โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บทความคิดเห็น : เมื่อฮ่องกงคืบคลานสู่ ‘กลียุค’ เราจะไม่เงียบงันอีกต่อไป

Xinhua

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 11.18 น.
บทความคิดเห็น : เมื่อฮ่องกงคืบคลานสู่ ‘กลียุค’ เราจะไม่เงียบงันอีกต่อไป

ฮ่องกง, 19 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.) ประชาชนหลายร้อยคนเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ที่ชาวฮ่องกงจัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่พนักงานทำความสะอาดวัย 70 ปี ผู้สิ้นลมหายใจหลังจากถูกผู้ก่อการจลาจลขว้างปาอิฐใส่ศีรษะ

แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตหรือถูกกลุ่มผู้ก่อการจลาจลชุดดำทำร้าย แต่ผู้ร่วมพิธีไว้อาลัยเลือกจะแสดงออกจุดยืนที่ตรงข้ามกับผู้ก่อการจลาจล โดยบางคนมาร่วมงาน พร้อมถือป้ายข้อความว่า “นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ”

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ชาวฮ่องกงจำนวนมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเด็กหรือคนชรา ต่างพากันออกมาเก็บก้อนอิฐ ก้อนหิน และขยะออกจากถนนสายต่างๆ หลังจากกลุ่มผู้ก่อการจลาจลนำวัตถุเหล่านั้นมาทิ้งบนถนนเพื่อกีดขวางการจราจร

ขณะเก็บสิ่งกีดขวางออกจากถนน อาสาสมัครถูกผู้ก่อการจลาจลทำร้ายด้วยอิฐหรือแม้แต่ระเบิดขวด ขณะที่บางคนถูกชิงโทรศัพท์มือถือไป

อย่างไรก็ดี การกระทำอันกล้าหาญของชาวฮ่องกงแสดงถึงความโกรธเคืองที่สาธารณชนมีต่อกลุ่มผู้ก่อการจลาจล และแสดงให้เห็นว่า “คนส่วนใหญ่ที่ปิดปากเงียบเสมอมา” จะไม่ยอมอยู่ในความเงียบงันอีกต่อไป

นับเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน ที่ร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งถูกเพิกถอนไปแล้วก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม โดยกลุ่มผู้ก่อการจลาจลเข้าทำลายร้านค้า ทำร้ายตำรวจ ปิดถนน วางเพลิงสถานีรถไฟใต้ดิน เปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นฐานที่มั่น และทำให้การเรียนการสอนต้องถูกระงับชั่วคราว

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ก่อการจลาจลได้ปิดปากประชาชนด้วยการข่มขู่ การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวลงบนโลกออนไลน์ และทุบตีผู้ที่กล้าแสดงความไม่เห็นด้วย กลุ่มผู้ก่อการจลาจลทำกระทั่งราดสิ่งที่คาดว่าเป็นของเหลวไวไฟใส่ชายคนหนึ่งและจุดไฟเผายามกลางวันแสกๆ

นับจนถึงวันอังคาร (19 พ.ย.) ชาวฮ่องกงมากกว่า 1.27 ล้านคนได้ลงชื่อในคำร้องออนไลน์ เพื่อต่อต้านกลุ่มผู้ก่อการจลาจลปกปิดใบหน้าในชุดดำ สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงตามโครงการที่ริเริ่มโดยกลุ่มพิทักษ์ฮ่องกง (Safeguard Hong Kong) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“ไม่มีคนที่รักบ้านเกิดคนไหนจะเห็นแก่ตัวกระทั่งทำลายมาตุภูมิเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หรอก” ชาวฮ่องกงคนหนึ่งกล่าว “พวกนั้นมัวแต่อยู่ในโลกของตัวเองและไม่ยอมเผชิญความจริง”

“เราสนับสนุนตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่” ปีเตอร์ ชายฮ่องกงอีกคนหนึ่งกล่าว “ขอสันติภาพจงกลับคืนสู่ฮ่องกง”

พลเมืองฮ่องกงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้รักความสงบได้รับการสนับสนุนมากมาย รวมถึงจากชาวต่างประเทศ เฉกเช่นดินแดนที่ตั้งอยู่ห่างจากฮ่องกงมากกว่า 5,000 กิโลเมตรอย่างออสเตรเลีย มีคนเขียนจดหมายถึงสถานทูตจีนและสื่อออสเตรเลีย

ริชาร์ด กรีนวูด (Richard Greenwood) เขียนว่า “กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงควรถูกเรียกตามโฉมหน้าที่แท้จริง นั่นคือผู้ก่อการร้าย”

“ในฐานะพลเมืองชาวออสเตรเลีย ผมรู้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานออสเตรเลียจะไม่มีทางทนกับการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนท้องถนนฮ่องกง” ข้อความของนีล ริชเตอร์ส (Neil Richters) ระบุ “ผมหวังว่าฮ่องกงจะแก้ปัญหาและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว”

คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อไม่นานนี้แสดงภาพกลุ่มผู้ก่อการจลาจลชุดดำวางอิฐกีดขวางการจราจรบนท้องถนน ขณะที่ชายผมขาวเก็บก้อนอิฐขึ้นมาและนำไปวางไว้ข้างถนน เมื่อหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นก็ทำตาม แม้ผู้ก่อการจลาจลบางรายที่สวมหน้ากากปกปิดใบหน้าจะโยนอิฐกลับไปบนถนนหรือเหยียบอิฐในลักษณะที่แสดงการท้าทาย เพื่อไม่ให้อาสาสมัครนำอิฐออกจากถนนได้ แต่ผู้คนที่ผ่านไปมาพากันเข้ามาช่วยเก็บอิฐมากขึ้นกระทั่งถนนสายนั้นปราศจากอิฐในที่สุด

เหตุการณ์ในวิดีโอเปรียบเสมือนฮ่องกง กล่าวคือแม้ตอนแรกเสียงต่อต้านกลุ่มผู้ก่อการจลาจลอาจเป็นเพียงเสียงเล็กๆ แต่เมื่อผู้คนเข้าร่วมมากขึ้นทุกที เสียงเล็กๆ เหล่านั้นก็รวมกันกระทั่งดังพอที่จะกลบเสียงร้องแรกของกลุ่มผู้ชุมนุม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0