โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นโยบายสาธารณสุขเหล้าเก่าในขวดใหม่-ไตร่ตรองทำได้จริง??

คมชัดลึกออนไลน์

เผยแพร่ 24 ก.ค. 2562 เวลา 05.35 น.

"นโยบายด้านสาธารณสุข" ที่ปรากฏอยู่ในร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเป็นไปในลักษณะปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซีน) การเพิ่มบทบาทอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือแม้แต่กัญชาเสรีทางการแพทย์ ซึ่งผู้บริหาร สธ. มีความพร้อมที่จะนำนโยบายรัฐบาลด้านสาธารณสุขมาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ขณะที่แพทย์นักวิชาการมองว่าโดยภาพรวมถือเป็น "เหล้าเก่าในขวดใหม่" ซึ่ง "รัฐบาลควรไตร่ตรอง" อย่างรอบคอบก่อนประกาศเป็นนโยบายหรือขับเคลื่อนไปในทิศทางใด

"เสรีกัญชาทางการแพทย์"ไม่เป็นจริง
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่านโยบายเรื่อง "กัญชาเสรีทางการแพทย์" มีการวางแผนเพื่อผลักดันกัญชามาใช้ทางการแพทย์ แต่วาทกรรมที่ใช้สื่อสารกับสาธารณะมีความชัดเจนที่มีการใช้ว่า "เสรีกัญชาทางการแพทย์" มองว่าไม่มีทางเป็นจริงได้ เพราะเท่ากับการเปิดเสรีกัญชา บทเรียนในต่างประเทศที่มีการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์เมื่อดำเนินการแล้วจะตามมาด้วย "เสรีกัญชา" แน่นอน

ในส่วนของประเทศไทยยังไม่เหมาะที่จะทำในตอนนี้จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยสรุปสรรพคุณของกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์สากลก่อนไม่ควรมีการสร้างความหวังให้ประชาชนจนมากเกินจริงว่ากัญชารักษาได้ทุกอย่าง หรือกรณีที่มีการใช้กัญชาควบคู่กับยามาตรฐานก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาหรือเสริมฤทธิ์ของยานั้นๆ จนเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย

ยกระดับอสม.ต้องไม่เกินบทบาท
ส่วนเรื่องการยกระดับอสม.เป็นหมอประจำบ้าน หากสามารถดำเนินการได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่จะต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ศักยภาพของอสม.ที่จะพัฒนาขึ้น จะทำหน้าที่หมอประจำบ้านได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพราะในอดีตจะทำหน้าที่เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคมากกว่าการรักษา จึงต้องดูเนื้อแท้ในแผนปฏิบัติการให้ดีว่าคาดหวังไปสู่การรักษาจนเกินขอบเขต ศักยภาพและหน้าที่ของ อสม.หรือไม่

2.การเพิ่มรายได้ให้อสม.จากเดือนละ 600 เป็น 5,000 บาท จะเป็นจริงได้หรือไม่ งบประมาณจะนำมาจากไหน เป็นการสร้างภาระระยะยาวให้รัฐบาลถัดๆ ไป และจะเกิดความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ และ 3.การให้อสม.ทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้กัญชาให้กับชาวบ้านเป็นนโยบายที่ทำได้หรือไม่ตราบใดที่กัญชายังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามมาตรฐานการแพทย์สากล หากจะนำกัญชาไปทำเป็นการแพทย์ทางเลือก เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน จะต้องแยกออกมาจากการแพทย์มาตรฐานสากลให้ชัดเจนเพราะมาตรฐานแตกต่างกัน

เทเลเมดิซีนเพิ่มการเข้าถึงบริการ
สำหรับการแพทย์ทางไกลเป็นแนวคิดที่ดี เพราะประเทศไทยมีประชาชนจำนวนมากที่เข้าถึงสถานพยาบาลได้ยากลำบาก ซึ่งเป็นไปได้หากมีการเอาจริงเอาจังโดยดึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ถ้าทำได้ดีจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข แต่จะต้องไม่ลืมนึกถึงผลกระทบที่จะตามมา อย่างเช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบว่าเพิ่มการเข้าถึงได้จริง แต่จะเพิ่มได้เฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือวัยทำงานเท่านั้น ส่วนคนแก่หากไม่ได้รับการฝึกให้เข้าถึงจะเป็นความยุ่งยากเพราะเมื่อเจอโรคที่มีความซับซ้อนมากๆ ยากต่อการวินิจฉัย การใช้เทเลเมดิซีนมีโอกาสที่จะผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องมีการวางแผนการเข้าถึงและควบคู่กับการดูแลรักษาแบบตัวต่อตัว

