โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

น้ำมันแตะสูงสุดรอบ4เดือน แนวโน้มกลยุทธ์โอเปก”ชนะ”

Money2Know

เผยแพร่ 19 มี.ค. 2562 เวลา 01.07 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
น้ำมันแตะสูงสุดรอบ4เดือน แนวโน้มกลยุทธ์โอเปก”ชนะ”

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเท็กซัส ขยับขึ้นต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร มีผลมากกว่ากำลังการผลิตของสหรัฐฯที่กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง

น้ำมันดิบ WTI ขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเมื่อวันวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ยืนเหนือ 59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แตะระดับสูงสุดที่ 59.23 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน

ทิศทางราคาน้ำมันในขณะนี้ ขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ภาวะเศรษฐกิจโลกและการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร

สำหรับกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าลดกำลังการผลิต โดยเลื่อนการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนเม.ย.นี้ออกไป และจะประชุมครั้งต่อไปในเดือนมิ.ย. ซึ่งตลาดตีความว่าโอเปกและพันธมิตรไม่มีการทบทวนแผนลดกำลังการผลิตจนถึงเดือนมิ.ย.

ขณะที่กำลังการผลิตของสหรัฐ แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากพอเมื่อเทียบกับการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก อีกทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอ ซึ่งคาดว่าจะใช้น้ำมันลดลง แต่ทั้งสองปัจจัยก็ไม่มีแรงมากพอในการฉุดราคาน้ำมันลง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกมีผลมากกว่าปัจจัยอื่น ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)  เพิ่มขึ้น 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)  เพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih ชี้ว่ากลุ่มองค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC กับประเทศผู้ผลิตพันธมิตร นำโดยรัสเซีย (OPEC+) จะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการลดการผลิตก่อนกำหนดสิ้นเดือน มิ.ย. 62 และ Reuters รายงานซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 104,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าข้อตกลงลดการผลิต ที่ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Pompeo กล่าวปราศรัยในงาน CERA (Cambridge Energy Research Associates) ที่เมือง Houston ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายให้อิหร่านยุติการส่งออกน้ำมันดิบโดยเร็วที่สุด และล่าสุด Reuters รายงานสหรัฐฯ ตั้งเป้าจะลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านให้ต่ำกว่า 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับส่งออกปัจจุบันประมาณ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่ พ.ค. 62 โดยจะทบทวนการผ่อนผัน (Waiver) ทุก 6 เดือน
  • Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 449.1 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 833 แท่น ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 61
  • Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,844 สัญญา มาอยู่ที่ 292,672 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • รายงานฉบับเดือน มี.ค. 62 ของ OPEC ปรับประมาณการ Call-on-OPEC ในปี พ.ศ. 2562 ลดลงจากเดือนก่อน 130,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 30.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน ก.พ. 62 ลดลง 220,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 30.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่า Call-on-OPEC
  • International Energy Agency (IEA) คาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2567 จะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี พ.ศ. 2561 มาอยู่ที่ 13.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรมีมติเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดการแยกตัวออกจาก EU โดยขั้นตอนต่อไป รัฐสภาต้องลงมติอนุมัติข้อตกลงภายในวันที่ 20 มี.ค. 62 เพื่อที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเจรจากับ EU เพื่อขอเลื่อนกำหนดออกไปจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค. 62

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าทรงตัวในช่วงปลายสัปดาห์ โดยผู้ค้าชะลอการเข้าลงทุนเพื่อรอดูทิศทาง ท่ามกลางข้อมูลและสถิติทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณไม่ชัดเจน อาทิ ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนชะลอตัว ด้านปัจจัยพื้นฐานIEA คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบโลก ในช่วงไตรมาส 1/62 จะยังล้นตลาด ก่อนที่จะกลับมาตึงตัว ในช่วงไตรมาส 2/62 ประมาณ500,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ IEA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 จะเติบโตจากปีก่อน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน  คิดเป็น 83% ของการเติบโตของปริมาณการผลิตจากกลุ่ม Non-OPEC ทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2564 สหรัฐฯ จะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ

ทั้งนี้สหรัฐฯ ใช้ความได้เปรียบจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก มาผลักดันนโยบายการค้าระหว่างประเทศ อาทิ เสนอการส่งออก LNG (Liquefied Natural Gas) ไปยังยุโรป เพื่อลดการพึ่งพิงโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 จากรัสเซีย โดยเยอรมนีกำลังพิจารณาข้อเสนอ เพื่อก่อสร้างท่ารับ LNG 2 แห่ง เป็นทางเลือกในการจัดหาก๊าซฯ จากสหรัฐฯ และมีข่าวผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในเวเนซุเอลา นาย Elliot Abrams แถลงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณ  50,000 บาร์เรล ต่อเดือน และคาดว่าระดับการผลิตน้ำมันดิบจะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 1-2 เดือน

*ทั้งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2561 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาอยู่ที่ 1.2-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0