูอามังกุรัต ชายาของสุลต่านอามังกุรัตที่4 ผู้เป็นพระมารดาของสุลต่านปากูบูวานาที่2 กับบทบาทที่ทำให้ผู้แทนการค้าของบริษัทVOC ต้องนับสองพระนางรวมอยู่ในกลุ่มบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในการเมืองของราชสำนักมะตะรัม ระหว่างพุทธศักราช2266-84 (ค.ศ. 1723-41)

พงศาวดารของชวานั้นยกย่องชื่นชมบทบาทของบรรดาราชินีม่ายที่กลายเป็น “พระชนนีหลวง” ว่า “เป็นผู้นำที่วิเศษยิ่งของโลกที่สร้างผู้ปกครองและเฝ้าดูแลชีวิตและงานของพวกเขา”

**ราตูไซรีฟา ฟาติมะห์:

หญิงสามัญผู้ครองบัลลังก์นครบันเต็น**

เอกสารของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC) เกี่ยวกับนครบันเต็น(Banten) ในศตวรรษที่18 กล่าวถึงธิดาของนักปราชญ์ชาวอาหรับที่ได้แต่งงานกับเจ้าผู้ครองนครและได้รับการสถาปนาเป็น ราตูไซรีฟา ฟาติมะห์(Ratu Syariafah Fatimah) 

บันทึกของVOC เล่าว่า ราตูไซรีฟายุยงให้ฝ่ายดัตช์บั่นทอนพระราชอำนาจของเจ้าผู้ครองนครเพื่อที่นางจะควบคุมอำนาจสูงสุดเหนือบัลลังก์ และเมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) ราตูไซรีฟาขึ้นครองบัลลังก์ ทรงใช้อำนาจเบ็ดเสร็จบริหารราชการแผ่นดินทั้งการเมืองและการค้า จนเกิดการทำรัฐประหารต่อต้านพระราชอำนาจ และทางฝ่ายดัตช์ก็ถอนการสนับสนุนพระนาง ราตูไซรีฟาพ่ายแพ้และถูกเนรเทศไปจากนคร

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านราตูไซรีฟานั้น มิได้มีสาเหตุจากการไม่ยอมรับผู้นำที่เป็นสตรี แต่เกิดจากการตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดพลาดของนาง กอปรกับการถอนการสนับสนุนของฝ่ายดัตช์

**ราตูอาเก็ง เตอเกิลราชา:

นักรบ และนายทุน**

William Dampier นักสำรวจชาวอังกฤษที่เป็นทั้งกัปตันเรือและโจรสลัด เดินทางมาถึงมินดาเนา(Mindanao) และชวา(Java) ในช่วงปลายศตวรรษที่17 บันทึกถึงความกล้าหาญของสตรี2 นางไว้ คนแรกเป็นภรรยาของผู้ปกครองชาวมุสลิมบนเกาะทางตอนใต้ของมินดาเนา เขาเรียกสตรีนางนี้ว่า “ราชินีนักรบ” เพราะนางเคียงคู่สามีในการออกรบทุกครั้ง 

สตรีอีกนางหนึ่งที่Dampier บันทึกไว้ว่ามีวีรกรรมกล้าหาญคล้าย ๆ กันนั้น คือ ราตูอาเก็ง เตอเกิลราชา(Ratu Ageng Tegelraja) เป็นชายาคนโปรดของสุลต่านฮาเม็งกูบูวานาที่2 (Hamengkubuwana II) แห่งชวา

บันทึกในจดหมายเหตุย็อกยาการ์ตากล่าวว่า ก่อนมาเป็นพระชายานั้น ราตูอาเก็งเคยเป็นหัวหน้าการ์ดหญิงของราชสำนักย็อกยาการ์ตา(Yogyakarta) ลาภยศและผลประโยชน์จากการเป็นชายาคนโปรดของสุลต่าน ทำให้ราตูอาเก็งกลายเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ และเป็นเจ้าของกิจการค้าข้าวและผ้าบาติก ที่มีพ่อค้ากระทำการแทนในนามของนาง

**ราตูซาฟี:

สตรีเคร่งศาสนา–ผู้บริหารหลังม่านและผ้าคลุม**

นามของราตูซาฟี อัล–ดิน ทัช อัล–อาลัม(Sri Ratu Safi al-Din Taj al-Alam) ได้รับการบันทึกไว้ทั้งในตำนานนครอาเจะห์ ดารุสซาลาม(Aceh Darussalam) และในบันทึกการเดินทางของพ่อค้าชาวยุโรปที่เข้ามาทำการค้ากับนครอาเจะห์

ราตูซาฟี เป็นเจ้านครองค์ที่14 เป็นสตรีคนแรกที่ปกครองนครอาเจะห์ ดารุสซาลาม และทรงเป็นผู้นำหญิงชาวมุสลิมคนแรกในอุษาคเนย์ที่ใช้ทินนามว่า “สุลต่านนะห์”(sultanah)

พระนางเป็นพระธิดาของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา(Iskandar Muda) เจ้านครองค์ที่12 แห่งอาเจะห์ ราตูซาฟีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอิสกันดาร์ ธานี(Iskandar Thani) โอรสของสุลต่านแห่งนครปะหัง เจ้าชายอิสกันดาร์ ธานี ราชบุตรเขยได้รับการสถาปนาเป็นเจ้านครองค์ที่13 แห่งอาเจะห์ ต่อจากสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา และเมื่ออิสกันดาร์ ธานี สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2184 ราตูซาฟีขึ้นครองนครต่อจากพระสวามี

บันทึกของพ่อค้าชาวยุโรปที่ทำงานกับบริษัทVOC กล่าวถึงพระปรีชาสามารถของราตูซาฟี ว่าเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการเจรจาการค้ามาก พระนางจะระแวดระวังอยู่ตลอดเวลากับปัจจัยและเงื่อนไขใด ๆ ที่จะกระทบกับผลประโยชน์ของอาเจะห์ ราตูซาฟีมีวิธีเจรจาต่อรองการค้าอย่างชาญฉลาด กลยุทธ์ที่พระนางใช้อยู่เสมอคือการกระตุ้นให้คู่ค้า คือบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ(East India Company) และบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC) แข่งขันกัน เพื่อประโยชน์ทางการค้าสูงสุดของนครอาเจะห์

