โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

น่าชื่นชม! “น้องน้ำผึ้ง-เพื่อน นร.”หอบรางวัลแข่งโครงงานวิทย์จากอเมริกากลับถึงเชียงรายแล้ว

Manager Online

อัพเดต 21 พ.ค. 2562 เวลา 00.07 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 00.07 น. • MGR Online

เชียงราย - “น้องน้ำผึ้ง”พร้อมเพื่อน นร.โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ หอบรางวัลจากการแข่งโครงงานวิทย์ที่อเมริกา กลับถึงบ้านแล้ว ท่ามกลางคณะครู-ผู้ปกครอง-เพื่อนนักเรียน ร่วมยินดีคับคั่ง ชี้ผลงานเคลือบพันธุ์ข้าวสู้แล้งต่อยอดได้

นายมนต์ชัย ปาณธูป ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 , นายส่งศักดิ์ เทพดวงแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ พร้อมด้วยคณาจารย์ ผู้ปกครอง และเพื่อนนักเรียน ได้เดินทางไปต้อนรับคณะนักเรียนโรงเรียนดำรงฯ ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ (Science Project Competition) ที่งาน Intel ISEF2019 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-17 พ.ค. และกลับมาถึงเชียงรายบ้านเกิดเมื่อค่ำที่ผ่านมา(20 พ.ค.)

ซึ่งประกอบด้วยน.ส.น้ำผึ้ง ปัญญา อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6.1 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งพึ่งได้รับบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสัญชาติไทย กรณีเร่งด่วนพิเศษ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากถือบัตร ปชช.หัว “0” มาก่อน เพราะพ่อแม่เป็นชาวไทใหญ่ และเพื่อนร่วมโครงงานอีก 2 คน คือ นายพิรชัช คชนิล และนายเจษฎา สิทธิขันแก้ว ที่ร่วมทำโครงงานการพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่น และได้รางวัลสเปเชียลอวอร์ดจาก USAID from the American People ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้รับทุนการศึกษา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนอีกทีมนำประกอบด้วย น.ส.นัทธมน ศรีพรม , น.ส.รมิดา เชื้อเมืองพาน และ น.ส.พันธ์อนงค์ ชื่นโชคชัย ที่นำโครงงานการพัฒนาไฮโดรเจลสำหรับกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืชในทางการเกษตรจากยางไม้ในท้องถิ่น ไปร่วมการแข่งขันในรายการเดียวกัน

โดยมีการขึ้นป้ายต้อนรับ พร้อมธงประจำโรงเรียน ขณะที่เพื่อนๆ นักเรียนร่วมกันร้องเพลงประจำโรงเรียน ก่อนที่นายมนต์ชัย และนายส่งศักดิ์ พร้อมด้วยครู-อาจารย์จะมอบช่อดอกไม้ให้กับทั้ง 6 คนเพื่อแสดงความยินดี สร้างความดีใจและตื้นตันใจให้กับทั้งหมด โดยเฉพาะ น.ส.น้ำผึ้ง ถึงกับร้องไห้และสวมกอดกับนางเกี๋ยง ปัญญา อายุ 45 ปี ผู้เป็นแม่ที่มารอรับลูกสาวด้วย

น.ส.น้ำผึ้ง กล่าวว่าที่มาที่ไปของโครงงานการพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่น มาจากครอบครัวเพื่อนในทีมมีอาชีพทำนา และประสบปัญหาภัยแล้งทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีอัตราความเสียหายสูง จึงได้คิดค้นหาวิธีการเคลือบ ซึ่งก็พบว่ายางไม้ท้องถิ่น มีคุณสมบัติที่เหมาะ จึงได้นำมาเคลือบรักษาและจัดทำเป็นโครงงาน กระทั่งพบว่าได้ผลดีสามารถทำให้เมล็ดพันธุ์คงทนต่อภัยแล้ง และเติบโตได้ดี ซึ่งตนเห็นว่าสามารถนำไปต่อยอดกับพืชอื่นๆ ได้เพราะมีคุณสมบัติเดียวกันด้วย

น.ส.น้ำผึ้ง กล่าวอีกว่าสำหรับการได้รับรางวัลระดับนานาชาติครั้งนี้ ทำให้ตนดีใจมาก ซึ่งต้องขอบคุณครู-อาจารย์-ผู้ใหญ่ที่สนับสนุนทุกท่าน และเพื่อนๆ ทุกคน ซึ่งตนยืนยันว่าทุกคนที่ไปแข่งขันพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อประเทศไทยและผู้ที่สนับสนุนพวกเราด้วย แม้ว่าแข่งขันจะถือว่ายากพอสมควร เพราะผู้เข้าแข่งขันมาจากต่างประเทศเหนือกว่าในหลายเรื่อง รวมทั้งได้เปรียบด้านภาษาด้วย แต่ก็ถือว่าเรามีศักยภาพพอที่จะต่อสู้ และทำให้คนต่างชาติได้รู้ว่าคนไทยเราก็สู้ได้ จนได้รับรางวัลดังกล่าว

ด้านนางเกี๋ยง กล่าวว่าตนภูมิใจในตัวลูกสาวมาก เพราะเดิมพวกเรายากจน พ่อเขาก็เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้ 8 เดือน ทำให้ตนต้องหาเลี้ยงเขาและพี่ชายอีก 1 คนมาเพียงลำพัง แม้ตนจะอ่านหนังสือไม่ได้-เขียนก็ไม่เป็น แต่พยายามสอนลูกให้เป็นคนดีมีความเมตตาต่อผู้อื่นเป็นหลัก กระทั่งเขาเรียนเก่งและได้รับรางวัลดังกล่าว

“ส่วนการเรียนในอนาคตนั้น ลูกสาวตนไปสมัครสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองหมดเรียบร้อย ซึ่งตนก็จะส่งเสริมให้ลูกสาวได้ร่ำเรียนจนประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป แต่สิ่งสำคัญที่เตือนใจเขาคือให้มีความเมตตาต่อคนอื่น”

ขณะที่นายมนต์ชัย กล่าวว่าการเดินทางไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์หรือ Science Project Compettition ที่งาน Intel ISEF2019 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของนักเรียนโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ และต้องถือได้ว่าคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักเรียนของโรงเรียนมีความรู้ความสามารถ ทำให้มักจะได้รับรางวัลจากการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศมาต่อเนื่อง จึงน่าภาคภูมิใจและน่าชื่นชมมาก

ทั้งนี้การที่เด็กๆ ได้รับรางวัลก็เกิดจากความตั้งใจและมุ่งมั่นของเขาอย่างมากด้วยดังนั้นทางสำนักงานฯ และหน่วยงานในสังกัดก็จะส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0