โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

น้ำมันดิ่ง$2 ทองขึ้น$68,หุ้นสหรัฐฯพุ่งหลังเฟดกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบสู้โควิด-19

Manager Online

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 22.36 น. • MGR Online

มาร์เก็ตวอตช์/เอเอฟพี - ราคาน้ำมันในวันพฤหัสบดี(9เม.ย.) ปรับลดหนัก คาดข้อตกลงลดกำลังผลิตของโอเปก+ ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่ลดลงท่ามกลางวิกฤตแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ส่วนวอลล์สตรีทปิดบวกและทองคำพุ่งแรง หลังเฟดเคลื่อนไหวกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ ช่วยคลายกังวลต่อข้อมูลภาคแรงงาน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 2.33 ดอลลาร์ ปิดที่ 22.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 1.36 ดอลลาร์ ปิดที่ 31.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันมีขึ้นหลังจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียบรรลุข้อตกลงจัดการกับภาวะอุปทานล้นตลาดท่ามกลางอุปสงค์พลังงานโลกที่หดตัวถึง 30% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยอาจพิจารณาปรับลดสูงถึง 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 15-20% ของอุปทานโลก เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด

อย่างไรก็ตามต่อมารัฐมนตรีพลังงานของอิหร่านบอกว่ามาตรการลดกำลังผลิตนี้จะอยู่ที่แค่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล และจะมีผลบังคับใช้เพียงแค่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2020 จากนั้นในเดือนกรกฎาคมจนถึงสิ้นปี มาตรการลดกำลังผลิตนี้จะปรับลดลงมาเหลือ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และลดลงเหลือ 6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า

"ข้อตกลง 10 ล้านบาร์เรลต่อวันนับว่าต่ำกว่าที่ตลาดต้องการอย่างมากในตอนนี้" บิยอร์นา ทอนเฮาเกน หัวหน้าฝ่ายตลาดน้ำมันของรายสตัด อีเนอร์จี ให้ความเห็นผ่านอีเมล "ถ้าข้อตกลง 10 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเรื่องจริง ตอนนี้คงหวังพึ่งได้เพียงแค่ประเทศอื่นๆนอกกลุ่มเท่านั้น ว่าพวกเขาจะดำเนินการอย่างไร"

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพฤหัสบดี(9เม.ย.) ปิดบวกแข็งแกร่ง หลังธนาคารกลางอเมริกา(เฟด) เปิดตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลภาคแรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างแสนสาหัส

ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 285.80 จุด (1.22 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 23,719.37 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 39.84 จุด (1.45 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,789.82 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 62.67 จุด (0.77 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 8,153.58 จุด

ในวันพฤหัสบดี(9เม.ย.) เฟดประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เฟดจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีพนักงานไม่เกิน 10,000 คน และมีรายได้ไม่เกิน 2,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยสินเชื่อดังกล่าวจะมีวงเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 25 ล้านดอลลาร์

เฟดระบุว่าโครงการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมีวงเงินรวม 650,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากการปล่อยสินเชื่อกับภาคธุรกิจแล้ว มาตรการของเฟดยังรวมถึงโครงการประกันรายได้ของพนักงาน และมาตรการอื่นๆ

"ความสำคัญสูงสุดในขณะนี้ของสหรัฐOคือการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข โดยให้การดูแลรักษาผู้ป่วย และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนบทบาทของเฟดคือการช่วยเหลือและสร้างเสถียรภาพในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกจำกัดในระยะนี้ ซึ่งมาตรการของเราในวันนี้จะสร้างความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความแข็งแกร่งมากเท่าที่จะเป็นไปได้" ถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุ

ความเคลื่อนไหวของเฟดช่วยบรรเทาความกังวลต่อข้อมูลภาคแรงงาน หลังข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯพบว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.6 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.25 ล้านราย

เมื่อรวมตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่มีการรายงานในวันนี้รวมกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พบว่าตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 16 ล้านรายแล้ว

การพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก

ในส่วนของราคาทองคำในวันพฤหัสบดี(9เม.ย.) พุ่งแรงเกือบ 70 ดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดรอบ 7 ปีครึ่ง จากดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังเฟดเคลื่อนไหวกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 68.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,752.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0