ครั้งหนึ่ง ราตูซาฟีประทานสัมปทานการค้าพริกไทยในสุมาตราตะวันตกให้กับฝ่ายอังกฤษ เพื่อเป็นการลงโทษบรรดาพ่อค้าเอกชนฝ่ายดัตช์ที่ปิดล้อมเมืองท่าที่มีการขนถ่ายพริกไทยในบริเวณนั้น และอีกครั้งหนึ่งที่พระนางประทานสัมปทานการค้าให้กับฝ่ายอังกฤษ เพื่อเจรจาให้ปล่อยตัวชาวอาเจะห์ที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ที่เมืองกัว(Goa) ในอินเดีย

หนึ่งในกรณียกิจของราตูซาฟี คือจัดการชุมนุมพบปะกับพ่อค้าต่างชาติทุกวันเสาร์ แต่จะไม่มีพ่อค้าคนใดได้เห็นพระพักตร์ของพระนาง พวกเขาบันทึกไว้ว่า ราตูซาฟีเป็นสตรีที่เคร่งครัดในกฎศาสนามาก พระนางจะสนทนาเจรจาการค้ากับพ่อค้าต่างชาติจากบัลลังก์หลังม่านเท่านั้น 

ขณะเดียวกัน พระนางก็สนใจกับความเป็นไปของสตรีในโลกตะวันตก โดยที่ภรรยาของพ่อค้าเหล่านั้นได้รับเชิญให้เข้าไปส่วนในของราชสำนักเพื่อให้ช่วยอธิบายเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของสตรียุโรปในราชพิธีต่าง ๆ

พ่อค้าของVOC เล่าว่า ราตูซาฟีมีกลุ่มขันทีปัญญาเฉียบแหลมเป็นที่ปรึกษา แต่พระนางไม่เคยตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบรรดาขุนนางในราชสำนัก และพระนางยังคงสืบทอดพระราชพิธีอลังการต่าง ๆ จากสมัยของพระบิดาและพระสวามีไว้ รวมทั้งดูแลอุปถัมภ์สตรีนับพันคนในฮาเร็มในราชสำนักไว้ต่อไป

ราตูซาฟีปกครองอาเจะห์อยู่34 ปี จาก พ.ศ. 2184-2218 (ค.ศ. 1641-75) ทรงเป็นผู้นำหญิงมุสลิมในยุคสมัยเดียวกับราตูกูนิงแห่งนครรัฐปตานี หลังรัชสมัยของราตูซาฟี มีสตรีขึ้นสืบทอดบัลลังก์นครอาเจะห์อีก3 คน ติดต่อกัน รวมแล้วนครอาเจะห์ ดารุสซาลามอยู่ภายใต้การปกครองของสตรี4 คน นานกว่าครึ่งศตวรรษ นับจากพุทธศักราช2184-2242 (ค.ศ. 1641-99)

แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้านครหญิงอีก3 คนนี้แทบไม่ปรากฏให้เห็น นอกจากบันทึกของ โทมัส บาวรี่(Thomas Bowrey) พ่อค้าชาวอังกฤษที่มาเยือนอาเจะห์ในช่วงศตวรรษที่17 ที่กล่าวถึงบรรดาผู้ปกครองหญิงของนครอาเจะห์ว่าเป็นสตรี “ที่ไม่ได้แต่งงาน” และเป็นพวกหลีกเลี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์

**ราตูฮิเจา:

ราชินีนักพัฒนา–แม่ค้า–เจ้าหนี้**

ตำนานนครรัฐให้ภาพของราชาฮิเจา(Hijau) สตรีคนแรกผู้ครองบัลลังก์นครปตานี ไว้ว่าทรงเป็นเจ้านครที่ปรีชาสามารถและใส่ใจในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร ตำนานที่เล่าขานให้จดจำกันสืบมาทุกวันนี้คือการที่พระนางสั่งให้ขุดคลองชลประทานที่บ้านตัมบังงัน เพื่อระบายความเค็มของแม่น้ำกรือเซะ เพื่อให้ประชาชนใช้น้ำในการเพาะปลูกและอุปโภค บริโภคได้

แต่บันทึกของ ปีเตอร์ ฟลอริส(Peter Floris) พ่อค้าชาวดัตช์ที่เข้ามาทำการค้าขายกับนครปตานีระหว่างปี พ.ศ. 2155-56 (ค.ศ. 1612-13) ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยของราตูฮิเจา ทำให้ได้เห็นภาพของพระนางในมิติอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ปีเตอร์ ฟลอริส บันทึกไว้ว่า ในช่วงที่เขามีปัญหาทางการค้า ราตูฮิเจาได้เสนอให้เขายืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ6 และกำหนดให้เขาจ่ายเงินต้นคืนภายใน3-4 เดือน นอกจากนี้เขายังต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกร้อยละ1 เข้าท้องพระคลัง และต้องหาของกำนัลมอบให้พระองค์ด้วย รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ฟลอริสบอกว่าเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดร้อยละ7.5

เมื่อครบกำหนด ฟลอริสไปเข้าเฝ้าพระราชินีเพื่อทูลว่าเขาพร้อมจะชำระหนี้ที่ยืมพระองค์มาแล้ว และทูลถามว่าพระองค์มีพระประสงค์จะให้เขาใช้หนี้เป็นทองหรือเงิน

“เราไปเข้าเฝ้าพระราชินีเพื่อทูลให้ทราบว่าเรือสินค้าของเรามาถึงแล้ว และเราพร้อมจะชำระหนี้ให้พระองค์ได้แล้ว เราทูลถามพระองค์ว่าโปรดที่จะให้เราจ่ายหนี้คืนเป็นทองหรือเงิน พระองค์ตรัสว่าพระองค์ต้องการทอง”

ฟลอริสยังได้บ่นไว้ในบันทึกส่วนตัวของเขาว่าราชสำนักปตานีเก็บภาษีการค้าทั้งทางตรงทางอ้อมและเป็นจำนวนสูงกว่าที่อื่น ๆ พ่อค้าต่างชาติต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ทางราชสำนักไม่ต่ำกว่า4 ครั้ง ในการเข้ามาทำการค้าแต่ละครั้ง นับตั้งแต่เรือเทียบท่า พ่อค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นการแจ้งการมาถึง เมื่อพวกเขาจะเอาสินค้าลงจากเรือก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อขออนุญาตเอาสินค้าลง จะชั่งน้ำหนักสินค้าก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม จะเอาเรือออกจากท่าไปค้าขายเมืองอื่นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอีก 