บัตรทองต้องวางแผนจัดการให้ดี
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ผศ.นพ.ธีระบอกว่า อาจจะเป็นการมุ่งที่กลุ่มคนต่างด้าวและคนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่เรื่องนี้เป็นอ่อนไหว ในขณะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด แต่จะทอดทิ้งไม่ให้การดูแลรักษาก็จะเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมเกินไป เพราะฉะนั้นต้องวางแผนการจัดการให้ดี ซึ่งโดยหลักการของเรื่องนี้อยากให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเจ้าถึงการรักษายามเจ็บป่วย

สธ.พร้อมขับเคลื่อน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า รูปแบบการดำเนินการเทเลเมดิซีนของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนของกสทช. จะเป็นการให้คำปรึกษาด้านการรักษาไปยังโรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ที่ให้บริการเรื่องดวงตาอยู่ระหว่างการวางรูปแบบ รวมถึงสถาบันโรคผิวหนังที่มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทำร่วมกับโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ที่อยู่ห่างไกลราว 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งชาวบ้านจะเดินทางเข้ารับบริการยากและไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง

ทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน โรงพยาบาลทั้ง 10 แห่งจะเปิดคลินิกโรคผิวหนัง จะมีแพทย์เฉพาะทางของสถาบันคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคผิวหนังในช่วงเวลาที่กำหนดทางระบบเทเลเมดิซีน เมื่อมีคนป่วยมารับบริการแพทย์ที่ต้นทางก็สามารถฉายภาพอาการคนไข้ขึ้นจอได้ทำให้คนไข้ที่อยู่ห่างไกลสามารถรับบริการของสถาบันโรคผิวหนังได้เช่นกัน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การให้คำแนะนำผ่านการแพทย์ทางไกลซึ่งมีต้นแบบที่รพ.เมตตาประชารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ ดำเนินการเรื่องนี้เป็นต้นแบบอยู่แล้ว ก็จะมีการขยายผลต่อยอดเรื่องนี้ ที่ผ่านมา สธ.มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในส่วนของสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ที่ถือเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเป็นต้นแบบหรือโมเดลขยายไปสู่สถานพยาบาลอื่นๆ ในสธ. ยกตัวอย่างเช่น สถาบันโรคผิวหนัง และรพ.เมตตาประชารักษ์

ในส่วนของการยกระดับอสม. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) บอกว่า ก่อนหน้านี้ สธ.มีการดำเนินการเรื่อง "อสม.4.0" โดยมุ่งเน้นพัฒนา อสม.ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 1,039,729 คน ให้เป็น อสม.4.0 จำนวน 3 แสนคนมีทักษะด้านดิจิทัลสามารถทำงานผ่านแอพพลิเคชั่น "SMART อสม." ที่เป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้ สื่อสารข้อมูลให้อสม.ในการดูแลสุขภาพประชาชน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เน้นเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีจิตอาสาและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ มีทักษะด้านการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้อสม.จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่นโยบาย "กัญชาเสรีทางการแพทย์" ที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ. และสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. เข้ารับตำแหน่งที่สธ.เป็นวันแรก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษปลดล็อกให้ประชาชนปลูก "กัญชง" ได้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการอบรมแพทย์แผนไทยที่จะใช้กััญชาและประกาศ 16 ตำรับยาไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมตรวจสอบสารสกัดน้ำมันกัญชา เป็นต้น

ซึ่งก่อนหน้านี้มีการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้แพทย์ เภสัชกรและแพทย์แผนไทย รวมถึงการขึ้นทะเบียนแพทย์ เภสัชกร และสถานพยาบาลที่จะใช้กัญชาในการรักษาจนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ กระทั่งสถานพยาบาลสังกัดสธ.ที่มีการขึ้นทะเบียน จะมีการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชารักษาในราวเดือนสิงหาคมนี้ เหลือประเด็นหลักสำคัญที่รอการผลักดัน คือการหาแนวทางที่จะทำให้ "ประชาชนปลูกที่บ้านได้เอง 6 ต้น"

นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับสาธารณสุข
นโยบายเร่งด่วน
1.พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ ลดภาระการเดินทางไปสถานพยาบาลของประชาชน ลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
2.พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) อสม. ระบบการแพทย์ทางไกล ภูมิปัญญาไทย ช่วยประชาชนเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง รวดเร็ว มีคุณภาพ
3.เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ของประชาชน
นโยบายหลัก
1.พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แพทย์สมัยใหม่ และแพทย์แผนไทย
-ยกระดับไปสู่ความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แม่นยำ
-ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ
-ส่งเสริมมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะและอนามัยให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรง
-จัดให้มีสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเหมาะสมและพอเพียง
2.ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ
-พัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาวะที่ถูกต้องของคนทุกวัย
-ส่งเสริมการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย
-สร้างระบบรับมือต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ
-จัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอย่างทั่วถึง
3.พัฒนาและยกระดับความรู้อสม.
-เป็นหมอประจำบ้านควบคู่การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์
-พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล
-ยกระดับคุณภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0