โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นโยบายภาษีใหม่ ที่เคยหาเสียงไว้ มีอะไรบ้าง?

aomMONEY

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 05.07 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 04.54 น. • ภาษีง่ายพร่องส์
นโยบายภาษีใหม่ ที่เคยหาเสียงไว้ มีอะไรบ้าง?
นโยบายภาษีใหม่ ที่เคยหาเสียงไว้ มีอะไรบ้าง?

ถ้าขี้เกียจอ่านกดดูคลิปด้านบนได้เลยครับ…

สำหรับตอนนี้ กลับมาชวนทบทวนกันอีกทีว่า นโยบายหลักๆเกี่ยวกับภาษี 3 นโยบาย ซึ่งได้แก่ นโยบายลดอัตราภาษีบุคคล 10% ทั่วหน้า เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เสนอยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ไฟแรง ที่เคยเซอร์ไพรส์ไว้ตอนก่อนเลือกตั้ง มันจะเป็นอย่างไรบ้างนะ??

อะแฮ่ม.. ออกตัวก่อนว่า นี่ไม่ได้จะมาแซวการเมือง แต่อยากชวนมาศึกษาความรู้ภาษีจากนโยบายที่เคยเสนอไว้ก่อนเลือกตั้งนะครับผม เอาล่ะ ลองมาวิเคราะห์ดูกันเลยจ้า 

1. ลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา 10% ทั่วหน้า

อ้างอิงข้อความจากข่าวและหลักฐานต่างที่เคยบันทึกไว้ นั่นคือ รัฐบาลจะมีการลดภาษีบุคคลธรรมดาลงทุกระดับขั้น 10% เช่น จากที่เคยจ่ายสูงสุด 30% ก็จะเหลือ 20% ใครจ่ายสูงสุด 20% ก็จ่าย 10% โดยมีอัตราขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 และผู้ที่มีรายได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาทลงมา ไม่ต้องจ่ายภาษี เชื่อว่าประชาชนจะดีใจ มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น

ถ้าลองเอามาใส่ตารางอัตราภาษี ก็มั่นใจแน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เราทุกคนจะเสียภาษีน้อยลงแน่นอน

แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มล่าสุด กรมสรรพากรเพิ่งให้ข่าวว่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่วาจะลดได้ไหม เพราะจะมีผลกระทบกับภาษี และถ้ามีจริงๆ คงจะต้องลดค่าลดหย่อนบางรายการลงแทน ส่วนทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้ให้ข่าวไว้สั้นๆว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป ครับผม

อ้างอิง :

ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง คือ การลดอัตราภาษีแบบนี้จะเป็นแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดากลุ่มที่ทำธุรกิจ ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลน้อยลงหรือเปล่า? เนื่องจากวิธีการคำนวณภาษีง่ายกว่า (หักเหมาได้) และอาจจะเสียน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ป.ล. อันนี้พรี่หนอมก็วิเคราะห์ให้ฟังในความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ)

2 เสนอยกเว้นภาษีให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

ถ้าสังเกตดีๆ ตรงนี้เห็นว่าเป็นนโยบายที่ใช้คำว่า "เสนอ" ตั้งแต่ตอนแรกอยู่แล้ว ซึ่งแนวทางต่างๆ ยังไม่สามารถอ้างอิงได้ แต่มีข้อความเพียงแค่ยกเว้นภาษีให้ ซึ่งคำถามที่ต้องติดตามต่อไป คือ

2.1 ภาษีที่ยกเว้นให้นั้น มีอะไรบ้าง? ยกเว้นทั้งเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเลยหรือเปล่า?

2.2 ระยะเวลาที่ยกเว้นให้ 2 ปีตั้งแต่เริ่มธุรกิจ ตรงนี้ไม่รู้จะวัดยังไงแบบไหนเหมือนกัน คงต้องติดตามต่อ

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความเหลื่อมล้ำเรื่องของการยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มอาชีพบางอาชีพ เพราะอาจจะเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกับอาชีพอื่นหรือเปล่า พรี่หนอมมองว่าเรื่องตรงนี้สำคัญค่อนข้างมากครับ เพราะอาชีพอื่นก็ต้องเสียภาษีอยู่เหมิอนเดิม และที่สำคัญคือ เราจะนิยามแบบไหนว่าเป็นการขายของออนไลน์ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามนโยบายนี้บ้าง อันนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

แต่ยังไงก็ถือว่ามีความหวังสำหรับคนขายของออนไลน์นะครับ ลองติดตามกันต่อไป ระหว่างนี้ก็จัดการข้อมูลบัญชีธนาคารให้ดีก่อน เพราะกฎหมายที่ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรบังคับใช้ในปี 2562 แล้วจ้า

สรุปว่า สำหรับนโยบายยกเว้นภาษีให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ณ ข้อมูลปัจจุบัน ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมครับ คงต้องติดตามกันต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

3. เสนอยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปีที่เริ่มทำงาน

นโยบายนี้เป็นอีกนโยบายที่ใช้คำว่า "เสนอ" เหมือนกันตั้งแต่แรก ตรงนี้น่าสนใจเหมือนกันครับ เพราะว่ามีประเด็นหลายมุมมองให้ถกเถียงกันได้เยอะเลย เช่น

3.1 เด็กจบใหม่ นี่ต้องจบอะไร อันนี้ยังไม่ได้บอก
3.2 ประเภทเงินได้ทุกประเภทหรือเปล่า ยังไม่แน่ใจ หรือว่าเฉพาะที่ทำงานในระบบจ้างแรงงานอย่างมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น

ประเด็นเดียวกันที่ต้องระวังในการลดภาษีแบบนี้ นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นต่ออาชีพอื่นๆ หากมีการเลือกปฎิบัติครับ ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่เห็นนโยบายหรือข่าวสารเพิ่มเติมเช่นเดียวกันครับ

แต่อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้วเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่น่าจะไม่ต้องเสียภาษีในช่วงปีแรกๆของการทำงานอยู่แล้ว เพราะว่ายังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ทีต้องเสียภาษีนั่นเองครับ

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะให้ความเห็นไว้ คือ หากนโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง รัฐเองจะสูญเสียรายได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีในส่วนอื่นหรือไม่ และจะชดเชยด้วยการหารายได้โดยวิธีไหน ตรงนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องติตดามต่อไปครับผม

ย้ำอีกทีว่า เป็นการวิเคราะห์นโยบายเฉยๆ เพื่อให้มุมมองเรื่องภาษี ไม่ได้ต้องการจะมีประเด็นทางการเมืองนะครับ แต่ต้องการให้เห็นว่านโยบายภาษีต่างๆ ทำให้เรามองเห็นภาพของมุมมองด้านภาษีอย่างไร แล้วสุดท้ายจะได้บังคับใช้หรือไม่ก็อยู่ที่ความเหมาะสมและทางเลือกต่างๆ ซึ่งอำนาจตัดสินใจก็เป็นของรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในตอนนั้นนั่นเองครับ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว…

ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร เราก็ยังต้องเสียภาษีต่อไปจ้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0