นอกจากนี้แล้ว พ่อค้าต่างชาติต้องเตรียมของขวัญล้ำค่าให้พระราชินีอยู่เสมอด้วย

การค้า–ท่าเรือ–ตลาด–ราชสำนัก

บันทึกของผู้แทนการค้าของVOC สมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านนะห์ทั้ง4 พระองค์ของนครอาเจะห์นั้นต่างชื่นชมบทบาททางการค้าของเจ้านครสตรีที่ทำการค้าอย่าง เป็นธรรม และทำให้เศรษฐกิจของนครเฟื่องฟู

ที่นครรัฐปตานี พระนามของราตูฮิเจาเป็นที่กล่าวขานในหมู่พ่อค้าต่างชาติถึงพระปรีชาสามารถในการสร้างสัมพันธ์ทางการค้า ในรัชสมัยของพระนาง นครรัฐปตานีส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้ากับญี่ปุ่น

บันทึกพ่อค้ายุโรปยังได้กล่าวถึงชายาของสุลต่านแห่งมากัสซาร์ ผู้เป็นเจ้าของเรือสินค้าที่ทำกำไรมากมายที่นครยะโฮร์

แต่บทบาทสำคัญทางการค้าในเมืองท่าของสังคมมุสลิมนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงสตรีที่เป็นเจ้านครเท่านั้น มีบันทึกพ่อค้านักเดินทางจากแดนไกล และตำนานพื้นถิ่นของชวาที่กล่าวถึงสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนักย็อกยาการ์ตาที่ร่ำรวยจากการค้าขายทองคำและอัญมณี และเรื่องราวของหญิงต่ำศักดิ์ผู้มีความชาญฉลาดในการทำการค้าถูกบันทึกไว้ในเอกสารโบราณเช่นกัน 

เช่น ที่ท่าเรือโบราณบนเกาะชวาตะวันออกในศตวรรษที่16 นั้น ปรากฏหลักฐานว่ามีสตรีมุสลิมเป็นนายท่าควบคุมคิวเรือสินค้า และนายทุน นายหน้า ผู้เจรจาการค้ารายใหญ่ในตลาดท้องถิ่นของนครปตานีและนครอาเจะห์ และเมืองท่าในนครอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสตรี

มหากาพย์ชวา(Serat Centhini) ในศตวรรษที่18 บรรยายถึงบทบาททางการค้าที่สำคัญของหญิงม่ายชาวKelang ผู้ร่ำรวยจากธุรกิจการรับจำนำ และการทำกำไรจากการรับซื้อพืชผลราคาต่ำก่อนการเก็บเกี่ยว โดยให้เครดิตล่วงหน้าแก่เกษตรกรก่อนการซื้อขาย เอกสารนี้ยังได้กล่าวถึงบทบาทของนางในการเป็นผู้จัดการงานเต้นรำบันเทิงต่าง ๆ ว่า “สตรีนางนี้มีพลังอำนาจในการกระตุ้นผู้คน” เพื่อ “ความสำราญของผู้มั่งมีที่ทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นจะมีคนจัดการให้ได้เสมอ”

พ่อค้าชาวยุโรปและชาวจีนหลายคนแสดงความประหลาดใจไว้ในบันทึกเมื่อพบว่าพวกเขาต้องเจรจาการค้ากับสตรี Tom Pires นักเดินเรือชาวโปรตุเกสผู้มาพำนักที่มะละกา บันทึกไว้ว่า มะละกา(Melaka) เก็บภาษีได้มากมายต่อเดือนจากบรรดาผู้หญิงที่ขายของตามท้องถนน… เนื่องจากในมะละกามีผู้หญิงขายของอยู่ทุกถนน

ผู้แทนการค้าของVOC บางคนที่ถูกส่งมาทำการค้าทางชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวาบันทึกไว้ว่า ได้พยายามทำธุรกิจโดยตรงกับสตรีที่ค้าขายอยู่ในตลาดโดยการฝากขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า แต่ประสบปัญหากับการจ่ายเงินไม่ตรงเวลาของบรรดาแม่ค้า แต่ในเมืองท่าบางแห่ง ผู้แทนการค้าVOC กลับต้องเผชิญกับปัญหาอื่น คือความลังเลของแม่ค้าท้องถิ่นที่ไม่อยากติดต่อกับชายชาวยุโรปที่พวกเธอเห็นว่าไม่เคารพเพศตรงข้าม

ราชินี–ขุนนาง ขันที และบุรุษข้างกาย

ภาพของราชินีที่มีบุรุษรายล้อมนั้น ถูกเล่าไว้ในหลายแห่ง ทั้งพงศาวดารกระซิบ และในบางบันทึกของพ่อค้าชาวตะวันตกที่อ้างว่าเห็นด้วยตาตัวเอง บางคนบันทึกไว้ว่ามีประสบการณ์ตรงที่เป็นที่ต้องตาต้องใจของเจ้านครหญิง

นักเดินทางชาวออสเตรีย ชื่อChristoph Carl Fernberger von Egenberg ที่มาเยือนนครปตานีระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2167-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2168 (ค.ศ. 1624-25) ซึ่งเป็นช่วงรัชสมัยของราชินีอุงงู ซึ่งเป็นเจ้านครหญิงคนที่3 ของนครปตานี บันทึกเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า พระราชินีมีอายุประมาณ40 กว่าปี เวลาเสด็จไปไหนจะมีผู้หญิงประมาณ200 คน ห้อมล้อมอยู่เสมอ พระนางมีบุรุษ50 คน ไว้เพื่อรับใช้ถวายความอภิรมย์ พระนางเป็นผู้ปกครองประเภทใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ฟังผู้ใด และพระนางมีช้าง50 เชือก เป็นสัญลักษณ์ของบุญญาบารมี

