โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นิด้าโพล เผยประชาชนร้อยละ 82 ไม่ร่วมชุมนุมเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย

TODAY

อัพเดต 16 ก.พ. 2563 เวลา 02.17 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 02.17 น. • Workpoint News
นิด้าโพล เผยประชาชนร้อยละ 82 ไม่ร่วมชุมนุมเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย

วันที่ 16 ก.พ. 63 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “ท่านจะไปชุมนุมประท้วงทางการเมืองหรือไม่” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 12 – 13 ก.พ. 63 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,255 ตัวอย่าง โดยสอบถามเกี่ยวกับการไปชุมนุมประท้วงทางการเมือง

การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95

เมื่อถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชน พบว่า ร้อยละ 91.87 ระบุว่าไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมือง ขณะที่ร้อยละ 8.13 ระบุว่า เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมือง

ด้านการตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมประท้วงของประชาชน หากมีนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง รณรงค์ให้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองบนท้องถนน พบว่า ร้อยละ 82.87 ระบุว่า จะไม่ไป เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นการสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง กลัวเกิดการจลาจลเหมือนครั้งก่อน ๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ขอติดตามข่าวทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน และไม่ชอบการเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้

รองลงมาร้อยละ 14.02 ระบุว่า ไม่แน่ใจ เพราะ ต้องดูรายละเอียดต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมการชุมนุม เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการชุมนุม สถานที่ แกนนำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้น

และร้อยละ 3.11 ระบุว่า จะไป เพราะมีอุดมการณ์ที่เหมือนกัน เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้ประเทศพัฒนามากกว่านี้ และไม่ชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จะเดินสายอภิปราย ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 6 คน นอกสภา หากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรค พบว่าร้อยละ 20 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นสิทธิที่ นายปิยบุตร จะสามารถเดินสายอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยากให้ยุบสภา ร้อยละ 11.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ การอภิปรายนอกสภาเป็นการแสดงออกทางการเมือง ทำให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชอบนโยบายพรรคอนาคตใหม่เป็นการส่วนตัว ร้อยละ 11.16 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย

ขณะที่บางส่วนระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจควรทำเฉพาะในรัฐสภาเท่านั้น ไม่สมควรทำนอกสภา ร้อยละ 31.95 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ การอภิปรายไม่ไว้วางใจควรอยู่ในสภาเท่านั้น ถ้านอกสภาเปรียบเสมือนการประท้วง ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองแย่ลง และร้อยละ 25.18 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ภูมิลำเนา - สำหรับลักษณะทั่วไปของตัวอย่างที่ทำการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 8.92 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.66 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.41 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.54 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.47 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.16 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.84 เป็นเพศหญิง

การศึกษา - ตัวอย่างร้อยละ 28.05 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 33.38 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.74 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.94 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.02 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.87 ไม่ระบุการศึกษา

อาชีพ - ตัวอย่างร้อยละ 10.44 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.54 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.96ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.42 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.14 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.15 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.87 ไม่ระบุอาชีพ

รายได้ - ตัวอย่างร้อยละ 18.57 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.87 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.17 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.42 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท ร้อยละ 6.69 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.72 ไม่ระบุรายได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0