โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นโยบายฟื้นฟู ศก.เหมือนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ตอบโจทย์ ไม่เห็นเป้าหมาย ไร้เกณฑ์ประเมิน

TODAY

อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 13.24 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 13.24 น. • Workpoint News
นโยบายฟื้นฟู ศก.เหมือนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ตอบโจทย์ ไม่เห็นเป้าหมาย ไร้เกณฑ์ประเมิน

วันที่ 29 พ.ค. เวลา 16.50 น. ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า วิกฤติครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา วิกฤติต้มยำกุ้งสั่นสะเทือนโครงสร้างส่วนบน สถาบันการเงิน ในครั้งนี้เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า รายได้ของแรงงานและรายได้เกษตรกรก็ลดลง เศรษฐกิจไทยป่วยอยู่แล้วและมาติดโควิดซ้ำซ้อน   สภาพประเทศไทยหลังวิกฤต โควิด-19 คนมีรายได้ลดลง จากงานวิจัยของ สกว.ที่ทำการสำรวจคนจนเมือง พบว่าคนส่วนใหญ่รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด โดย 1 ใน 3 รายได้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง ทีดีอาร์ไอได้ทำประมาณการไว้ว่าถ้ารายได้ประชาชนที่มีรายได้น้อยลดลงไปสัก 30% จะทำให้คนจนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า   สภาพัฒน์ประกาศว่าจะมีกลุ่มเสี่ยง 8.4 ล้านคน และจะว่างงานราว 2 ล้านคน นั่นคือประมาณการแบบมองโลกในแง่ดี สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารไทยประเมินไว้ที่ 7 ล้านคน เมื่อเงินในกระเป๋าหายก็ต้องก่อหนี้เพิ่ม   ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา 1 ล้านล้านนี้ยังเป็นแค่หนี้ในระบบ ยังไม่นับนอกระบบว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แน่นอนว่าเมื่อคนจนยิ่งจนลงไปอีก ชนชั้นกลางจะหดหาย ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นก็จะตามมา ไม่ใช่แค่ภาคครัวเรือนที่จะเจ็บหนักแต่ยังมีผู้ประกอบรายเล็กรายย่อยที่จะล้มหายตายจากไปอีก 20-30% หนี้ภาคธุรกิจที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ 6 เดือน พอเปิดตู้เย็นออกมาดูอีกทีก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในสภาพที่ยังไปต่อได้หรือไม่   น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อเรามาดูนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่นำเสนอโดยประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก็ต้องเกิดคำถามในใจว่าแล้วจะตอบโจทย์ที่เรากำลังจะเผชิญหลังจากนี้ได้อย่างไร เพราะเหมือนถอดมาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปในสถานการณ์แบบนี้   เฉพาะแผนงานฟื้นฟูอยากเห็นเป้าหมายที่ชัด ว่าเราจะได้อะไรจากแผนงานมูลค่า 4 แสนล้านบาท ตกลงแล้วจะสร้างรายได้ประชาชนขึ้นมาเท่าไหร่ และสร้างงานกี่งานที่รัฐจ้างเอง เพราะจากข้อมูลบอกเพียงว่าจะจ้างงานพาร์ทไทม์ 2-3 แสนล้านบาท ทักษะแบบไหน งานในอนาคตแบบไหนที่เราต้องการ เซกเตอร์ไหนได้ไปต่อ เซกเตอร์ไหนต้องเริ่มปรับตัว และรัฐบาลจะช่วยให้เค้าปรับตัวได้อย่างไรบ้าง แล้วจะช่วยฟื้นฟูประเทศได้จริงหรือไม่ แต่อ่านเท่าไร หาข้อมูลเท่าไรก็ไม่เจอเหมือนคิดแผนงานไม่เสร็จ คิดไปทำไป ไมให้เกียรติ เจ้าของประเทศ เจ้าของเงินคือประชาชน   ขณะที่เรื่องของการประเมินผล จะประเมินอะไรไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดมากพอ หากเทียบกับโครงการในอดีตจะมีการกำหนดเป้าหมายไว้ และสามารถประเมินภายหลังได้ว่าตรงกับเป้าหมายหรือไม่   น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า แผนฟื้นฟูในระยะสั้นที่อยากเห็น คือต้องฟื้นฟูจริงๆ เพราะหลังการระบาดในระลอกแรกนี้ เศรษฐกิจเราก็เหมือนคนเพิ่งฟื้นจากโคม่า จะมากระตุ้นเศรษฐกิจเลย คือจะให้เศรษฐกิจเริ่มวิ่งเลยคงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้อยากเห็นแผนฟื้นฟูประเทศที่เป็นภาพรวมทั้งหมด ว่าจะเอาอย่างไรต่อจากนี้ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ตอนนี้ยังเห็นแค่แผนระยะสั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการใช้งบประมาณปี 2564 ที่จะเกิดในไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างน้อยถ้ารัฐบาลสามารถฉายภาพให้เข้าใจได้ว่าจะพาประเทศไปในทิศทางใด โดยงบประมาณปี 2564 ที่รื้อมาแล้ว 2 รอบเราก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยตอบโจทย์ใหญ่อย่างเช่น ความมั่นคงทางสาธารณสุข ด้านอาหาร และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกไปได้อย่างไร นอกจากการมีงบกลางในการแก้ปัญหาโควิดเพิ่มขึ้นมา 40,000 ล้านบาท   "พรรคก้าวไกลจึงขอเสนอว่าควรออก พ.ร.บ. ฟื้นฟูการจ้างงานและพัฒนารายได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนสูง ต้องสำรองเงินเยียวยา และคิดให้รอบคอบ รัดกุม ครอบคลุมกว่านี้มองให้เห็นแผนภาพรวม มุ่งตอบโจทย์ที่ประเทศกำลังจะเผชิญหลังโควิด ทั้งยังต้องสร้างกลไกการตรวจสอบ ประเมินผล กระบวนการรับผิดรับชอบก่อนเริ่ม และยึดโยงกับประชาชน และที่สำคัญต้องถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต ซึ่งเงินเยียวยา 555,000 ล้านบาทตอนนี้ใช้ไป 350,000 ล้านบาทแล้ว และยังมีคนตกหล่นอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งแรงงานในระบบ ผู้ประกอบการ สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ สาธารณสุขเราได้เตรียมความพร้อมแค่ไหนไม่ว่าจะเป็นวัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์ด้านอื่นๆ รวมทั้งการตรวจเชื้อ เพราะถ้าเตรียมเรารับมือได้ดี เราจะไม่ต้องล็อกดาวน์นานในรอบต่อไป"   ทั้งนี้ การประชุมในวันที่ 3 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งพักประชุมในเวลา 19.20 น. และนัดหมายใหม่วันรุ่งขึ้นเวลา 09.30 น.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0