Fernberger เล่าไว้ในบันทึกว่า ในเดือนมกราคม เขาทำงานเป็นผู้บัญชาการทหารและทำหน้าที่ฝึกซ้อมการรบให้กับบรรดาเชลยชาวยุโรปที่อยู่ในปตานี เพื่อช่วยนครปตานีรบกับสยาม วันที่30 มกราคม ทหารมาเลย์3,000 คน และชาวคริสเตียน66 คน ภายใต้การกำกับของเขา ช่วยพระราชินีรบจนชนะทหารสยาม พระนางจึงพระราชทานรางวัลให้มากมาย

สำหรับเขานั้น พระราชินีส่งของขวัญมาให้เป็นกรณีพิเศษ พร้อมกับส่งคนมาบอกว่าจะเสด็จมาเยี่ยมเขาที่ที่พัก และเขาได้รับการบอกเล่าจากนายทหารมาเลย์ว่า หมายถึงพระราชินีมีความปรารถนาในตัวเขา นายทหารมาเลย์บอกกับเขาด้วยว่าที่ผ่านมานั้นมีผู้ชายหลายคนที่ถูกพระราชินีสั่งฆ่าเพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการตามที่พระนางคาดหวัง

Fernberger เล่าว่า เมื่อทราบเช่นนั้น เขาจึงตัดสินใจหนีทันที!

ก่อนหน้านั้น เคยมีบันทึกของAdmiral Cornelis Matelieff นายพลเรือชาวดัตช์ผู้บังคับการกองเรือที่บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาที่ส่งมายังมะละกา(Mellaka) เผยถึงข่าวลือเรื่องรักเร้นลับข้ามรัฐของผู้ปกครองหญิงแห่งนครปตานี กับสุลต่านแห่งนครยะโฮร์(Johore) บันทึกนี้เขียนไว้ในเดือนมกราคม พุทธศักราช2152 (ค.ศ. 1609) ซึ่งอยู่ในช่วงรัชสมัยของราตูฮิเจา ผู้เป็นสตรีคนแรกที่ขึ้นครองนครปตานี

ขณะที่ นิโกลาส์ แชรแวส(Nicholas Gervaise) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงรัชสมัยของราชินีกูนิง(Kuning) ธิดาของราชินีอุงงู บันทึกเกี่ยวกับนครปตานีไว้ว่า

“แม้เจ้าผู้ครองนครหญิงจะได้รับการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดในฐานะผู้ครองบัลลังก์ แต่แท้จริงแล้ว พระนางไม่ได้รับอนุญาตให้เกี่ยวข้องกับกิจการทางการเมืองที่อยู่ในเงื้อมมือของเสนาบดีชาย คณะเสนาบดีจะเลือกระหว่างกันเองให้ได้ผู้ที่มีความสามารถสูงสุดมาปกครองนครรัฐในนามของพระนาง แต่พวกเขาไม่ปฏิเสธสิ่งอื่นใดที่พระราชินีมีพระราชประสงค์เพื่อความเกษมสำราญส่วนพระองค์

*แม้พวกเขาไม่ยินยอมให้พระนางอภิเษกสมรส แต่ไม่ขัดขวางที่พระนางจะมีบุรุษไว้ข้างกายเพื่อถวายความเกษมสำราญส่วนพระองค์ พวกเขาจัดสรรงบประมาณสำหรับที่ประทับ พัสตราภรณ์ ทูลถวายตามพระราชประสงค์ รวมทั้งจัดหาบุหงามาศ พร้อมเครื่องบรรณาการส่งไปสานสัมพันธ์กับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในนามขององค์ราชินี”*

บันทึกของชาวจีนในช่วงต้นศตวรรษที่17 กล่าวถึงราชสำนักอาเจะห์ในปีพุทธศักราชที่2160 (ค.ศ.1617) ไว้ว่ามีขันทีมากกว่า100 คน ในบันทึกของ โทมัส บาวรี่(Thomas Bowrey) ได้กล่าวถึงขันทีกว่าร้อยคนในขบวนเสด็จทางชลมารคของราตูซากี(Sultanah Zakiyat al-Din Syah) ผู้ปกครองหญิงของอาเจะห์ในช่วง พ.ศ. 2221-31 (ค.ศ. 1678-88)

“…พระนางเสด็จไปที่แม่น้ำอะชิน(the River of Achin) พร้อมขบวนเสด็จที่ยิ่งใหญ่อลังการที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เหมือนที่อื่นในโลก… มีข้าราชสำนัก ขันที และสตรีจำนวนมากตามเสด็จ เรือที่ประทับประดับด้วยทองคำ ได้ยินเสียงดนตรีท่วงทำนองเสนาะหูและเสียงเพลงที่ขับร้องถวายแด่ ‘เจ้าหญิงผู้เป็นพรหมจรรย์’…”

สตรีใน “สวนรัก”

บทกวีแห่งบาหลีท่อนหนึ่งบรรยายถึงภาพและบรรยากาศของสถานที่อันเป็นส่วนที่อยู่ของเหล่านางในแห่งราชสำนักไว้ว่า“ฉาดฉายด้วยแสงแรงระยับ ราวกับว่าความงามอันมหัศจรรย์นี้สาดส่องมาจากสวรรค์”

เล่ากันว่าบรรดาเจ้าผู้ครองนครและสุลต่านในดินแดนบนคาบสมุทรมลายู นิยมสร้าง “สวนรัก” (Taman Ghairah) หรือ “สวนสวรรค์” ไว้ให้บรรดาพระสนมได้เพลิดเพลิน พื้นที่ส่วนในของราชสำนักนี้เป็นเขตต้องห้าม บุรุษผู้เดียวที่สามารถเหยียบย่างเข้าไปคือสุลต่านหรือเจ้านคร ผู้หญิงที่อยู่ในสวนรักนี้ นอกจากมีบรรดาพระชายา นางสนม แล้ว ยังมีเหล่าสตรีสูงศักดิ์และสูงวัย ที่เป็นพระญาติวงศ์ของเจ้านคร รวมทั้งนางกำนัล และนางทาส ร่องรอยของสวนรักยังมีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันที่เมืองย็อกยาการ์ตา และที่เมืองอาเจะห์ 

