โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/หนี 'เผด็จการ' มาเจอ 'พวกแก' มิแย่กว่าเดิมหรือ?

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 19 มี.ค. 2562 เวลา 03.40 น.
นงนำ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

หนี ‘เผด็จการ’ มาเจอ ‘พวกแก’

มิแย่กว่าเดิมหรือ?

 

แทบจะอาเจียนออกมาเลยทีเดียว เมื่อได้ยินวาทกรรมหาเสียงของพรรคการเมืองในขณะนี้ที่พูดซ้ำไปซ้ำมา วนอยู่กับ “เผด็จการ-ประชาธิปไตย”

ประดิษฐ์ประโยคสวยหรู ไม่ว่าจะเป็น/24 มีนาฯ ออกไปกาบัตรฆ่าเผด็จการ/เข้าคูหากาบัตร ไล่เผด็จการ/เสียงประชาชนแข็งแกร่งกว่ากระสุนปืน

มีการอวดอ้างว่าถ้าอยากขับไล่เผด็จการ หนีให้พ้นเผด็จการ ก็ต้องเลือกพรรคของเราที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง วาทกรรมน้ำเน่านี้ยิ่งถูกเปล่งออกมาถี่ ด้วยหวังว่าจะโน้มน้าวประชาชนให้เคลิ้มตามโดยไม่ต้องดูรายละเอียดหรือปูมหลังของคนเหล่านี้

สำหรับคนที่เข็ดขี้อ่อนขี้แก่ กลุ่มพรรคที่มโนว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยมาแล้วในอดีต ฟังแล้วไม่ได้คล้อยตามง่ายๆ เพราะยังจดจำวีรกรรมได้ดี ถึงความเป็น “ประชาธิปไตยแค่ปาก”

ประชาธิปไตยของคนพวกนี้เป็นเรื่อง “ดีแต่พูด” ไม่ใช่ “ดีแต่ทำ” ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายซ้ำกระมังถึงพฤติการณ์เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ใช้อำนาจเกินเลย จนนำมาสู่ พ.ร.บ.ลักหลับแบบสุดซอย เลือกปฏิบัติกับประชาชนที่ไม่ได้เลือกพรรคตัวเอง

ยังไม่นับคดีทุจริตอีกมากมาย จนติดคุกกันไปหลายคน เพราะกระทำการทุจริต ใช้อำนาจมิชอบ

ตอนพวกนี้เป็นรัฐบาล ก็ทำแบบเดียวกับที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำแทบทุกอย่าง ไหนจะแทรกแซงสื่อ ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ฯลฯ ทำในสิ่งอัปลักษณ์ไม่แพ้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

พวกนี้พร่ำพูดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการวัดว่า ประชาชนจะเลือกเผด็จการหรือเลือกฝ่ายประชาธิปไตย

แต่ถามหน่อยเถอะ ทุกคนรู้สึกแบบนั้นจริงหรือกับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ว่าเป็นแค่เรื่อง “เลือกเผด็จการกับประชาธิปไตย”

หากเผด็จการหมายถึงผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราพอมองเห็นอยู่ว่าใครคือเผด็จการ

แต่ประชาธิปไตยจากกลุ่มคนที่กล่าวอ้างนั้น เรายังมองแทบไม่เห็น และจะมีให้เห็นในอนาคตหรือเปล่าก็ไม่รู้หากซีกนี้ชนะเลือกตั้ง

 

ในเมื่อไม่แน่ใจว่าเลือกซีกประชาธิปไตยแล้วจะได้ประชาธิปไตยจริงหรือ จึงทำให้คนไม่น้อยในเวลานี้ยังกุมขมับ กลุ้มอกกลุ้มใจว่าจะเลือกพรรคไหนดี

พรรคการเมืองที่กล่าวอ้างว่าตัวเองอยู่ซีกประชาธิปไตย หากมองในเนื้อแท้แล้วล้วนอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งยังไว้วางใจไม่ได้ว่าเมื่อชนะเลือกตั้งแล้วจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประชาชนและชาติเป็นอันดับแรกหรืออันดับรอง

ในขณะที่ความหวาดระแวงว่านโยบายอย่างเดียวของกลุ่มการเมืองซีกนี้คือ “คนดูไบ เฟิร์สต์” ยังเกาะกุมในหัวใจของคนจำนวนไม่น้อย เกรงว่าเลือกไปแล้วก็จะทำนิสัยเดิมไม่เลิก วนลูป อยู่กับ ชนะเลือกตั้ง>แก้ไขรัฐธรรมนูญ>ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม>พาคนดูไบกลับเมืองไทย>รัฐประหาร

อย่ามาอ้างเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าทหารไม่รัฐประหาร ปัญหาก็ไม่เกิด ถ้าจะห้ามทหารรัฐประหาร นักการเมืองก็ต้องห้ามตัวเองไม่ให้ใช้อำนาจเกินเลยเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

กล่าวโจมตีทหารทุกวันว่าไม่รู้จักหน้าที่ แต่นักการเมืองก็ต้องถามตัวเองว่า ที่ผ่านมารู้จักหน้าที่ไหม ถ้ารู้จักหน้าที่ก็ไม่เกิดปัญหาให้ต้องรัฐประหารเช่นกัน

หน้าที่ของ ส.ส.คือรับใช้ประชาชนและส่วนรวม มีความคิดเป็นอิสระ แต่พรรคประชาธิปไตยกำมะลอบางพรรค ทำตรงข้ามคือรับใช้หัวหน้าพรรค สั่งหันซ้าย-ขวาได้หมดยิ่งกว่าค่ายทหาร

