โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

น้ำปลาตราพ่อดื้อ กับ “ฤดูปลาขึ้น” ที่สุโขทัย วิถีท้องถิ่นที่(เคย)ทำน้ำปลากินเองได้ทุกปี

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 25 เม.ย. 2566 เวลา 02.09 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2566 เวลา 23.49 น.
ภาพปก-สุโขทัย
ภาพถ่ายเก่าบรรยากาศการจับปลาใน “ฤดูปลาขึ้น” ที่สุโขทัย

สุโขทัยเป็นเมืองน้ำท่วม เมื่อถึงหน้าน้ำน้ำจะหลากไปทั่วสุโขทัย และแล้วน้ำก็จะลดลงตามปกติ ขณะที่น้ำในแม่น้ำลดลงก็จะมีปลานานาชนิดอยู่ในแม่น้ำ เพราะเวลาน้ำท่วม น้ำจะไหลเข้าห้วยหนองคลองบึง พอน้ำลดลงปลาก็จะไหลตามน้ำลงสู่แม่น้ำ ทำให้มีฤดูกาลที่สุโขทัยว่า “ฤดูปลาขึ้น” คือปลาในแม่น้ำจะว่ายทวนน้ำเป็นฝูงให้คนเขาจับเอามากิน

เวลาปลาขึ้นคนจะชอบนั่งดูอยู่ริมตลิ่ง เพราะจะเห็นปลาในแม่น้ำว่ายทวนน้ำ พอมีเสียงทำให้ปลาตกใจ ปลาจะกระโดดขึ้นเหนือน้ำพร้อมกันทั้งฝูงก็จะเกิดเสียงดัง “ซู่” เมื่อตัวตกลงในแม่น้ำก็จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปใหม่ พอตกใจก็จะกระโดดใหม่ เป็นเช่นนี้เป็นระยะ พวกที่หาปลาจับปลาก็ทอดแห ยกยอ ทำให้ได้ปลามากมายไม่ขาดสาย

นี่คือ ฤดูปลาขึ้น ในสุโขทัย ปลาที่กระโดดเสียงดังซู่ๆ นี้คือ ฝูงปลาสร้อย ซึ่งมีมากมายในแม่น้ำ คนก็จะจับขึ้นมาโดยใช้ “ยอ” คือเครื่องมือจับปลาที่จุ่มลงไปในน้ำแล้วยกขึ้นมา ก็จะได้ปลาตัวเล็กๆ คือปลาสร้อยติดยอขึ้นมา ปลาที่ไม่ติดจากยกยอก็ว่ายต่อไป ไม่มีใครรู้ว่ามันจะว่ายทวนน้ำไปไหน ถ้าไม่ถูกคนจับเสียก่อน

ปลาสร้อยที่จับได้เป็นฝูงๆ คนที่จับได้เขาเอามาทำเป็นน้ำปลาปลาสร้อย เมื่อถึงหน้าปลาขึ้น คนหาปลายกยอจับปลาสร้อยกัน คนทำน้ำปลาก็จะสั่งคนหาปลาให้หามาขายให้ตนตามต้องการ หรือถ้าไม่ได้สั่งเจ้าประจำก็มารอซื้อตรงที่เขายกยอกัน เช่นที่คลองซอยเข้าบ้านหลุม เขาซื้อขายกันเป็นรถปิคอัพ รถจะวิ่งเข้าวิ่งออกบรรทุกปลาสร้อยกันเป็นคันรถ คนที่อยากจะทำน้ำปลาทำเองก็จะไปรอซื้อเขาที่แหล่งซื้อขายบ้านหลุมนี่เอง

เมื่อได้ปลามาสดๆ ก็เตรียมทำน้ำปลาไว้กินเอง โดยหมักปลากับเกลือเม็ดในสัดส่วนที่เคยทำมา คือ ปลา 5 เกลือ 3 ต้องเตรียมโอ่งเอาไว้หมักปลากับเกลือ ขณะที่หมักปลาในโอ่งก็จะใส่เปลือกสับปะรดบ้าง เพื่อให้น้ำปลาสีสวยน่ากิน ไม่ดำคล้ำจนเกินไป ทิ้งปลาหมักไว้ในโอ่งประมาณ 1 ปี แล้วจึงนำปลาหมักมาต้มและเกรอะ เอาแต่น้ำปลา ปลาที่เปื่อยยุ่ยเหลือเศษก็เอาไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้ แต่ส่วนใหญ่จะต้มจนหมดเนื้อปลาแล้วก็ทิ้งกากที่เหลือไป

ในปีหนึ่งฉันจะหมักปลาเพื่อทำน้ำปลาเป็นประจำ ทำให้มีน้ำปลากินโดยไม่ต้องซื้อ ทั้งที่สุโขทัยและบ้านที่กรุงเทพฯ

ในปีที่จะเขียนถึงนี้ ฉันก็หมักปลาเพื่อเตรียมทำน้ำปลาประจำปีตามปกติ โอ่งที่หมักปลาตั้งตากแดดอยู่ริมบันไดเป็นปกติ ซึ่งเวลาจะตั้งโอ่งก็จะต้องเล็งดูทำเลแล้วว่าโอ่งจะถูกแดดจัดๆ ส่องเป็นส่วนใหญ่ น้ำปลาจึงจะได้ที่ดี แต่คุณสามีของฉันเกิดจะใช้เนื้อที่ตรงที่ตั้งโอ่งไว้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาจึงให้คนงานขยับโอ่งให้พ้นเนื้อที่ตรงนั้น

คนงาน 2 คนบอกว่า คนแค่ 2 คนยกโอ่งที่หมักปลาไว้เต็มโอ่งไม่ไหวหรอก มันหนักมาก คุณสามีบอกว่า “อ๊า…ไหวซีวะ” ว่าแล้วเขาก็ขยับมาช่วยคนงานอีก 2 คนช่วยกันหามโอ่งไปให้พ้นเนื้อที่ริมบันได แต่ลำพังคนงานสองกับนายซึ่งแก่กันแล้วทั้งหมด หาใช่หนุ่มฉกรรจ์เรี่ยวแรงมหาศาลแต่อย่างใดไม่ กับโอ่งหมักปลาเต็มโอ่งหลายสิบกิโล จะไปยกอะไรไหว

แต่ตะแกก็ไม่ยอมแพ้ ไปหาเชือกกับไม้คานมาช่วยผ่อนแรง โอ่งก็ขยับไปได้เพียงนิดเดียว ขยับไปขยับมาโอ่งก็ไปกระทบกับซีเมนต์ที่ก่อเป็นแท่นล้างเท้าเช็ดเท้าก่อนขึ้นบันไดเรือน ผลก็คือ โอ่งแตกซีคะ น้ำปลาไหลออกมาเหม็นตลบอบอวล เหลือปลาอยู่ก้นโอ่งจำนวนหนึ่ง ทำให้ฉันไม่สามารถต้มน้ำปลาออกมาได้หลายสิบขวด เพื่อกินไปได้ชนปีเหมือนอย่างเคยได้ ลูกๆ ที่เคยกินน้ำปลาทุกปีบ่นว่า ปีนี้ได้น้ำปลาตราพ่อดื้อแค่นี้เอง และลูกยังเก็บเศษโอ่งแตกไปพ้นจากบันได ตามที่พ่อต้องการ

เอาเก็บไว้ดูเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งบ้านเราเคยทำน้ำปลากินกันเองทุกปี มีชื่อยี่ห้อว่า “น้ำปลาตราพ่อดื้อ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0