ในสวนรักมีสระน้ำสำหรับสรงสนาน 3 แห่ง สระใหญ่สุดสำหรับบรรดานางใน สระเล็กสำหรับพระชายาและพระสนม และอีกสระหนึ่งสำหรับสุลต่านและสตรีที่ถูกเลือกเป็นคู่อภิรมย์ในค่ำคืนนั้น บริเวณรอบ ๆ สระสรงสนานมีศาลาให้บรรดาพระชายา นางสนม นางกำนัล ได้พักผ่อนคลายอิริยาบถ ส่วนห้องบรรทมของสุลต่านอยู่ชั้นบนของหอคอย 3 ชั้น ที่สามารถมองเห็นสระน้ำได้ทั่วบริเวณ สุลต่านจะเลือกสตรีที่ตนพึงใจจากหน้าต่างห้องนั้น

พ่อค้า VOC ชื่อ Rijklof van Goens เขียนไว้ในรายงานการค้ากับเมืองมะตะรัม (Mataram) ปี พ.ศ. 2199 (ค.ศ. 1656) ว่า“ในเวลากลางคืน บุรุษผู้เดียวในพระราชวังนี้คือสุลต่านอามังกุรัตที่ 1 (Amangkurat I) ที่อยู่ท่ามกลางสตรีเกือบหนึ่งหมื่นคน สตรีเหล่านี้ รวมทั้งบรรดาราชินิกูลฝ่ายหญิงวัยอาวุโส พระชายา และนางสนม…”

บันทึกของพ่อค้าชาวตะวันตกกล่าวถึง “ตลาดขายสินค้าแปลก” อันเป็นแหล่งที่บรรดาสตรีใน “สวนรัก” แห่งราชสำนักต่าง ๆ พยายามเสาะหาสิ่งเพิ่มพูนเสน่ห์แห่งเพศรสเพื่อให้เป็นที่โปรดปรานของเจ้าผู้ครองนคร G.E. Rumphius นักธรรมชาติวิทยาที่ทำงานให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ได้บันทึกไว้ในรายงานของเขาว่าสินค้าชนิดหนึ่งที่เป็น “สารผสมพิเศษระหว่างตะกั่วและสารส้ม” ถูกส่งจากเกาะบันดา (The Island of Banda) ไปที่ชวาเป็นประจำ

“ผู้หญิงชาวมัวร์จะใช้สารนี้เพื่อชำระล้างและฟอกส่วนเร้นลับในร่างกายของเธอให้แห้งเพื่อสร้างความอภิรมย์ให้บุรุษของเธอ วิธีการนี้เป็นสิ่งจำเป็นในหมู่ชนชาติเช่นนี้ที่ผู้หญิงจำนวนมากถูกเก็บไว้เพื่อชายคนเดียว ผู้หญิงแต่ละคนจึงต้องเสาะแสวงหาสิ่งที่ทำให้เธอเป็นที่โดดเด่นตรึงใจที่สุด”

ด้าน Van Goens เล่าถึงชายาคนหนึ่งของสุลต่านอามังกุรัตที่ 4 (Amangkurat IV) ว่าต้องถูกขับจากราชวังภายหลังอภิเษกสมรสได้ 4 ปี ด้วยเหตุที่นางไม่อาจสร้างความอภิรมย์ทางเพศรสให้กับสุลต่านได้อีกต่อไป Van Goens ยังเล่าถึงบทบาทต่าง ๆ ของสตรีในราชสำนักชวา (Javanese kraton) ว่า การ์ดทั้งหมดในราชสำนักเป็นผู้หญิง เขาประมาณว่าในยามกลางคืนมีการ์ดผู้หญิง 3,000 คน เดินยามรักษาความปลอดภัยในเขตราชฐาน ในจำนวนนี้ มีสตรีชั้นสูงจำนวน 150 คน เป็นหัวหน้าการ์ด

สตรีกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธประเภท หอก หลาว และปืนคาบศิลา ผู้หญิง 30 คน ถูกเลือกให้เป็นองครักษ์ของสุลต่านในเวลาที่ออกว่าราชการ ผู้หญิง 10 คน ทำหน้าที่เชิญเครื่องใช้ส่วนตัวของสุลต่าน เช่น ขันน้ำ เชี่ยนหมาก กล่องยาสูบ ร่ม กล่องน้ำหอม และแพรพรรณสำหรับพระราชทานให้ข้าราชบริพารที่ทรงโปรดปราน ผู้หญิงที่เหลืออีก 20 คนจะยืนยามเตรียมพร้อมด้วยอาวุธเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับสุลต่าน

“มิดะ” ในราชสำนัก

บันทึกของ Van Goens เล่าถึงภารกิจของนางในราชสำนักว่า “ผู้มีประสบการณ์” จะมีหน้าที่ช่วยคัดเลือกหญิงสาวให้กับบรรดาเจ้าชายหนุ่มน้อย สตรีผู้มี “ประสบการณ์” เหล่านี้จะต้องทำหน้าที่แนะนำเทคนิคต่าง ๆ ในการเสพสมให้กับเจ้าชายและผู้หญิงที่ถูกคัดเลือกไปถวายด้วย พงศาวดารกระซิบแถบท่าเรือนครยะโฮร์ กล่าวถึงพระมารดาของสุลต่านมะฮะหมัด (Sultan Mahmad) ที่พยายามจัดหาหญิงงามส่งไปให้พระโอรสเชยชม แต่มิอาจเปลี่ยนใจสุลต่านผู้มีใจใฝ่บุรุษเพศได้

ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับราตูปะกูบุวานา (Ratu Pakubuwana) พระพันปีหลวงแห่งชวา บทบาทในราชสำนักส่วนในของพระนางที่มีการบันทึกไว้ด้วย คือ การพยายามหันเหความสนใจของหลานชายผู้เป็นเจ้าครองนครจากความลุ่มหลงในบุรุษเพศให้มาสนใจอิสตรี ราตูปะกูบุวานา ทำหน้าที่จัดหาสาวงาม รวมทั้งจัดการหาผู้เชี่ยวชาญพร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อม เสาะแสวงหาปัจจัยต่าง ๆ เพื่อมากระตุ้นให้เจ้านครเชื่อว่า “อันร้อยรสบุปผาสุมาลัย จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย”Ž