ใครขัดขืนจะถูกขู่ว่าครั้งหน้าจะไม่ส่งลง สส. เพื่อบังคับให้ ส.ส.ทำในสิ่งที่หมิ่นเหม่ขัดรัฐธรรมนูญและขัดจริยธรรม หรือบางคนอยากเอาใจนาย ยอมเอาตัวเสี่ยงทำผิดกฎหมายก็ต้องรับกรรมติดคุกกันไปเยอะ

 

ส่วนพรรคที่คิดว่าจะเป็นอนาคตใหม่ของประเทศ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ดูไปแล้วก็ยังมีกลิ่นอายน้ำเน่า อ่อนวุฒิภาวะ ใช้ความห้าวเป้ง เอามันนำหน้า หวาดเสียวว่าจะขับรถพาประเทศไปตกเหว

แนวทางการหาเสียงของพรรคที่น่าจะเป็นอนาคตใหม่ของชาติ ยังเจือด้วยการปลุกความเกลียดชังกันระหว่างคนต่างจังหวัดกับคนในกรุงเทพฯ เห็นได้จากการไปหาเสียงในภาคอีสาน ซึ่งเลขาธิการพรรคนี้ อ้างว่ารัฐบาลร่วมมือกับสื่อบางแห่งทำให้คนอีสานเป็นตัวตลก ไม่มีความรู้

น่าเป็นห่วงที่วาทกรรมเช่นนี้มาจากคนของพรรคที่ประกาศว่าจะเล่นการเมืองแบบสร้างสรรค์ ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ทำให้คนเกลียดชังกัน แต่สุดท้ายวิธีการของพรรคนี้ก็ยังน้ำเน่าโบราณ

คำพูดดังกล่าวทำให้ ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร (บุตรชายของอาภัสรา หงสกุล) ที่มีภรรยาเป็นคนอีสาน ถึงกับทนไม่ไหวต้องออกมาตอบโต้สอนมวย ดังนี้

“รัฐจากส่วนกลางจับมือกับสื่อมวลชนบางกลุ่มผลิตสื่อ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้คนอีสานเป็นคนตลก ไม่มีความรู้” คือคำของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่แสดงชัดเจนถึงการใช้วาทกรรมเท็จสร้างความแตกแยก เพื่อปลุกปั่นให้สนับสนุนพรรคของพวกตน

โดยกลยุทธ์ตรงข้ามกับชื่อของพรรค คงไม่ใช่อะไรใหม่ การเสี้ยมสร้างความแตกแยก การสร้างปีศาจขึ้นมา เพื่อเสนอพวกตัวเองเป็นคนดีที่จะมาช่วยจากปีศาจที่ไม่มีจริงนั้น เป็นกลยุทธ์ซึ่งไม่ได้มีความใหม่เลย แต่น้ำเน่าโบราณทีเดียว

ทั้งนี้ นายปิยบุตรได้ประเมินสติปัญญาวิจารณญาณของคนอีสานและคนไทยอื่นๆ โดยรวม ผิดพลาดไปมากโดยการพยายามหลอกล่อด้วยนิทานตื้นเขินที่ตนปั้นขึ้นมา แทนที่จะเกิดการคล้อยตาม ได้เกิดการตีกลับอย่างถล่มทลาย

ช่างย้อนแย้งเสียจริง กับวาทกรรมจอมปลอมที่ประกาศจะ ‘ต่อสู้’ กับการสาดโคลน กับการใส่ร้ายป้ายสี กับคำพูดที่ทำให้ประชาชนเกลียดชังกัน ด้วยความจริง

ก่อนหน้านี้ ได้ตั้งใจว่าจะไม่เขียนอะไรเกี่ยวกับพรรคใดในการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้ชอบ ไม่ได้เชียร์พรรคใด แต่หลังจากได้อ่านบทความของนายปิยบุตร ทำให้ต้องเปลี่ยนใจ เพราะการปลุกปั่นให้คนอีสานรู้สึกว่าตัวเองถูกมองเป็นตัวตลก ทั้งที่เขาไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น นั้นเหลืออดจริงๆ

ก่อนจะลงท้ายว่า “จากคนคนหนึ่ง ที่ไม่ต้องไปหาชาวฝรั่งเศสมาเป็นภรรยา แต่ภูมิใจกับภรรยาอีสานที่มี”

 

สําหรับ ม.ล.รุ่งคุณนั้นทราบกันดีว่าแม้จะเรียนจบจากอังกฤษและครอบครัวมีฐานะร่ำรวย แต่กลับชอบชีวิตสมถะ โดยไปบวชที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร ถึง 4 ปี และเมื่อถึงเวลามีภรรยา ก็เลือกคนอีสานแทนที่จะเลือกต่างชาติ

บทสรุปของ ม.ล.รุ่งคุณต่อวาทกรรมหาเสียงดังกล่าวนับว่าแหลมคมทีเดียว แม้ไม่ได้เป็นนักวิชาการและไม่ได้เป็นอาจารย์ที่เรียนจบกฎหมายจากฝรั่งเศส แต่กลับมีมุมมองที่ลึกซึ้ง เปี่ยมวุฒิภาวะ มากกว่าผู้ที่เสนอตัวจะมาบริหารประเทศด้วยซ้ำไป

ท่ามกลางวาทกรรมน้ำเน่า จะเลือกเผด็จการหรือประชาธิปไตย ย่อมมีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกรำคาญ จนนึกตอบกลับไปในใจว่า “หนีเผด็จการ ไปเจอคนอย่างพวกแก มันมิแย่กว่าหรือ”

ไม่เอาเผด็จการ แต่ก็ไม่อยากได้พวกแก (อะ)!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0