โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บขส.-รถตู้-วิน จยย.ยังไม่ขึ้นค่าโดยสารตามราคาน้ำมัน

Thai PBS

อัพเดต 27 พ.ค. 2561 เวลา 05.48 น. • เผยแพร่ 27 พ.ค. 2561 เวลา 05.48 น. • Thai PBS
บขส.-รถตู้-วิน จยย.ยังไม่ขึ้นค่าโดยสารตามราคาน้ำมัน

วันนี้ (27 พ.ค.61) นายณัฐวุฒิ อ่อนน้อม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร เพราะผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและแบกรับภาระไม่ไหว ซึ่งนายอาคมได้สั่งการให้ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารไปก่อน เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างต้นทุนอัตราค่าโดยสาร เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในทุกประเด็น

"บขส. ไม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐและประชาชนจะได้รับผลกระทบ ขณะที่ผู้ประกอบการรถตู้ส่วนใหญ่จะใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซล นอกจากรถโดยสารขนาดเล็ก (ไมโครบัส) ที่จะใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งมีจำนวนไม่มาก ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานจะขอปรับขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด" นายณัฐวุฒิ กล่าว

ด้านนางศิริพิศ เจตนาดี เลขาธิการสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด กล่าวว่า ในส่วนผู้ประกอบการรถตู้นั้น ยังไม่ได้ประชุมหารือในการปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งในส่วนของรถตู้โดยสารสาธารณะใช้ก๊าซ NGV จึงไม่ได้รับผลกระทบกรณีที่น้ำมันปรับขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการต้องการที่จะปรับขึ้นราคา แต่ไม่สามารถปรับได้ อย่างไรก็ตาม รถตู้โดยสารนั้นไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2557

ขณะที่ นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของรถจักรยานยนต์รับจ้างจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากราคาค่าโดยสารปัจจุบันนั้นมีความเหมาะสมแล้ว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.59 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ.2559 นั้น ได้กำหนดไว้ว่า ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อๆ ไป แต่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 5 บาท ขณะที่ระยะทางเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร ตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท

นอกจากนี้ หากระยะทางเกินกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เป็นไปตามที่ผู้ขับรถและคนโดยสารตกลงกันก่อน หากไม่ตกลงกันก่อนอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0