**โต อาโย :

นางทาส-“นางโสเภณี”- ผู้ควบคุมการค้า**

เรื่องความรักความใคร่ข้ามชนชั้นในสังคมมุสลิมเกิดขึ้นเสมอ ไม่ต่างจากสังคมอื่น ๆ ตำนานหนึ่งเล่าขานกันถึงนางทาสชาวบูกิส ชื่อ “โต อาโย” (To Ayo) ที่ได้เป็นสนมของรัชทายาทแห่งนครจัมบี (Jambi) นางโต อาโย มักปรากฏกายเสมอในงานราชพิธีต่าง ๆ และต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นชายาของเจ้าชาย นางโต อาโย ได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับเจ้าหญิงจากนครปาเล็มบังซึ่งเป็นชายาอีกองค์หนึ่งของเจ้าชาย

รัชทายาทเมื่อเจ้าชายได้รับการสถาปนาเป็นสุลต่านในปี พ.ศ. 2222 (ค.ศ. 1679) ทรงเสกสมรสกับสตรีสูงศักดิ์อีก 2 นาง จากนครมากัสซาร์ (Makassar) คนหนึ่งนั้นเป็นธิดาของสุลต่านเมืองมากัสซาร์ เล่ากันว่าหนึ่งใน 2 นางเคยเรียก โต อาโย อย่างหยามเหยียดว่า “นางโสเภณีบูกิส” บางครั้งถึงขั้นมีการตบตีกัน แต่ต่อมาทั้งสามหญิงสามารถสมานฉันท์กันได้และร่วมกันควบคุมการค้าของนคร 

จากนางทาสที่มีสถานะต่ำสุดในราชสำนัก นางโต อาโย สามารถผลักดันตัวเองขึ้นไปสู่จุดสูงสุด และกลายเป็นหนึ่งในสามหญิงที่มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมการค้าทั้งหมดของนครจัมบี

นางโจรสลัด-“นางโสเภณีที่ถูกสาป”

การใช้คำว่า “โสเภณี” เรียกขานสตรีในสังคมมุสลิม ปรากฏให้เห็นในงานวรรณกรรมโบราณของนครอาเจะห์ด้วย บทกวีของชาวอาเจะห์ในศตวรรษที่ 18 กล่าวถึงวีรกรรมของโจรสลัดหญิงนางหนึ่ง โดยเรียกนางว่าเป็น “นางโสเภณีที่ถูกสาป”

แม้บทกวีชิ้นนี้บรรยายว่านางเป็นผู้กล้าหาญ แต่กลับผูกโยงชัยชนะของนางไว้กับเรื่องของเวทมนตร์ และความลี้ลับของบุรุษจำนวน 60-70 คน ที่ติดตามนาง ที่ล้วนแล้วแต่มีรูปลักษณ์ “เร้าใจ”Ž      

ผู้หญิง-อำนาจลึกลับ

เรื่องราวของผู้หญิงกับอำนาจลึกลับยังถูกบันทึกไว้ในเอกสารอื่น ๆ ด้วย ทั้งตำนานพื้นถิ่นและเอกสารทางการค้าของ VOC เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับสตรีลึกลับนางหนึ่ง นามว่า “บุตรี จามิลาน” (Puteri Jamilan) ที่ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งใน 3 หญิงที่มีตำแหน่งเป็นพระชนนีหลวงและร่วมปกครองอาณาจักรมินังกาเบา (Minangkabau) บนเกาะสุมาตราตอนกลาง บันทึกในเอกสารพื้นถิ่นและของ VOC ที่กล่าวถึง “บุตรี จามิลาน” นั้นสะท้อนให้เห็นว่านางเป็นผู้มีอำนาจสูงมาก ทั้งยังพูดถึงอำนาจลึกลับของนางในการลงโทษผู้แข็งขืนต่ออำนาจของนางด้วย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้านครหญิงปตานีและสตรีในราชสำนักนั้นถูกผูกโยงกับเวทมนตร์และอำนาจลึกลับเช่นกัน เมื่อ Admiral Cornelis Matelieff นายพลเรือชาวดัตช์ผู้บังคับการกองเรือที่บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาส่งมายังมะละกา เขียนรายงานถึงความสัมพันธ์เร้นลับของราชินีปตานีและสุลต่านยะโฮร์ เขาได้อ้างถึงการใช้มนต์มายาของพระราชินีด้วย

และในหลายตำนานของนครปตานีได้กล่าวถึงการใช้เวทมนตร์ของนางดัง สีรัต (Daeng Sirat) นักร้องในราชสำนักปตานีผู้มีเสียงไพเราะเสนาะหูชวนหลงใหล จนทำให้เจ้าชายแห่งยะโฮร์ คู่เชยของราตูกูนิง ละทิ้งพระนางเพื่อไปสร้างอาณาจักรใหม่และสถาปนานางดัง สีรัต เป็นชายา

ผู้หญิงท่าเรือ-เมียชั่วคราว-แม่ค้า…

Jacob Van Neck พ่อค้าชาวดัตช์ที่เดินทางมาที่นครรัฐปตานีในปี พ.ศ. 2144 (ค.ศ. 1601) บันทึกเกี่ยวกับผู้หญิงที่ท่าเรือปัตตานีไว้ว่า“…เมื่อชาวต่างชาติเดินทางมาจากเมืองอื่นเพื่อมาทำธุรกิจ… มีผู้ชายเข้ามาถามพวกเขาว่าต้องการผู้หญิงหรือไม่ ผู้หญิงสาวและเด็กหญิงก็เข้ามานำเสนอตัวเองด้วย พวกเธออาจเลือกคนที่ตกลงกันได้เป็นที่พอใจที่สุดว่าเขาจะจ่ายเงินในจำนวนเดือนที่แน่นอน

เมื่อพวกเขาตกลงกันเกี่ยวจำนวนเงินที่จะจ่ายได้ (ซึ่งไม่ได้เป็นจำนวนที่มากมายสำหรับความสะดวกสบายที่จะได้รับ) หญิงสาวจะมาอยู่ที่บ้านของชายต่างชาติผู้นั้นเพื่อทำงานเป็นคนรับใช้ในตอนกลางวันและปฏิบัติหน้าที่เป็นภรรยาในตอนกลางคืน นับจากนั้น ฝ่ายชายไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นได้อีก ขณะที่ฝ่ายหญิงก็มีข้อห้ามแบบเดียวกันที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับชายอื่น แต่การแต่งงานนี้จะคงสถานะอยู่ตราบที่ฝ่ายชายยังคงรักษา ‘ความสงบสุข และความเป็นหนึ่งเดียว’ ในบ้านไว้ได้ เมื่อเขาต้องการจะจากไป เขามอบสิ่งใด ๆ ก็ตามที่สัญญาไว้กับฝ่ายหญิง ดังนั้น พวกเขาจึงแยกจากกันด้วยมิตรภาพ และหญิงสาวอาจจะไปหาผู้ชายคนอื่นตามต้องการโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดทำนองคลองธรรมแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกของนักเดินทางชาวยุโรปที่อ้างถึงการซื้อขายบริการทางเพศระหว่างสตรีท้องถิ่นและพ่อค้าต่างถิ่นในตลาดที่นครปตานี โดยเล่าว่าสตรีเหล่านี้เป็นทาสของขุนนางและผู้มีอันจะกิน พวกนางได้รับการยินยอมให้ทำธุรกิจนี้ตราบเท่าที่นายทาสได้รับผลประโยชน์ด้วย เป็นที่รู้กันในหมู่พ่อค้านักเดินทางจากแดนไกลว่า สตรีที่ทำธุรกิจแบบนี้มีอยู่ทั่วไปที่ท่าเรือ และตลาดของนครต่าง ๆ พวกนางขายทั้งสินค้าและบริการทางเพศ และพวกนางมีอิสระที่จะต่อรองราคาด้วยตนเอง

ก่อนหน้านี้ หลักฐานในเอกสาร Boxer Codex พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) เล่าถึงกลุ่มทาสหญิงที่พายเรือเร่ลำเล็ก ๆ เล่นดนตรีไปตามแม่น้ำลำคลองในนครเบรูไน ดารุสซาลาม (Berunai Darussalam) พร้อมร้องเพลงเชิญชวนให้บุรุษลิ้มลองหาความสุขจากร่างกายของนาง นางทาสเหล่านี้มีอิสระที่จะออกขายร่างกายของนางในยามค่ำคืนตราบเท่าที่พวกนางแบ่งผลประโยชน์ให้นายทาส

Jan Pieterszoon Coen ผู้บังคับการของ VOC พ.ศ. 2162 (ค.ศ. 1619) บันทึกไว้ด้วยความสะใจถึงบรรดาพ่อค้าฝ่ายอังกฤษที่เมืองซูกาดานา (Sukadana) ในบอร์เนียวตะวันตก (West Borneo) ที่ตกต่ำจนถึงขั้นต้องขาย “โสเภณีของพวกเขา” แลกเสบียงอาหารประทังชีวิต ศตวรรษต่อมา ใน พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) บันทึกฉบับหนึ่งของ VOC กล่าวถึงสตรีชื่อ ไญ อัสซัน (Nyai Assan) ผู้เป็นที่รู้จักกันดีที่ท่าเรือนครปัตตาเวีย นางทำหน้าที่จัดหาผู้หญิงท้องถิ่นส่งขึ้นไปบริการพ่อค้าบนเรือของ VOC

ในรายงานของพ่อค้าของ VOC ชื่อ Jan van Wesenhage เล่าว่าสุลต่านผู้ปกครองนครในสุมาตราตะวันออกทรงประกาศว่าคำสั่งของพระองค์ที่ห้ามพ่อค้าชาวดัตช์กระทำการใด ๆ ที่เป็นการหลู่เกียรติของสตรีท้องถิ่นนั้น มิได้ทรงมีพระประสงค์ที่จะกีดกั้นไม่ให้สตรีท้องถิ่นรับเงินจากการให้บริการทางเพศ “ที่เป็นความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย” เพราะค่าตอบแทนใด ๆ ที่พวกนางได้รับนั้นถือว่าเป็น “ค่าจ้าง”

ที่ตลาดในนครบันเต็น มีการจัด “เขตพิเศษ” ไว้ให้สำหรับสตรีที่แต่งงานแล้วในการนำพืช ผัก ผลไม้มาขาย เพื่อไม่ให้ปะปนกับสตรีคนอื่น ๆ ที่มีอิสระในการค้าขาย “สินค้าอื่น ๆ”

ที่ปรึกษา-คนกลาง-สมานฉันท์

จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) นายแพทย์ชาวไอริชที่เดินทางมากับเรือของ VOC ใน พ.ศ. 2354 (ค.ศ. 1811) บันทึกไว้ถึงบทบาทของผู้หญิงชาวบูกิสบนเกาะชวาในฐานะที่ปรึกษาของบุรุษ และยังระบุว่าสตรีชาวบูกิสปรากฏกายเคียงข้างบุรุษในที่สาธารณะ และเทศกาลต่าง ๆ อยู่เสมอ  Crawfurd บันทึกว่าในการประชุมเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของเมือง จะมีการจัดที่นั่งอย่างเป็นทางการให้สตรีที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอีกหลายบันทึกกล่าวถึงบทบาทและหน้าที่อื่น ๆ ของสตรีชาวบูกิสไว้ด้วย เช่น เป็นนักกฎหมาย และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาที่สามารถปฏิบัติงาน “เฉกเช่นเดียวกับบุรุษ” พวกเธอสามารถไปพบปะกับชาวต่างชาติได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากสามี

เอกสารของ VOC ยังกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงชาวบูกิสในการเป็นคนกลางเจรจาการค้าและการเมืองกับชาวต่างชาติบันทึกฉบับหนึ่งกล่าวถึง นางดัง เตเลเล (Daeng Telele) ภริยาของ อารุง ปาลักกะ (Arung Palakka) ผู้นำชาวบูกิส ว่าหลายครั้งที่นางทำหน้าที่เป็นตัวกลางเจรจาระหว่างสามีและเจ้าหน้าที่ของบริษัท VOC นางยังได้พยายามอธิบายให้เจ้าหน้าที่ของ VOC เข้าใจพฤติกรรมของสามีที่หงุดหงิดหรือสร้างความปั่นป่วนในการเจรจาว่าเป็นเพราะสำนึกในเรื่อง “ศักดิ์ศรีของความเป็นชาย”

บันทึกของชาวยุโรปที่มาพำนักที่นครอาเจะห์ กล่าวถึงบทบาทของสตรีในฐานะที่ปรึกษาไว้ด้วยเช่นกัน ในสมัยของราตูซาฟี สุลต่านหญิงองค์แรกนั้น มีสตรี 16 คน อยู่ในสภาขุนนางที่มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 73 คน เพื่อทำหน้าที่กำหนดกฎหมายต่าง ๆ ของนครอาเจะห์ ที่นครปตานี มีตำนานนครเล่าถึงบทบาทของ “ราตูบีรู (Ratu Biru)” เจ้านครหญิงองค์ที่ 2 ว่าทรงสร้างความสมานฉันท์กับนครกลันตัน (Kelantan) ด้วยการเสด็จไปเจรจาด้วยพระองค์เองกับสุลต่านเมืองกลันตัน ทรงประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้สุลต่านเห็นด้วยกับการรวมกันระหว่างนครปตานีและนครกลันตันเป็นสหพันธรัฐปตานี

บทบาทของผู้อุปถัมภ์ศาสนา

แม้ว่าหลักฐานในเรื่องการเดินทางแสวงบุญของสตรีมุสลิมแทบไม่ปรากฏให้เห็นในเอกสารโบราณต่าง ๆ แต่บันทึกเกี่ยวกับราตูซาฟี (Sri Ratu Safi al-Din Taj al-Alam) ผู้ปกครองหญิงแห่งนครอาเจะห์ และราตูปะกูบุวานา (Ratu Pakubuwana) ราชินีม่ายแห่งชวา สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสตรีมุสลิมในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนา พงศาวดารย็อกยาการ์ตา และบันทึกของ The British in Java ให้ข้อมูลไว้ตรงกันว่า ใน พ.ศ. 2349 (ค.ศ. 1806) บรรดาสตรีในราชสำนักย็อกยาการ์ตา ซึ่งรวมทั้งสตรีที่เป็นการ์ดด้วย ได้บริจาคเงินให้กับคณะผู้ที่กำลังจะเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ เงินบริจาคของสตรีในราชสำนักเหล่านี้ถูกนำไปซื้ออูฐและสมทบเป็นค่าอาหารสำหรับพิธีทางศาสนาในนครเมกกะ

ที่เมืองกรีซีค (Gresik) บนเกาะชวาตะวันออก มีสุสานของสตรีชื่อ “Nyai Ageng Pinatih” สตรีผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มารดาผู้อุปถัมภ์” ในฐานะที่นางมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมศาสนาอิสลาม เล่ากันว่านางเป็นมุสลิมจากต่างถิ่นที่มาปรากฏตัวที่เมืองนี้ประมาณ พ.ศ. 2043 (ค.ศ. 1500) ในฐานะเป็นผู้ควบคุมท่าเรือของกรีซีค มีบันทึกไว้ว่านางส่งเรือสินค้าไปที่บาหลี โมลุกกะ และกัมพูชา

บทส่งท้าย

นครปาไซ (Pasai) เมืองท่าที่สำคัญของมุสลิมแห่งแรกในอุษาคเนย์ มีราชินี 2 องค์ ครองราชย์ติดต่อกันเกือบ 3 ทศวรรษ (พ.ศ. 1948-77)

นครปตานี ดารุสซาลามรุ่งเรืองที่สุดในยุคของเจ้าผู้ครองนครหญิง 4 คน ที่ครองบัลลังก์ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 104 ปี (พ.ศ. 2127-2231)

นครอาเจะห์ ดารุสซาลาม มีสุลต่านหญิง 4 คน ปกครองนครติดต่อกันนานกว่าครึ่งศตวรรษ (พ.ศ. 2184-2242) และภายใต้การปกครองของสตรี อาเจะห์ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้

พุทธศักราช 2242 ด้วยโองการแห่งองค์อัลเลาะห์ บทบาทของเจ้านครหญิงถูกยุติลงที่นครอาเจะห์ ดารุสซาลาม

พุทธศักราช 2544 นางเมกะวาตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Soekarnoputri) ชนะการเลือกตั้งเพื่อเข้ารับตำแหน่งประมุขหญิงคนแรกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก

เรื่องราวของสตรี-ราณีที่ทรงอำนาจเหนือผืนน้ำ เหนือแผ่นดินอุษาคเนย์ยังถูกเล่าขานสืบมามิรู้จบ

 

บรรณานุกรม :

ปรานี วงษ์เทศ. 2549. เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์). กรุงเทพฯ : มติชน.

สุภัตรา ภูมิประภาส. 2550. “สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 28 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2550).

Andaya, Barbara Watsan. 2006. The Flaming Womb : Repositioning Women in Early Modern Southeast Asia. University of HawaižI Press.

__. 1998. “From temporary wife to prostitute : Sexuality and economic change in Early Modern Southeast Asia”, in Journal of Women’s History; Winter 1998; 9, 4; Research Library Core pp. 11.

__. 1988. The Cloth Trade in Jambi and Palembang Society during the Seventeenth and Eighteenth Centuries. presented at the Asian Studies Association of Australia Bicentennial Conference held at the Australia National University in February 1988.

Dudley, Jennifer. 2002. Unrefereed paper for Pubtalk, Fremantle, April 2002 –Jennifer Dudley of Warrior Women, Emancipist Princesses, Hidden Queens and Managerial Mothers. presented for Murdoch University’s Pubtalk Series in April 2002.

Lukas, Helmut. 2007. “Christoph Carl Fernberger von Egenberg : The First Austrian in Patani and Ayudhya (1624/25)” : A Siam Society Lecture (in co-operation with the Centre for European Studies, Chulalongkorn University), Bangkok.

Mooreland, W.H. (ed.). 2002. Peter Floris : His Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615. White Lotus Press.

Reid, Anthony. 1988. “Female Roles in Pre-Colonial Southeast Asia”, in Modern Asian Studies, Vol. 22, No. 3, Special Issue : Asian Studies in Honour of Professor Charles Boxer. (1988), pp. 629-645.

Teeuw, A. and D.K. Wyatt. 1970. Hikayat Patani : The story of Patani. 2 Vols. The Hague.

Villiers, John. (ed.). 1989. Nicolas Gervaise : The Natural and Political History of the Kingdom of Siam. White Lotus Co., Ltd.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0